ฝากไข่คืออะไร มีอะไรที่ควรรู้บ้าง มาหาคำตอบกัน

ฝากไข่ (Egg Freezing) เป็นวิธีทางการแพทย์ที่จะช่วยให้ผู้หญิงสามารถเก็บไข่เอาไว้ใช้สำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต โดยแพทย์จะดูดไข่ออกมาจากรังไข่เพื่อนำไปแช่แข็งเก็บไว้ และจะนำไข่ออกมาอีกครั้งเพื่อใช้ปฏิสนธิกับอสุจิจากฝ่ายชายเมื่อผู้ฝากไข่ต้องการตั้งครรภ์ จากนั้นเมื่อปฏิสนธิสำเร็จ แพทย์ก็จะนำตัวอ่อนใส่กลับเข้าไปภายในมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์

โดยธรรมชาติแล้ว ไข่ของเพศหญิงจะมีคุณภาพน้อยลงและลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุหลัง 35 ปีเป็นต้นไป ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้หญิงมีบุตรได้ยากขึ้น และในที่สุดรังไข่ก็จะหยุดผลิตไข่เมื่อผู้หญิงเข้าสู่ช่วงวัยทอง (Menopause) ซึ่งอยู่ในช่วงอายุประมาณ 45–55 ปี การฝากไข่จึงอาจเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ฝากไข่สามารถเก็บไข่ไว้เพื่อตั้งครรภ์ในอนาคตได้

นอกจากปัจจัยในเรื่องของอายุแล้ว การฝากไข่ยังเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้อีกเช่นกัน โดยบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการฝากไข่ที่ควรรู้ ทั้งขั้นตอนการฝากไข่ วิธีดูแลตัวเองหลังจากการฝากไข่ และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการฝากไข่ มาให้ได้ศึกษากัน

ฝากไข่คืออะไร มีอะไรที่ควรรู้บ้าง มาหาคำตอบกัน

การฝากไข่เหมาะสำหรับใครบ้าง

การฝากไข่หรือการนำไข่ในช่วงอายุปัจจุบันที่ยังสุขภาพดีอยู่ไปแช่เก็บเอาไว้ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้หญิงที่ต้องการจะมีบุตรแต่ยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ในปัจจุบัน เนื่องจากสาเหตุบางอย่าง เช่น

  • ยังไม่พร้อมมีบุตร
  • มีโรคประจำตัว หรือปัจจัยทางด้านสุขภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดประจำเดือนก่อนกำหนด (Premature Menopause) หรือเป็นบุคคลข้ามเพศ (Transgender)
  • กำลังจะเข้ารับการรักษาที่อาจส่งผลต่อรังไข่และการตั้งครรภ์ในอนาคตได้ เช่น การทำเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy) การใช้รังสีรักษา (Radiation Therapy) การรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ขั้นรุนแรง หรือการผ่าตัดข้ามเพศ (Gender Affirmation Surgery)

ขั้นตอนการฝากไข่

ก่อนการเริ่มฝากไข่ แพทย์จะนำตัวอย่างเลือดของผู้ฝากไข่ไปตรวจก่อนเพื่อดูสุขภาพโดยรวม และตรวจดูว่าผู้ป่วยมีโรคติดเชื้อบางชนิดหรือไม่ เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B) ไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C) หรือเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีอัลตราซาวด์บริเวณรังไข่ของผู้ฝากไข่ร่วมด้วย เพื่อช่วยให้แพทย์เห็นภาพและตรวจดูความผิดปกติต่าง ๆ ของรังไข่

หากแพทย์ไม่พบความผิดปกติใด ๆ แพทย์จะให้ผู้ฝากไข่ใช้ยาฮอร์โมนสังเคราะห์เป็นระยะเวลา 10–12 วัน เพื่อกระตุ้นรังไข่ให้ผลิตไข่มากขึ้น รวมถึงอาจให้ผู้ป่วยใช้ยาบางชนิดร่วมด้วยเพื่อป้องกันไข่ตกก่อนกำหนดโดยในช่วงเวลาที่ผู้ฝากไข่ใช้ยาฮอร์โมนสังเคราะห์ แพทย์จะนัดผู้ฝากไข่มาตรวจอัลตราซาวด์บริเวณอุ้งเชิงกราน และตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของไข่

จากนั้น เมื่อไข่เจริญเติบโตเต็มที่ แพทย์จะทำการเก็บไข่ โดยแพทย์จะสอดอุปกรณ์อัลตราซาวด์ และหัวเข็มเข้าไปผ่านช่องคลอดเพื่อช่วยให้แพทย์เห็นตำแหน่งของไข่และดูดไข่ออกมา และเมื่อแพทย์เก็บไข่เสร็จแล้ว แพทย์ก็จะนำไข่ที่ได้ไปแช่แข็งเก็บเอาไว้

ทั้งนี้ จำนวนไข่ที่แพทย์สามารถเก็บได้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับอายุ และสุขภาพโดยรวมของแต่ละคน แต่แพทย์จะพยายามเก็บไข่ให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ของผู้ฝากไข่ในอนาคต

วิธีดูแลตัวเองหลังจากฝากไข่

ปกติแล้ว ผู้ฝากไข่มักสามารถกลับไปใช้ชีวิตและทำกิจกรรมตามปกติได้ภายในระยะเวลาไม่นานหลังจากเก็บไข่ แต่หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ปวดท้องอย่างรุนแรง น้ำหนักเพิ่มมากกว่า 1 กิโลกรัมภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ปัสสาวะลำบาก หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดมากผิดปกติ ผู้ฝากไข่ควรไปพบแพทย์ทันที

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการฝากไข่

โดยส่วนใหญ่การฝากไข่มักไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อร่างกาย แต่ในบางกรณีผู้ฝากไข่บางคนอาจพบอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น 

  • ผลข้างเคียงจากการใช้เข็มเก็บไข่ เช่น มีเลือดออก ติดเชื้อ หรือเกิดแผลที่ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ และหลอดเลือด
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาฮอร์โมนสังเคราะห์เพื่อกระตุ้นการตกไข่ เช่น อารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ 

ในบางกรณี ซึ่งพบได้น้อย การใช้ยาฮอร์โมนสังเคราะห์อาจส่งผลให้ผู้ใช้เกิดกลุ่มอาการรังไข่ถูกกระตุ้นเกิน (Ovarian Hyperstimulation Syndrome) ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หรือเจ็บเต้านม 

หรือในกรณีรุนแรง กลุ่มอาการรังไข่ถูกกระตุ้นเกินอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดลิ่มเลือดในร่างกาย หายใจไม่อิ่ม ปวดท้องขั้นรุนแรง อาเจียนมากผิดปกติ หรือเกิดภาวะขาดน้ำได้ ซึ่งผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีที่พบอาการข้างต้น หรือสงสัยว่าตนเองเกิดภาวะนี้

ทั้งนี้ การฝากไข่อาจไม่สามารถช่วยให้ผู้ฝากไข่สามารถมีบุตรได้สำเร็จทุกคน โดยปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องจะขึ้นอยู่กับคุณภาพและจำนวนของไข่ ซึ่งตามที่ได้กล่าวไปว่าคุณภาพและจำนวนของไข่จะเริ่มลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น

รวมถึงยังมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างการที่ไข่บางฟองอาจไม่สามารถแช่เก็บไว้ได้ ไข่บางฟองอาจสูญเสียไปในขั้นตอนการละลาย หรือไข่บางฟองที่เก็บไว้อาจไม่สามารถเติบโตเป็นตัวอ่อนได้ 

ดังนั้น ผู้ที่ต้องการฝากไข่หรือต้องการวางแผนตั้งครรภ์ อาจไปปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยให้แพทย์วางแผน ตรวจสุขภาพร่างกายและให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ ที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจ