ฝากครรภ์ (Antenatal Care) คือ การดูแลสุขภาพครรภ์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ ไปจนถึงก่อนคลอด โดยผู้ที่เริ่มตั้งครรภ์ควรพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ทันที และเข้ารับการตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเองและทารกในครรภ์
แพทย์จะตรวจสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์และทารก ให้ข้อมูลหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพครรภ์อย่างถูกต้อง ตอบข้อสงสัยของผู้ป่วย และอาจแนะนำคอร์สอบรมสำหรับคุณแม่มือใหม่ในกรณีที่ฝากครรภ์ในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์
ความสำคัญของการฝากครรภ์
การฝากครรภ์ถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ จึงควรฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์
เพื่อให้แพทย์ช่วยดูแลสุขภาพของคุณแม่และทารกให้แข็งแรงปลอดภัย โดยการฝากครรภ์มีความสำคัญ ดังนี้
- ตรวจอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์และรับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง โลหิตจางขณะตั้งครรภ์
- รับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพครรภ์ของตนได้อย่างถูกต้อง เช่น อาหาร วิตามินบำรุงครรภ์ การออกกำลังกาย
- ตรวจการติดเชื้อและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจแพร่เชื้อสู่ทารก เช่น ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) เชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส หนองในแท้ (Gonorrhea) และหนองในเทียม (Chlamydia)
- ตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม และธาลัสซีเมีย ซึ่งกระบวนการนี้ควรทำก่อนอายุครรภ์ครบ 10 สัปดาห์ โดยแพทย์จะคอยดูแลปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตลอดการตั้งครรภ์
- ช่วยดูแลทารกในครรภ์ให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง คำนวณวันกำหนดคลอดและวิธีการคลอด
- ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายขณะตั้งครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด
หากผู้ตั้งครรภ์เข้ารับการฝากครรภ์และไปตรวจตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ แพทย์สามารถตรวจเจอความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กและรักษาหรือป้องกันได้ทัน โดยผู้ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฝากครรภ์อาจเสี่ยงให้กำเนิดบุตรที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าผู้ที่ฝากครรภ์มากถึง 3 เท่า อีกทั้งเด็กที่คลอดออกมานั้นจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าทารกที่คุณแม่เข้ารับการฝากครรภ์มากถึง 5 เท่า
การเตรียมตัวสำหรับฝากครรภ์
การฝากครรภ์ควรเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์เพื่อวางแผนการมีบุตรอย่างปลอดภัย โดยผู้ตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ และดูแลสุขภาพของตนเองตามที่แพทย์แนะนำ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานวิตามินกรดโฟลิคเสริม และฉีดวัคซีนป้องกันโรค
ทั้งนี้ ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หอบหืด ความดันโลหิตสูง ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ อาการแพ้ต่าง ๆ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือซึมเศร้า รวมทั้งผู้ที่มีคู่ครองหรือบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรมและมีเชื้อพาหะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองโรคและรับการรักษา เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
การเข้ารับการตรวจครรภ์ตามนัด
ผู้ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์กับแพทย์ โดยแพทย์จะนัดตรวจครรภ์ตลอดช่วงที่ตั้งครรภ์ไปจนถึงตอนก่อนคลอด ซึ่งการนัดตรวจแต่ละครั้งมีรายละเอียด ดังนี้
1. นัดตรวจครั้งแรก
ในการตรวจครรภ์ครั้งแรกมีรายละเอียด ดังนี้
ให้ข้อมูลและประวัติการรักษา
แพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย ได้แก่ วันแรกของการมีรอบเดือนครั้งล่าสุด ประวัติการป่วยของบุคคลในครอบครัว การใช้ยาหรือรับประทานอาหารเสริมของผู้ตั้งครรภ์ ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ตั้งครรภ์เอง ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับวันที่รอบเดือนมานั้นจะช่วยคำนวณวันคลอดบุตรได้ โดยแพทย์จะนำวันแรกของรอบเดือนครั้งล่าสุดมาบวกเพิ่มอีก 7 วัน แล้วนับย้อนหลังไปอีก 3 เดือน ซึ่งวันครบกำหนดคลอดจะกินเวลาประมาณ 40 สัปดาห์นับตั้งแต่วันสุดท้ายที่มีประจำเดือน
ตรวจร่างกาย
แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยเริ่มจากชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง เพื่อประเมินระดับความยากง่ายในการคลอดธรรมชาติทั้งนี้ แพทย์ยังนำน้ำหนักมาเปรียบเทียบดูว่าผู้ตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์อย่างเหมาะสมหรือไม่
ต่อมาแพทย์จะวัดสัญญาณชีพจร รวมทั้งตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ปากและฟัน เต้านมและหัวนม หรือตรวจคลำหน้าท้อง เพื่อดูปัญหาสุขภาพอื่น ๆ นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจช่องคลอดและปากมดลูก การเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกและขนาดมดลูกจะช่วยระบุอายุครรภ์ให้ชัดเจนมากขึ้น สตรีมีครรภ์อาจต้องรับการตรวจภายใน (Pap Test) เพื่อตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วย
การตรวจอื่น ๆ
แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อนำไปวินิจฉัยหมู่โลหิตระบบอาร์เอช ฮีโมโกลบิน การติดเชื้อของระบบภูมิคุ้มกัน และตรวจการติดเชื้ออื่น ๆ โดยการวินิจฉัยแต่ละอย่างมีรายละเอียดดังนี้
- หมู่โลหิตระบบอาร์เอช (Rhesus, Rh) และคัดกรองโรคถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม ค่าอาร์เอชเป็นสารโปรตีนที่ที่พบได้บนพื้นผิวของเซลล์เม็ดเลือดแดง สตรีมีครรภ์ที่มีค่าอาร์เอชเป็นลบ แต่สามีมีค่าอาร์เอชบวก จำเป็นต้องได้รับการดูแลครรภ์เป็นพิเศษ นอกจากนี้ การตรวจเลือดยังใช้ตรวจคัดกรองภาวะซีดและพาหะโรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่ป่วยเป็นภาวะโลหิตจางมักมีฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ
- การติดเชื้ออื่น ๆ จากการตรวจเลือด ซึ่งช่วยตรวจหาการติดเชื้อหลายอย่างได้ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส เชื้อเอชไอวี
- ตรวจตัวอย่างปัสสาวะ แพทย์จะเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อนำไปตรวจหาการติดเชื้ออื่น ๆ
2. นัดตรวจครั้งต่อไป
หลังจากเข้ารับการตรวจครรภ์ครั้งแรกแล้ว แพทย์จะนัดตรวจครั้งต่อไป โดยการตรวจครรภ์แต่ละครั้งแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงอายุครรภ์ 4–28 สัปดาห์ ช่วงอายุครรภ์ 28–36 สัปดาห์ และช่วงอายุครรภ์ 36 ไปจนถึงครบกำหนดคลอด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ช่วงอายุครรภ์ 4–28 สัปดาห์
แพทย์จะนัดตรวจครรภ์เดือนละครั้ง โดยแพทย์จะชั่งน้ำหนักและวัดสัญญาณชีพจร ตรวจร่างกาย เจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ และทำอัลตราซาวน์เพื่อประเมินอายุครรภ์ในกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์ไม่สามารถจำรอบเดือนครั้งล่าสุดได้ชัดเจน ทั้งนี้ ผู้ตั้งครรภ์สามารถซักถามข้อสงสัยหรือปรึกษาปัญหาต่าง ๆ กับแพทย์ได้ เมื่ออายุครรภ์ครบ 18–20 สัปดาห์ แพทย์จะอัลตราซาวน์อีกครั้งเพื่อประเมินความผิดปกติของทารก
ช่วงอายุครรภ์ 28–36 สัปดาห์
ผู้ตั้งครรภ์ควรมาพบแพทย์เดือนละ 2 ครั้ง แพทย์จะตรวจความดันโลหิตและสัญญาณชีพจร ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง รวมทั้งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ แก่ผู้ตั้งครรภ์ ทั้งนี้ แพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักคอตีบ และไอกรนให้แก่ผู้ตั้งครรภ์
ช่วงอายุครรภ์ 36 ไปจนถึงครบกำหนดคลอด
ผู้ตั้งครรภ์มาพบแพทย์สัปดาห์ละครั้ง หากผู้ตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี หรือมีความเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพครรภ์สูง อาจจำเป็นต้องมารับการตรวจจากแพทย์บ่อยกว่านั้น โดยเบื้องต้น แพทย์จะตรวจความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก ฟังการเต้นของหัวใจทารก และดูอาการดิ้น ซึ่งผู้ตั้งครรภ์ควรบันทึกความถี่เมื่อรู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้น และตอบข้อซักถามของผู้ตั้งครรภ์
ทั้งนี้ แพทย์จะตรวจภายในให้แก่ผู้ตั้งครรภ์เมื่อถึงวันกำหนดคลอด เพื่อดูว่าลักษณะของปากมดลูกเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับคลอดบุตรหรือไม่ โดยปากมดลูกจะอ่อนนุ่มขึ้น และค่อย ๆ ขยายออกกว้างและบางลง ปากกมดลูกจะขยายกว้างถึง 10 เซนติเมตร และหดลงเมื่อคลอดทารกแล้ว
การตรวจพิเศษเพิ่มเติม
ผู้ตั้งครรภ์บางรายที่มีปัญหาสุขภาพ แพทย์อาจตรวจคัดกรองโรคเบาหวานสำหรับผู้ตั้งครรภ์ที่เสี่ยงเป็นเบาหวานสูง หรือเจาะน้ำคร่ำ (Amniocentesis) โดยจะเจาะเอาตัวอย่างน้ำคร่ำภายในมดลูกออกมาเพื่อตรวจหาความผิดปกติของยีนหรือโครโมโซมที่เกิดขึ้นกับทารก มักเจาะน้ำคร่ำเมื่อมีอายุครรภ์ 15–20 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม การเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจสภาวะของทารกนั้นมักเจาะในกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี ทั้งนี้ ผู้ตั้งครรภ์อาจเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก ทั้งนี้ ผู้ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงควรได้รับการตรวจและดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้ที่ถือว่าอยู่ในภาวะความเสี่ยงสูงประกอบด้วย
- ผู้ที่อายุน้อยเกินไปหรืออายุมากกว่า 35 ปี
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป
- ผู้ที่ปัญหาการตั้งครรภ์มาก่อน
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง มะเร็ง หรือติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ทารกแฝด
การตรวจทารกในครรภ์
แพทย์จะตรวจวิวัฒนาการของทารกในครรภ์ ดังนี้
- อัลตราซาวด์ทารก การทำอัลตราซาวด์จะช่วยให้แพทย์วิเคราะห์ภาพรวมของร่างกายทารกได้ รวมทั้งยังช่วยระบุเพศของทารก โดยแพทย์จะใช้คลื่นเสียงที่มีความถี่สูงประมวลภาพทารกในครรภ์ออกมา
- วัดการเจริญเติบโตของทารก แพทย์จะวัดการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยคลำประเมินจากขนาดหน้าท้อง
- ฟังการเต้นของหัวใจทารก เมื่อเข้ารับการตรวจครรภ์ในไตรมาสที่ 2 แพทย์จะใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจเต้นของทารกในครรภ์ (Doppler) ซึ่งจะจับจังหวะการเต้นของหัวใจทารกและประมวลผลออกมาเป็นเสียง โดยทั่วไปแล้ว จะได้ยินเสียงหัวใจทารกเต้นเมื่ออายุครรภ์ครบ 10–12 สัปดาห์
- ประเมินการเคลื่อนไหว เมื่ออายุครรภ์ครบ 20 สัปดาห์ ทารกในครรภ์มักดิ้นหรือถีบท้อง และผู้ตั้งครรภ์บางรายที่เคยตั้งครรภ์มาก่อนก็อาจพบว่าลูกดิ้นก่อนอายุครรภ์ครบ 20 สัปดาห์ หากทารกในครรภ์เกิดอาการดังกล่าว ผู้ตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- ตรวจท่าทางของทารกในครรภ์ เมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด แพทย์จะวัดน้ำหนักและตรวจท่าของทารกว่าเหันศีรษะไปทางช่องคลอดหรือไม่ หากศีรษะของเด็กไม่หันไปทางช่องคลอด แพทย์จะอธิบายความเสี่ยงและแนะนำการผ่าตัด ร่วมกับอัลตราซาวด์เพื่อตรวจระดับน้ำคร่ำด้วย
สมุดฝากครรภ์
ผู้ตั้งครรภ์ทุกรายจะได้รับสมุดฝากครรภ์ประจำตัว โดยแพทย์ผู้ดูแลครรภ์จะบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจแต่ละครั้งไว้ ผู้ตั้งครรภ์ควรเก็บสมุดฝากครรภ์ให้ดีและพกติดตัวเมื่อต้องไปพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง และควรถามแพทย์หากพบข้อสงสัยใด ๆ
หากต้องออกเดินทางไปข้างนอก ผู้ตั้งครรภ์ควรนำสมุดฝากครรภ์ติดตัวไปด้วยเช่นกัน เผื่อไว้เป็นข้อมูลเมื่อผู้ตั้งครรภ์ต้องการความช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน นอกจากนี้ เมื่อต้องไปตรวจครรภ์ทุกครั้ง ผู้ตั้งครรภ์อาจเตรียมตัวก่อนไปพบแพทย์ตามนัด ดังนี้
- เขียนคำถามหรือข้อสงสัยและถามแพทย์ให้เข้าใจอย่างละเอียด
- ควรพาคู่สมรสไปตามนัดพบแพทย์ด้วยในกรณีที่คู่สมรสไปด้วยได้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัวมากขึ้น
- ผู้ตั้งครรภ์อาจรับประทานของว่างรองท้องระหว่างรอพบแพทย์เพื่อไม่ให้รู้สึกหิวจนเกินไป
วิธีดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์
นอกจากฝากครรภ์และเข้ารับการตรวจตามนัดหมายแต่ละครั้งให้ครบถ้วนอย่างสม่ำเสมอแล้ว ผู้ตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองให้มีสุขภาพครรภ์ที่ดีตามคำแนะนำของแพทย์ โดยปฏิบัติดังนี้
- รับประทานอาหารหลากหลายและที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ระมัดระวังการรับประทานเนื้อปลาที่ผสมสารปรอท และดื่มน้ำให้เพียงพอ
- รับประทานวิตามินที่มีกรดโฟลิควันละ 400 ไมโครกรัมต่อวัน หรือ 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดใช้ยาหรือก่อนเริ่มใช้ยาตัวใหม่ทุกครั้ง
- ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติดทุกชนิด
- งดอาบน้ำร้อนและซาวน่า
เมื่ออายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ ผู้ตั้งครรภ์ควรสังเกตการเคลื่อนไหวของทารกทุกวัน โดยสังเกตทารกดิ้นในช่วงกลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่ทารกมีแนวโน้มว่าจะเคลื่อนไหวมากกว่าช่วงอื่นของวัน เพื่อตรวจดูความปกติของทารก
โดยสังเกตว่าทารกดิ้นถึง 10 ครั้งภายใน 2 ชั่วโมงหรือไม่ หากทารกเคลื่อนไหวน้อยกว่า 10 ครั้งหรือเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์ และในกรณีที่ทารกดิ้นตลอดเวลา ผู้ตั้งครรภ์ควรรีบพบแพทย์ทันที