ภาวะกล้ามเนื้อพร่อง (Sarcopenia)

ความหมาย ภาวะกล้ามเนื้อพร่อง (Sarcopenia)

Sarcopenia หรือภาวะกล้ามเนื้อพร่อง เป็นภาวะที่จะส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงและการทำงานของกล้ามเนื้อไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น มีอาการอ่อนแรง ไม่สามารถทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่สามารถออกแรงได้ตามปกติ และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย

Sarcopenia มักพบในผู้ที่มีอายุประมาณ 65 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อเริ่มมีอาการของ Sarcopenia ผู้ป่วยจะล้มหรือกระดูกหักบ่อยมากขึ้น ซึ่งการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยชะลอหรือป้องกันอาการที่ร้ายแรงได้

Asian,Old,Woman,Walking,In,Park,And,Having,Knee,Pain,

อาการของ Sarcopenia

ภาวะ Sarcopenia จะส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อไป และอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย อาทิ

  • มีอาการอ่อนแรง เหนื่อยล้า
  • ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง
  • เดินลำบาก หกล้มง่าย
  • มีปัญหาในการทรงตัว
  • บางรายอาจน้ำหนักตัวลด

เนื่องจากภาวะ Sarcopenia มักมีอาการไม่ชัดเจน หากพบว่าตนเองหรือผู้สูงอายุมีอาการคล้ายภาวะ Sarcopenia ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง

สาเหตุของ Sarcopenia

ภาวะ Sarcopenia มักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งมาจากการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลงของผู้สูงอายุ แต่บางกรณีก็อาจพบในผู้สูงอายุที่ทำกิจกรรมเป็นประจำได้เช่นกัน

จากการศึกษามักพบปัจจัยบางอย่างที่เอื้อต่อการเกิดภาวะนี้ คือ เซลล์ประสาทที่ส่งสัญญาณออกจากสมองเพื่อให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวส่งสัญญาณน้อยลง ระดับฮอร์โมนบางชนิดต่ำ เช่น ฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรน (Testosterone Hormone) โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) หรือสารเคมีเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตที่มีโครงสร้างคล้ายอินซูลิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาวะ Sarcopenia อาจเกิดได้จากการที่ร่างกายเปลี่ยนโปรตีนเป็นพลังงานได้น้อยลง ร่างกายของผู้ป่วยได้รับพลังงานและโปรตีนไม่เพียงพอต่อการรักษามวลกล้ามเนื้อ ร่วมกับการที่ร่างกายของผู้สูงอายุไม่สามารถสร้างกล้ามเนื้อใหม่ทดแทนกล้ามเนื้อที่สูญเสียไปได้ หรืออาจเป็นผลจากภาวะไขมันแทรกเข้าในกล้ามเนื้อหรือภาวะเครียดอย่างรุนแรง

การวินิจฉัย Sarcopenia

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ใช้วินิจฉัยภาวะ Sarcopenia โดยเฉพาะ แต่แพทย์จะมุ่งความสนใจไปยังการตรวจหาอาการที่พบได้มากในผู้ป่วยภาวะนี้ ตรวจดูระดับมวลกล้ามเนื้อและประสิทธิภาพของมวลกล้ามเนื้อที่อาจลดลง และอาจทดสอบการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ป่วย เพราะปัญหาด้านการเคลื่อนไหวร่างกายนั้นสามารถใช้เป็นข้อบ่งชี้สำคัญสำหรับผู้ป่วยมีอาการของภาวะ Sarcopenia ในระดับรุนแรงได้

การรักษา Sarcopenia

ในปัจจุบันภาวะ Sarcopenia ยังไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา และจากการศึกษาพบว่าวิธีรักษาและบรรเทาอาการของภาวะ Sarcopenia ที่ได้ผลดีต่อผู้ป่วยมีดังนี้

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมกล้ามเนื้อ เพิ่มการทำงานของโกรทฮอร์โมน ระบบกล้ามเนื้อ เส้นประสาท สร้างมวลกล้ามเนื้อและควบคุมอาการของภาวะ Sarcopenia เพิ่มแรงต้านและความยืดหยุ่นให้แก่ร่างกาย

โดยผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้หลากหลายรูปแบบ อย่างการเดิน การปั่นจักรยาน การวิ่งเหยาะ ๆ การเต้นแอโรบิคหรือการออกกำลังกายที่ใช้เวลาในการฝึกมากขึ้น และที่สำคัญควรออกกำลังกายด้วยระมัดระวัง เพราะการออกกำลังกายอาจทำให้เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารต่าง ๆ อย่างเพียงพอควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย และหากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ นักทำกายภาพบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญการออกกำลังกาย เพื่อช่วยปรับรูปแบบการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสมต่อผู้ป่วย

การรับประทานอาหารและอาหารเสริม

ผู้ป่วยภาวะ Sarcopenia อาจเพิ่มการรับสารอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เช่น

  • โปรตีนอย่างเนื้อสัตว์ ปลา ไข่หรือถั่วเหลือง จะช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อและเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อ อีกทั้งโปรตีนยังมีกรดอะมิโนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มการสร้างกล้ามเนื้อ
  • ไขมันโอเมก้า 3 จะช่วยเพิ่มการสร้างและช่วยเสริมความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อ โดยผู้ป่วยสามารถรับประทานได้จากอาหารทะเลหรือในรูปแบบอาหารเสริม
  • วิตามินดี เป็นวิตามินที่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้แก่กระดูกและกล้ามเนื้อ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียการทรงตัว
  • ครีเอทีน เป็นสารอาหารที่พบได้มากในเนื้อสัตว์ หรืออาจรับประทานในรูปแบบอาหารเสริม

นอกจากนี้ ทางการแพทย์ยังอยู่ระหว่างการศึกษาประสิทธิภาพของการเสริมฮอร์โมนชนิดอื่น ๆ ที่ใช้ในการรักษาภาวะ Sarcopenia ก่อนการรับประทานอาหารเสริมใด ๆ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัย

ภาวะแทรกซ้อนของ Sarcopenia

ผู้ป่วยอาจไม่สามารถดูแลตนเอง เดิน เคลื่อนไหวลำบาก และหกล้มได้ง่าย โดยจากการศึกษาพบว่าอาการจากภาวะ Sarcopenia อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสังคม

การป้องกัน Sarcopenia

ภาวะ Sarcopenia อาจป้องกันได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวันอย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อและร่างกายส่วนต่าง ๆ  แต่ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม และควรทำควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นโปรตีนเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แก่ร่างกาย