พยาธิไส้เดือน

ความหมาย พยาธิไส้เดือน

พยาธิไส้เดือน (Ascariasis) เป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งที่เข้าสู่ร่างกายโดยปนเปื้อนในอาหารหรือเครื่องดื่ม ก่อให้เกิดการติดเชื้อภายในระบบทางเดินอาหาร แม้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการใดแสดงให้เห็น แต่หากติดเชื้ออย่างรุนแรงก็อาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงและก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

พยาธิไส้เดือน

อาการของการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน

ผู้ติดเชื้อพยาธิไส้เดือนมักไม่มีอาการบ่งบอก แต่อาจเริ่มแสดงอาการเมื่อติดเชื้อรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละราย ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้

การติดเชื้อภายในปอด อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายโรคหืดหรือโรคปอดบวม เช่น

  • ไอเรื้อรัง
  • หายใจถี่หรือหายใจเสียงดังหวีด
  • มีเลือดปนในน้ำมูกหรือเสมหะ
  • รู้สึกอึดอัดบริเวณหน้าอก
  • เป็นไข้

การติดเชื้อบริเวณลำไส้

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ไม่สบายท้องหรือปวดท้อง
  • ไม่อยากอาหาร
  • น้ำหนักลดลงหรือมีภาวะทุพโภชนาการ
  • สังเกตเห็นพยาธิในอาเจียนหรืออุจจาระ
  • อ่อนเพลีย

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย มีไข้ มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ หรือท้องเสียอย่างต่อเนื่อง หรือมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อพยาธิไส้เดือนอย่างรุนแรงได้

สาเหตุการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน

การติดเชื้อพยาธิไส้เดือนเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนไข่ของพยาธิ ซึ่งไข่ของพยาธิไส้เดือนนั้นพบได้ในดินที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ติดเชื้อ ผักผลไม้ที่ปลูกในดินที่ปนเปื้อนและล้างไม่สะอาด หรืออาหารที่ปรุงไม่สุกและมีไข่พยาธิจากดินติดอยู่

หลังจากเข้าสู่ร่างกาย ไข่ของพยาธิไส้เดือนจะฟักตัวกลายเป็นตัวอ่อนที่บริเวณลำไส้และเคลื่อนตัวไปตามกระแสเลือดไปสู่ปอด และเมื่อกลายเป็นตัวโตเต็มวัยจะเคลื่อนตัวออกจากปอดไปยังบริเวณลำคอ ซึ่งผู้ป่วยอาจไอเอาพยาธิออกมาหรือกลืนลงไปยังลำไส้อีกครั้ง ในกรณีหลัง พยาธิที่กลืนลงไปจะผสมพันธ์ุกันและวางไข่มากขึ้นและเป็นไปตามวงจรเดิม คือไข่ฟักเป็นตัวอ่อนและเคลื่อนไปสู่ปอด ทั้งนี้ ไข่พยาธิบางส่วนอาจถูกขับออกมากับอุจจาระ ซึ่งหากอุจจาระของผู้ติดเชื้อปนเปื้อนในดินก็จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นต่อไป

ทั้งนี้ การติดเชื้อพยาธิไส้เดือนเสี่ยงเกิดขึ้นในเด็กที่ยังไม่รู้วิธีรักษาสุขอนามัยและมักนำนิ้วเข้าปากหลังจากสัมผัสดินที่ปนเปื้อนพยาธิ รวมถึงผู้ที่มีสุขอนามัยไม่ดี

การวินิจฉัยการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน

ผู้ที่มีการติดเชื้อพยาธิไส้เดือนขั้นรุนแรงอาจไอหรืออาเจียนออกมาเป็นตัวพยาธิ ในกรณีนี้ควรนำพยาธิที่พบไปให้แพทย์ระบุชนิดและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายติดเชื้อพยาธิ แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีต่อไปนี้

การตรวจอุจจาระ เป็นวิธีที่มักใช้ ทำได้โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระแล้วนำไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาตัวพยาธิหรือไข่พยาธิ แต่วิธีนี้อาจใช้ไม่ได้ผลหากผู้ป่วยเริ่มเกิดการติดเชื้อมาไม่ถึง 40 วัน หรือติดเชื้อจากพยาธิไส้เดือนเฉพาะตัวผู้เท่านั้น เพราะจะทำให้ตรวจไม่พบไข่พยาธิ

การตรวจเลือด เป็นการตรวจจำนวนเม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ต้านเชื้อปรสิตที่เพิ่มขึ้น แต่การมีจำนวนเม็ดเลือดขาวดังกล่าวมากขึ้นไม่ได้เกิดจากการติดพยาธิไส้เดือนเสมอไป อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้เช่นกัน

การตรวจโดยการถ่ายภาพ แพทย์อาจใช้การเอกซเรย์เพื่อดูพยาธิในช่องท้องหรือใช้การเอกเรย์ทรวงอกตรวจหาพยาธิในปอด และอาจใช้การอัลตราซาวด์ การทำ CT Scan หรือการทำ MRI Scan เพื่อตรวจหาพยาธิบริเวณตับอ่อน การตรวจด้วยการถ่ายภาพเหล่านี้ยังช่วยให้ทราบว่ามีพยาธิตัวโตเต็มวัยจำนวนมากน้อยเพียงใดและส่วนใหญ่อยู่บริเวณใดของร่างกาย ทำให้แพทย์ประเมินได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อมานานเพียงใด เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ และควรวางแผนการรักษาอย่างไรต่อไป

การรักษาการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน

โดยทั่วไป การติดเชื้อพยาธิไส้เดือนที่ไม่มีอาการนั้นไม่จำเป็นต้องรักษา และในบางกรณีผู้ป่วยอาจหายดีได้เองเมื่อเวลาผ่านไป ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการ แพทย์มักสั่งจ่ายยาถ่ายพยาธิเป็นอันดับแรก ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยฆ่าพยาธิที่โตเต็มวัย ใช้เป็นเวลา 1-3 วัน ยาที่นิยมใช้ ได้แก่ ยาอัลเบนดาโซล ยาไอเวอร์เมคติน และยามีเบนดาโซล แต่ยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงเป็นอาการปวดท้องหรือท้องเสีย

สำหรับรายที่มีการติดเชื้ออย่างหนักและมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ลำไส้อุดตัน ลำไส้ทะลุ ท่อน้ำดีอุดตัน และไส้ติ่งอักเสบ แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อนำพยาธิไส้เดือนออกมาและซ่อมแซมหรือรักษาบริเวณที่เกิดความเสียหาย

ทั้งนี้ หลังจากเข้ารับการรักษาการติดเชื้อพยาธิไส้เดือนแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเพื่อติดตามผลการรักษา โดยแพทย์เก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อหาไข่ของพยาธิ หากยังมีไข่ปรากฏอยู่อาจต้องรักษาอีกครั้ง

ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน

การติดเชื้อพยาธิไส้เดือนอย่างรุนแรงอาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อไปนี้

  • เจริญเติบโตได้ช้าลง เด็กที่มีพยาธิชนิดนี้จะไม่อยากอาหารและร่างกายดูดซึมอาหารได้ไม่ดี ทำให้เสี่ยงได้รับสารอาหารไม่เพียงพอและเจริญเติบโตช้าลง
  • ลำไส้อุดตันและลำไส้ทะลุ พยาธิจำนวนมากอาจไปอุดกั้นลำไส้ ส่งผลให้มีอาการปวดเกร็งบริเวณหน้าท้องและอาเจียนอย่างรุนแรง รวมทั้งอาจทำให้ผนังลำไส้หรือไส้ติ่งทะลุจนมีเลือดออกภายในหรือเกิดไส้ติ่งอักเสบตามมา
  • ท่อน้ำดีอุดตัน พยาธิไส้เดือนอาจขวางบริเวณท่อน้ำดีในตับหรือตับอ่อน ทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง

การป้องกันการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน

วิธีป้องกันการติดเชื้อพยาธิไส้เดือนที่ดีที่สุดคือการรักษาสุขอนามัยอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้

  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเปล่าให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหาร ก่อนเตรียมอาหาร และหลังจากใช้ห้องน้ำ
  • สอนเด็กให้รู้จักรักษาสุขอนามัยและล้างมือทุกครั้งก่อนนำอาหารเข้าปาก
  • ล้างผักผลไม้ก่อนนำมารับประทานเสมอ และทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักผลไม้สดที่ไม่ได้ปอกเปลือกหรือที่ไม่ได้ล้างด้วยตนเอง
  • เลี่ยงการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก