ความหมาย ฝีฝักบัว
ฝีฝักบัวเกิดจากการอักเสบของผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกลงไปและบริเวณรูขุมขน มีลักษณะเป็นก้อนหนองในรูขุมขนหลายก้อนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีอาการเจ็บเมื่อสัมผัสโดน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักพบบริเวณหลัง ต้นขา รักแร้ และด้านหลังลำคอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจมีไข้และมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย เมื่อตุ่มแดงยุบจะมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นมากกว่าฝีโดยทั่วไป
อาการของฝีฝักบัว
ในระยะแรกผู้ป่วยอาจรู้สึกคันผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ หลังจากนั้นจึงเกิดก้อนบวมแดงที่มีลักษณะเป็นก้อนหนองหลายก้อนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยมีขนาดประมาณ 3-10 เซนติเมตร
นอกจากลักษณะดังกล่าว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ดังนี้
- รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสผิวหนังที่อักเสบ
- ผิวหนังโดยรอบฝีบวมแดง
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีไข้ หรืออ่อนเพลีย
- เกิดแผลเล็ก ๆ บนหัวหนอง แผลบางจุดอาจแห้งและตกสะเก็ดร่วมกับมีน้ำเหลืองซึมออกมา
สาเหตุของฝีฝักบัว
ฝีฝักบัวมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัสออเรียส (Staphylococcus Aureus) ที่อยู่บนผิวหนัง โดยเฉพาะผิวบริเวณที่อับชื้น เช่น ปาก จมูก รักแร้ ขาอ่อน หรือขาหนีบ เป็นต้น ซึ่งโดยปกติเชื้อนี้มักไม่ก่อให้เกิดอันตราย ทว่าเมื่อเชื้อเข้าสู่ผิวหนังผ่านรอยแผลหรือรอยขีดข่วน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองโดยส่งเม็ดเลือดขาวมากำจัดเชื้อดังกล่าว จึงส่งผลให้เกิดอาการอักเสบและเกิดฝีซึ่งเป็นตุ่มหนองอักเสบตามมา หากเชื้อแบคทีเรียลุกลามสู่ใต้ชั้นผิวหนังก็อาจทำให้การอักเสบขยายวงกว้าง จนเกิดเป็นก้อนหนองอยู่รวมหลายก้อนและกลายเป็นฝีฝักบัวในที่สุด
โดยกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดฝีฝักบัวมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่
- ผู้ที่ไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย
- ผู้ที่โกน แวกซ์ขน หรือมีบาดแผลตามผิวหนัง
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะอาการป่วยอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้กำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ รวมถึงเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังได้ยากขึ้น
- ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัสออเรียส เนื่องจากการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อหรือเป็นฝีฝักบัวอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายได้
- ผู้ป่วยโรคผิวหนังชนิดอื่น ๆ เพราะโรคผิวหนังอย่างสิวหรือผื่นผิวหนังอักเสบอาจทำให้ผิวบอบบางหรือเกราะปกป้องผิวถูกทำลาย จึงทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย
- ผู้ป่วยโรคไตหรือโรคตับ
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
การวินิจฉัยฝีฝักบัว
หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง โดยวิธีการวินิจฉัยฝีฝักบัว มีดังนี้
- แพทย์อาจสอบถามอาการป่วยโดยรวมและตรวจดูลักษณะผิวหนังที่ผิดปกติ โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องแจ้งรายละเอียดของอาการป่วยให้แพทย์ทราบ ตั้งแต่เมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง รวมถึงระยะเวลาที่ฝีเริ่มเกิดขึ้น
- แพทย์อาจเก็บตัวอย่างหนองที่ฝีไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยให้แน่ชัด
ส่วนผู้ป่วยที่กลับมาเป็นฝีฝักบัวซ้ำหรือรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจเก็บตัวอย่างปัสสาวะหรือเลือดเพื่อนำไปตรวจหาโรคอื่นที่แฝงอยู่ เนื่องจากฝีฝักบัวที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
การรักษาฝีฝักบัว
การรักษาฝีฝักบัวสามารถทำได้หลายวิธี ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงนักอาจรักษาได้ด้วยตนเอง ซึ่งการรักษาฝีฝักบัวในขั้นต้น มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการบีบหรือเกาฝี เพราะอาจส่งผลให้การติดเชื้อลุกลามเป็นบริเวณกว้างมากขึ้น
- แช่อวัยวะจุดที่มีฝีลงในน้ำอุ่น หรือประคบผิวหนังบริเวณดังกล่าวด้วยผ้าอุ่นประมาน 15 นาที/วัน หลังจากนั้นให้ทำความสะอาดผ้าที่ใช้ด้วยน้ำร้อนและอบแห้งที่อุณหภูมิสูงเพื่อฆ่าเชื้อ
- ใช้ผ้าพันแผลที่ปลอดเชื้อพันรอบแผล เพื่อช่วยรักษาความสะอาดบริเวณแผลที่เป็นฝี แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำร้อนและสบู่
- รับประทานยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวดจากการอักเสบ
ส่วนผู้ป่วยที่มีฝีขึ้นใกล้บริเวณจมูก กระดูกสันหลัง และดวงตา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา หรือผู้ที่รักษาอาการด้วยตัวเองตามวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล ก็ควรไปพบแพทย์เช่นกัน โดยแพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
- รับประทานยาปฏิชีวนะ แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานหรือยาทาภายนอกให้ผู้ป่วยใช้รักษานานอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย
- ใช้สบู่ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีสรรพคุณช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง และป้องกันการเกิดฝีซ้ำ
- ผ่าตัดระบายหนองในฝีออก มักใช้กับผู้ป่วยที่มีฝีขนาดใหญ่และอยู่ลึก โดยแพทย์จะใช้มีดผ่าตัดหรือเข็มปลอดเชื้อสะกิดบนฝีให้เกิดแผลเล็ก ๆ แล้วระบายหนองภายในออกมา
ภาวะแทรกซ้อนของฝีฝักบัว
แม้ผู้ป่วยมักมีอาการไม่รุนแรงนัก แต่ฝีฝักบัวอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบางประการ ดังนี้
- แผลเป็น ผู้ป่วยที่เป็นฝีฝักบัวอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นหลังจากฝียุบแล้วมากกว่าผู้ป่วยที่เป็นฝีทั่วไป
- เชื้อดื้อยา เชื้อสแตฟฟิโลคอกคัสออเรียสบางตัวอาจทนต่อยาปฏิชีวนะในกลุ่มเมธิซิลินได้ ทำให้รักษาได้ยากกว่าปกติ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นแทน
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เป็นการติดเชื้อที่ใต้ชั้นผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบ ทำให้ผิวหนังบวมแดง เกิดความเจ็บปวด สัมผัสแล้วรู้สึกร้อน ผู้ป่วยอาจมีไข้ มึนงง คลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- ติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อที่ผิวหนังอาจลุกลามไปบริเวณอื่นของร่างกายและทำให้อวัยวะอื่น ๆ เกิดการอักเสบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นปอด กระดูก ข้อต่อ หัวใจ ระบบประสาทส่วนกลาง หรืออาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการหนาวสั่น มีไข้สูง อ่อนเพลียอย่างมาก และหัวใจเต้นเร็ว หากไม่รีบรับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การป้องกันฝีฝักบัว
โดยทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดฝีฝักบัว และป้องกันเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปสู่บุคคลอื่นได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการบีบหรือเกาผิวหนังบริเวณที่มีฝีหรือแผล
- อาบน้ำเพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากร่างกายเป็นประจำ
- ล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังจากใช้ห้องน้ำ
- หลีกเลี่ยงการเกาแผลหรือรอยขีดข่วนตามร่างกาย โดยให้ทำความสะอาดแผลและปิดแผลด้วยผ้าพันแผลปลอดเชื้อจนกว่าจะหายเป็นปกติ
- หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น และควรซักทำความสะอาดสิ่งของดังกล่าวด้วยน้ำร้อนเป็นประจำ
- รีบไปพบแพทย์หากพบว่าเป็นโรคผิวหนังหรือมีอาการเจ็บป่วยที่อาจก่อให้เกิดแผลตามร่างกาย