ผื่นแพ้ยา

ความหมาย ผื่นแพ้ยา

ผื่นแพ้ยา เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายที่ส่งผลให้มีผื่นขึ้นบนผิวหนังอย่างเฉียบพลันหรือกึ่งเฉียบพลันหลังใช้ยา เช่น ยาต้านจุลชีพ ยากลุ่มเอนเสด ยาเคมีบำบัด ยาทางจิตเวช และยากันชัก เป็นต้น โดยผื่นแพ้ยามีหลายประเภท ทั้งชนิดที่ไม่รุนแรง และชนิดรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

Drug Eruptions

อาการผื่นแพ้ยา

ผื่นแพ้ยาเป็นผื่นกระจายบนผิวหนังที่มีหลายลักษณะ ได้แก่ ผื่นคล้ายหัด ผื่นลมพิษ ผื่นนูนตกสะเก็ด ผื่นหนอง และผื่นตุ่มน้ำ ซึ่งอาจมีอาการร่วมกับรู้สึกไม่สบายตัวหรือคัน โดยผู้ป่วยอาจมีผื่นออกในทันที หรืออาจเกิดขึ้นระหว่าง 6 ชั่วโมงจนถึงเป็นสัปดาห์หลังใช้ยาครั้งแรก

โดยผื่นแพ้ยาชนิดที่พบได้บ่อย คือ ผื่นคล้ายหัด และผื่นลมพิษ ส่วนผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรงที่พบได้น้อย คือ กลุ่มอาการภูมิไวเกินต่อยา กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน และผื่นแพ้ยาชนิดทีอีเอ็น

ส่วนอาการที่แสดงถึงภาวะแพ้ยาอย่างรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันที มีดังนี้

  • ผิวหนังแดง มีตุ่มพอง มีจ้ำเลือดออกนูนใต้ผิวหนัง หนังกำพร้าหลุดลอก
  • ผิวหนังและลิ้นบวม
  • เยื่อเมือกบวมแดงและหลุดลอก
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • มีไข้สูง ความดันโลหิตต่ำ หรือหายใจลำบาก

สาเหตุของผื่นแพ้ยา

ผื่นแพ้ยาเกิดจากร่างกายตอบสนองต่อยา ซึ่งอาจเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกาย หรืออาจเป็นเพียงปฏิกิริยาไวต่อยาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันก็ได้

ตัวอย่างยาที่อาจทำให้เกิดผืิ่นแพ้ยา มีดังนี้

  • ยากลุ่มเอนเสด เช่น นาพรอกเซน แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น
  • ยาปฏิชีวนะ เช่น ซัลฟา ไอโซไนอาซิด และเพนิซิลลิน เป็นต้น
  • ยาอื่น ๆ เช่น โบรไมด์ ไอโอไดด์ สารทึบรังสี ยาชาเฉพาะที่ เฟนิโทอิน ยาลดความดันโลหิต ยารักษาเบาหวาน ยาขับปัสสาวะ ยาเคมีบำบัด ยาทางจิตเวช ยากลุ่มโอปิเอต เป็นต้น

นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผื่นแพ้ยามากขึ้น ดังนี้

  • พันธุกรรม ลักษณะทางพันธุกรรมบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดผื่นแพ้ยาได้ง่าย
  • เพศ ผู้หญิงมักเป็นผื่นแพ้ได้มากกว่าผู้ชาย
  • อายุ ผู้สูงอายุเป็นวัยที่เสี่ยงเกิดผื่นแพ้ยาได้ง่าย
  • การเจ็บป่วย ภาวะติดเชื้อไวรัสหรือโรคบางชนิดอาจกระตุ้นให้เกิดผื่นแพ้ยาได้
  • ประวัติแพ้ยา หากเคยแพ้ยาก็อาจเสี่ยงต่อการแพ้ยาตัวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้

การวินิจฉัยผื่นแพ้ยา

แพทย์มักวินิจฉัยผื่นแพ้ยาและดูระดับความรุนแรงของโรคด้วยการตรวจร่างกายและการซักประวัติของผู้ป่วยอย่างละเอียด รวมถึงสอบถามเรื่องการใช้ยา โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะและยากันชักที่มักเป็นสาเหตุของผื่นแพ้ยามากกว่ายาชนิดอื่น ๆ

หากยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจน แพทย์อาจตรวจผิวหนังด้วยชุดทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเพื่อตรวจยืนยันตัวยาที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น การหยดน้ำยาผสมสารสกัดยาที่คาดว่าทำให้เกิดอาการแพ้ลงบนผิวหนังแล้วใช้ปลายเข็มสะกิดบริเวณนั้น การฉีดน้ำยาเข้าสู่ผิวหนัง หรือการแปะแผ่นทดสอบผื่นแพ้ยาลงบนผิวหนัง จากนั้นแพทย์จะดูปฏิกิริยาอาการแพ้ที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ หรือเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อผิวหนังเพื่อดูการติดเชื้อเพิ่มเติมหากสงสัยว่าผื่นแพ้ยาเกิดจากสาเหตุอื่น ส่วนผู้ที่มีอาการผื่นแพ้ยารุนแรงอาจต้องตรวจเลือด เพื่อดูความสมบูรณ์ของเซลล์เม็ดเลือดและเซลล์ภูมิคุ้มกัน ความสมดุลของเกลือแร่ และการทำงานของตับและไต หรืออาจต้องตรวจปัสสาวะและตรวจหาเลือดที่ปนในอุจจาระด้วย

การรักษาผื่นแพ้ยา

การรักษาหลักของผื่นแพ้ยา คือ การตรวจหาตัวยาที่ก่อให้เกิดอาการแพ้แล้วหยุดใช้ยาทันที ซึ่งผู้ป่วยมักหายจากผื่นแพ้ยาได้เองหลังเลิกใช้ยา

อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยารักษาร่วมด้วย ดังต่อไปนี้

  • สเตียรอยด์ แพทย์อาจให้ทายาคอร์ติโคสเตียรอยด์อย่างเบต้าเมทาโซนเพื่อบรรเทาอาการผื่นขึ้น ซึ่งยานี้มีความปลอดภัยหากใช้รักษาในระยะเวลาสั้น ๆ
  • ยาต้านฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ ใช้รักษาผื่นแพ้ยาที่มีลักษณะเป็นผื่นลมพิษได้ดี
  • สารให้ความชุ่มชื้นผิว ทาสารชนิดนี้บนผิวหนังได้บ่อยตามต้องการ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษา รวมทั้งตรวจหาตุ่มพอง ผิวหนังตาย และความผิดปกติของเยื่อเมือก เพื่อวางแผนการรักษาให้เหมาะสม ส่วนผู้ป่วยผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรงต้องได้รับการรักษาอื่น ๆ จากแพทย์เพิ่มเติมต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนของผื่นแพ้ยา

ผื่นแพ้ยาส่วนใหญ่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจเสี่่ยงมีปัญหาสุขภาพตามมา ดังนี้

  • ผู้ป่วยผื่นแพ้ยาชนิดไม่รุนแรงอาจมีผิวหนังหลุดลอกออกหลังจากอาการผื่นแพ้ยาทุเลาลง
  • ผู้ป่วยกลุ่มอาการภูมิไวเกินต่อยา (Hypersensitivity Syndrome) เสี่ยงเป็นเบาหวาน และไฮโปไทรอยด์ ซึ่งมักมีอาการภายใน 4-12 สัปดาห์หลังจากเริ่มแพ้ยา
  • ผู้ป่วยผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรงอย่างทีอีเอ็นและสตีเวนส์จอห์นสัน อาจมีแผลเป็น ตาบอด พิการ และเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที

การป้องกันผื่นแพ้ยา

ผื่นแพ้ยาอาจป้องกันได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาใด ๆ เป็นครั้งแรก แต่โดยทั่วไป สามารถป้องกันการเกิดผื่นแพ้ยาหรือการแพ้ยาซ้ำได้ ดังนี้

  • ก่อนใช้ยาชนิดใด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง หากเคยแพ้ยาตัวอื่น ๆ มาก่อน ควรพกบัตรแพ้ยาติดตัวและแจ้งให้แพทย์ทราบ โดยเฉพาะในกรณีที่เคยแพ้ยาอย่างรุนแรง
  • ระหว่างการใช้ยา ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น และไปปรึกษาแพทย์หากพบปัญหาใด ๆ
  • หลังใช้ยา หากเป็นผื่นแพ้ยาควรไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด
  • หากเคยแพ้ยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาใด ๆ เพื่อป้องกันการแพ้ยาข้ามชนิดในกลุ่มเดียวกันด้วย เช่น ผู้ที่แพ้ยาเพนิซิิลินอาจแพ้ยาเซฟาโลสปอริน ผู้ที่ไวต่อยาเฟนิโทอินอาจแพ้ยาฟีโนบาร์บิทัลและคาร์บามาซีปีน และผู้ที่แพ้ยาซัลโฟนาไมด์อาจแพ้ยากลุ่มซัลฟาตัวอื่น ๆ ได้ เป็นต้น
  • หากไม่มีความจำเป็น ควรจำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งมักเป็นสาเหตุของผื่นแพ้ยา