ความหมาย พยาธิใบไม้ตับ
พยาธิใบไม้ตับ เป็นพยาธิที่ทำให้เกิดการติดเชื้อภายในท่อน้ำดีตับจากการบริโภคปลาหรือสัตว์น้ำดิบ ๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ โดยพยาธิใบไม้ตับจะอาศัยร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพื่อเจริญเติบโตและวางไข่ ส่งผลให้ท่อน้ำดีเกิดการอักเสบเรื้อรังหรืออุดตันจากไข่และตัวพยาธิ ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการท้องอืด แน่นท้อง หรืออ่อนเพลีย แต่หากอาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจตาเหลืองตัวเหลืองคันตามตัว หรือเบื่ออาหารได้
พยาธิใบไม้ตับที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ สายพันธุ์โอปิสทอร์คิส วิเวอร์รินี (Ophisthorchis Viverrini) มีลักษณะเรียวยาว ลำตัวแบน บาง และโปร่งใส หากโตเต็มวัยจะมีขนาดกว้างถึง 2-3 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร และสามารถอาศัยอยู่ในท่อน้ำดีของตับคนได้นานถึง 26 ปี
อาการของพยาธิใบไม้ตับ
ในระยะแรกของการติดเชื้อ หากพยาธิใบไม้ตับยังมีจำนวนไม่มาก และเนื้อตับยังมีการอักเสบหรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจยังไม่ปรากฏอาการใด ๆ แต่หากมีพยาธิใบไม้ตับสะสมอยู่จำนวนมากเป็นเวลานาน จนเกิดการติดเชื้อเรื้อรังและตับเสียหายมากขึ้น ผู้ป่วยอาจเริ่มแสดงอาการคล้ายกับการป่วยโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป เช่น
- รู้สึกร้อนบริเวณท้อง
- อาหารไม่ย่อย แน่นท้อง ท้องอืด
- ท้องเสียเรื้อรัง หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก
- ปวดหลัง
- ปวดท้องบริเวณด้านขวาบนจากภาวะตับอักเสบ
- เจ็บใต้ชายโครงขวา หรือใต้ลิ้นปี่
- คลำพบตับหรือก้อนในท้องด้านขวาบน
- อ่อนเพลีย
หากป่วยมานานแต่ไม่ได้รับการรักษา ตับอาจเกิดการอักเสบเสียหายมากขึ้น รวมทั้งมีพยาธิและไข่พยาธิอุดตันทางเดินน้ำดีในตับ จนผู้ป่วยอาจมีอาการตับและถุงน้ำดีโต ตาเหลืองตัวเหลืองเป็นครั้งคราว ขาดสารอาหาร และหากอาการทวีความรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- ปวดท้องด้านขวาบนเพิ่มมากขึ้น แน่นท้องจากตับโตมากขึ้น
- เบื่ออาหาร ผอมลง
- มีไข้ต่ำ
- คันตามตัว
- แขนขาบวม และมักมีน้ำในท้องหรือท้องมาน
- มีปัสสาวะสีเข้ม และมีอุจจาระสีซีด
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ภาวะท่อน้ำดีอุดตันถาวร
- ตับและถุงน้ำดีโตมากจนคลำเจอเองได้
สาเหตุของพยาธิใบไม้ตับ
พยาธิใบไม้ตับมักเป็นการติดเชื้อจากพยาธิสายพันธุ์โอปิสทอร์คิสวิเวอร์รินีที่เข้ามาอาศัยภายในท่อน้ำดีตับจากการบริโภคปลาหรือสัตว์น้ำที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อเข้าไปโดยไม่ผ่านการปรุงสุกให้ความร้อนฆ่าพยาธิ โดยเฉพาะปลาน้ำจืด เช่น ปลาตะเพียน ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาแก้มช้ำ ปลาขาวนา และปลาขาว หรือปลาจากการแปรรูปหมักดอง เช่น ปลาร้า และอาหารที่ปรุงจากปลาร้า เช่น ส้มตำ แจ่ว เป็นต้น
ตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับจะใช้ท่อน้ำดีตับของมนุษย์ในการเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย จนร่างกายได้รับความเสียหายและเกิดอาการป่วยต่าง ๆ ขึ้น โดยพยาธิใบไม้ตับมีวงจรชีวิต ดังนี้
- มนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรับเอาตัวอ่อนลักษณะซีสต์ระยะเมตาเซอร์คาเรีย (Encysted Metacercariae) หรือระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับเข้าสู่ร่างกาย
- พยาธิตัวอ่อนจะเข้าสู่ลำไส้เล็กและตับ ผ่านรูเปิดของท่อน้ำดีตับที่เปิดเข้าลำไส้เล็ก และเจริญเติบโตในท่อน้ำดีตับ
- ตัวอ่อนจะอาศัยในท่อน้ำดีจนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย กลายเป็นหนอนพยาธิ
- เมื่อคนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นรังโรคของพยาธิใบไม้ตับขับถ่ายอุจจาระไม่เป็นที่ ไข่ของพยาธิใบไม้ตับที่ปนอยู่ในอุจจาระจะปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ และถูกกินโดยหอยน้ำจืด เช่น หอยขม จากนั้นตัวอ่อนจะอาศัยร่างกายของหอยน้ำจืดในการเจริญเติบโตเป็นระยะเซอร์คาเรีย (Cercaria)
- ตัวอ่อนระยะเซอร์คาเรียจะไชออกจากหอยน้ำจืดลงสู่แหล่งน้ำ และไชเข้าไปอาศัยอยู่ในเนื้อปลาน้ำจืด จนเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนลักษณะซีสต์ระยะเมตาเซอร์คาเรียหรือตัวอ่อนระยะติดต่อ
- เมื่อมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ บริโภคปลาที่มีพยาธิเข้าไป พยาธิก็จะเจริญเติบโตและวางไข่ในท่อน้ำดีตับต่อไป
การวินิจฉัยพยาธิใบไม้ตับ
ในเบื้องต้น แพทย์อาจวินิจฉัยอาการด้วยการซักประวัติผู้ป่วยเกี่ยวกับแหล่งอาศัย อาหารที่บริโภค และอาการต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้น จากนั้น อาจส่องกล้องจุลทรรศน์ตรวจตัวอย่างอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิ แต่หากตรวจไม่พบ แพทย์อาจต้องวินิจฉัยด้วยการหาสารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) ต่อพยาธิใบไม้ตับ จากอุจจาระหรือเลือดต่อไป
นอกจากนั้น หากพบภาวะตับโต แพทย์อาจส่งตรวจอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อหาภาวะแทรกซ้อนจากโรคพยาธิใบไม้ตับเพิ่มเติม
การรักษาพยาธิใบไม้ตับ
เพื่อการรักษาพยาธิใบไม้ตับอย่างเหมาะสม แพทย์อาจต้องพิจารณาจากผลการวินิจฉัยไข่พยาธิ ระดับความรุนแรงของการติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น โดยการรักษาพยาธิใบไม้ตับ มีดังนี้
การใช้ยา
- ยาพราซิควอนเทล รับประทานปริมาณ 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 3 ครั้ง หลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน หรือปริมาณ 40-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 1 ครั้ง จากนั้น ไข่พยาธิในอุจจาระจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์
- ยาปฏิชีวนะ ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
การผ่าตัด
แพทย์อาจต้องผ่าตัดหากเกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินน้ำดี
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น กินยาแก้ปวด ต่อท่อเข้าไปในท่อน้ำดีเพื่อระบายน้ำดี ลดอาการตัวเหลืองตาเหลือง หรือเจาะน้ำออกจากท้องเป็นครั้งคราวเมื่อมีอาการแน่นท้องมากจากมีน้ำในท้อง เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของพยาธิใบไม้ตับ
ผู้ป่วยพยาธิใบไม้ตับอาจปรากฏภาวะแทรกซ้อนได้ ดังต่อไปนี้
- ภาวะโลหิตจาง
- ติดเชื้อแบคทีเรีย
- ท่อน้ำดีอักเสบติดเชื้อ
- ถุงน้ำดีอักเสบ
- ตับอ่อนอักเสบ
- ตับแข็ง
- มะเร็งท่อน้ำดี
- ติดเชื้อในกระแสเลือด และการติดเชื้อกระจายไปทั่วร่างกาย
การป้องกันพยาธิใบไม้ตับ
เนื่องจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับเกิดจากการบริโภคพยาธิใบไม้ตับเข้าสู่ร่างกาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด ดังนี้
- เลิกรับประทานปลาหรือสัตว์น้ำจืดแบบดิบ ๆ กึ่งสุกกึ่งดิบ หรือแบบแปรรูปหมักดอง เช่น ปลาร้า
- ปรุงอาหารจำพวกปลาหรือสัตว์น้ำจืดให้สุกอย่างทั่วถึงก่อนบริโภคเสมอ ด้วยอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- หากต้องการรับประทานเนื้อปลาดิบ ๆ ควรแช่แข็งปลาที่ความเย็นต่ำกว่าหรือเท่ากับ -20 องศาเซลเซียส ก่อนรับประทานเป็นเวลา 7 วัน
หลังรักษาหายแล้ว ควรตรวจอุจจาระเป็นครั้งคราวตามคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อป้องกันกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง