ความหมาย ภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ
PLMD (Periodic Limb Movement Disorder) หรือภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ เป็นภาวะที่ทำให้กล้ามเนื้อขาเกิดการกระตุกซ้ำ ๆ เป็นจังหวะในช่วงเวลาหนึ่ง เกิดขึ้นในช่วง Non-Rem หรือช่วงหลับตื้นจนถึงหลับลึก ซึ่งในช่วงนี้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะทำงานช้าลงต่างจากช่วง Rem อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว แต่ก็อาจทำให้ตื่นขึ้นมากลางดึกได้ เนื่องจากรู้สึกเหนื่อยหรือไม่สบายตัว อาการดังกล่าวจึงอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตในเวลากลางวัน โดยพบภาวะนี้ได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบมากในวัยกลางคนและวัยชรา
อาการของ PLMD
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยภาวะขากระตุกขณะนอนหลับหรือ PLMD มักไม่รู้ตัวว่าป่วยด้วยภาวะนี้ แต่อาจทราบจากคนในครอบครัว คนรัก หรือคนใกล้ตัวที่สังเกตเห็นอาการ
โดยในเบื้องต้น อาการของ PLMD มักมีลักษณะดังต่อไปนี้
- เกิดการกระตุกของขาหรือแขนเป็นบางครั้งในขณะนอนหลับ โดยอาจเกิดขึ้นได้กับแขนหรือขาเพียงข้างเดียวและทั้งสองข้าง
- มีการเคลื่อนไหวรูปแบบอื่น ๆ เช่น หัวแม่เท้ากระดิก หัวเข่าและข้อเท้างอขึ้นด้านบน มีการบิดหรือกระตุกที่สะโพก เป็นต้น
- มักเกิดอาการกระตุกซ้ำทุก 20-40 วินาที ในช่วง 30 นาที
- ความแรงของการกระตุกมีตั้งแต่ระดับเบาคล้ายการกระดิกไปจนถึงระดับรุนแรงคล้ายการเตะหรือการสะบัดอย่างแรง
- อาการเกิดขึ้นในช่วง Non-Rem
- ผู้ที่มีอาการอาจสะดุ้งตื่นในช่วงกลางคืนหลายครั้ง จากทั้งการกระตุกของร่างกายส่วนล่าง หรือตื่นขึ้นเนื่องจากรู้สึกเหนื่อยและไม่สบายตัว จึงทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง
- เกิดอาการง่วงซึมหรือง่วงนอนในตอนกลางวัน
- ร่างกายไม่สามารถพักผ่อนและฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่
- ประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดน้อยลง เช่น การเรียน หรือการทำงาน เป็นต้น
- อารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียวง่าย
- หากเกิดภาวะนี้ในเด็ก เด็กอาจแสดงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เช่น อยู่ไม่นิ่ง ไม่สบายตัว หรืองอแง เป็นต้น
สาเหตุของ PLMD
ในปัจจุบันยังหาสาเหตุที่แน่ชัดของอาการนี้ไม่ได้ แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง จึงทำให้เกิดอาการขากระตุกขณะนอนหลับขึ้น อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการนี้ได้ เช่น
โรคหรือการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ
- RLS (Restless Legs Syndrome) หรือโรคขาไม่อยู่สุข เป็นโรคที่มีลักษณะคล้ายกับ PLMD โดยจากการศึกษาพบว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็น RLS จะมีอาการขากระตุกขณะนอนหลับด้วยเช่นกัน
- Narcolepsy หรือโรคลมหลับ
- Sleep Apnea หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ
- โรคและภาวะผิดปกติที่เกิดจากโรคเบาหวานและโรคไต เช่น ภาวะธาตุเหล็กในเลือดต่ำ สื่อนำประสาทส่วนแขนและขามีปัญหา และโรคจากความบกพร่องของเมตาบอลิซึม เป็นต้น
- โรคที่เกี่ยวกับพัฒนาการทางร่างกายและโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคสมาธิสั้น และกลุ่มอาการวิลเลียม เป็นต้น
- เส้นประสาทไขสันหลังบาดเจ็บหรือบวม มีเนื้องอกไขสันหลัง
- ภาวะโลหิตจาง และภาวะเลือดเป็นพิษที่เกิดขึ้นเนื่องจากไตไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้ของเสียเกาะตัวกันในเลือด
การได้รับสารหรือยาบางชนิด
- การรับประทานยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไออย่างฮาโลเพอริดอล ยากลุ่มแอนตี้โดพามิเนอร์จิกอย่างเลโวโดปา และยากลุ่มไตรไซคลิกอย่างอะมิทริปไทลีน
- การใช้ยาลิเทียม ยาแก้เวียนศีรษะ และยากันชักบางชนิด
- การอยู่ในช่วงถอนยาระงับประสาท กลุ่มยาบาร์บิทูเรต หรือกลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน
- การรับสารคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิด PLMD และเพิ่มระดับความรุนแรงในรายที่มีอาการป่วยอยู่แล้ว
การวินิจฉัย PLMD
เนื่องจากผู้ที่เผชิญภาวะขากระตุกขณะนอนหลับมักไม่รู้สึกตัวขณะมีอาการ ดังนั้น จึงอาจตรวจพบภาวะนี้ได้จากการสังเกตพฤติกรรมการนอนและคำบอกเล่าจากคนใกล้ตัว ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการดังกล่าวในระดับที่มากขึ้นจนกลายเป็นปัญหาต่อตนเองและคนใกล้ตัว
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจซักประวัติการรักษาของผู้ป่วยและคนในครอบครัว โรคประจำตัว ยาที่รับประทาน พฤติกรรมการใช้ชีวิต และตรวจร่างกายผู้ป่วย เพื่อหาโรคที่อาจส่งผลให้เกิดอาการในลักษณะที่คล้ายกับภาวะ PLMD นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยด้วย เช่น
- ตรวจเลือด เพื่อหาจำนวนฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง และตรวจวัดปริมาณธาตุเหล็กว่าอยู่ในระดับต่ำหรือไม่
- ตรวจหาโรคที่เกิดจากการบกพร่องของเมตาบอลิซึม อย่างโรคเบาหวานหรือโรคไต ด้วยวิธีการวัดรอบเอว วัดระดับความดันเลือด หรือวัดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาร่องรอยของการใช้ยาหรือสารบางชนิดที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะนี้
- ตรวจด้วย Polysomnogram หรือตรวจการนอนหลับโดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์บันทึกคลื่นสมอง อัตราการเต้นของหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การเคลื่อนไหวของดวงตา ความดันเลือด การเคลื่อนไหวของแขนและขา รวมทั้งเส้นประสาทและกล้ามเนื้อในขณะนอนหลับ
นอกจากนี้ หลังตรวจด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้ว แพทย์อาจส่งผลตรวจไปยังแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาท เพื่อให้ช่วยประเมินอาการและตัดโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันออกไป และวินิจฉัยภาวะเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง
การรักษา PLMD
แม้ PLMD จะเป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาและดูแลตนเองจะสามารถบรรเทาความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นได้ โดยทำตามวิธีดังต่อไปนี้
รับประทานอาหารที่ดี
ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เช่น ผักปวยเล้ง อาหารทะเลประเภทกุ้งหรือหอย เครื่องในสัตว์ เป็นต้น และอาหารที่มีกรดโฟลิคสูง เช่น พืชตระกูลถั่ว หน่อไม้ฝรั่ง และไข่ เป็นต้น เพราะหากมีธาตุเหล็กและกรดโฟลิคในเลือดอยู่ในระดับต่ำ อาจส่งผลให้เกิดอาการของภาวะ PLMD ได้
หลีกเลี่ยงคาเฟอีน
ควรงดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ เช่น ชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ช็อกโกแลต เป็นต้น รวมถึงงดใช้ยาที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบอย่างยาแก้ปวดหัวไมเกรน เนื่องจากคาเฟอีนจะทำให้อาการของภาวะนี้รุนแรงยิ่งขึ้น
ใช้ยารักษา
แพทย์อาจสั่งจ่ายยาในกรณีที่อาการนั้นอยู่ในขั้นรุนแรง โดยยาที่ใช้บรรเทาอาการขากระตุกขณะนอนหลับเป็นกลุ่มยาแบบเดียวกันกับที่ใช้รักษาอาการ RLS หรือโรคขาอยู่ไม่สุข เพื่อยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เช่น กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน อย่างโคลนาซีแพม กลุ่มยาโดปามีน แอนตาโกนิสต์ อย่างเลโวโดปาหรือคาร์บิโดปา กลุ่มยากาบา รีเซปเตอร์ อะโกนิสต์ อย่างบาโคลเฟน และกลุ่มยากันชัก อย่างกาบาเพนติน เป็นต้น โดยกลุ่มยาโดปามีน แอนตาโกนิสต์ อย่างซายน์เมทและยากลุ่มกันชักบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะ PLMD ได้เช่นกัน ดังนั้น การใช้ยาเพื่อรักษาอาการดังกล่าวจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดเท่านั้น
ภาวะแทรกซ้อนของ PLMD
อาการขากระตุกขณะนอนหลับนั้นอาจรบกวนการนอนของตัวผู้ป่วยเองและคนใกล้ตัว ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ เช่น
- ปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพราะอาจเกิดอาการหงุดหงิด รำคาญใจ เนื่องจากขณะเกิดอาการ อาจรบกวนการนอนหลับของตนเองและผู้ที่ใช้เตียงนอนร่วมกันด้วย อย่างบุคคลในครอบครัว คู่ครอง คนรัก หรือเพื่อนร่วมห้อง
- ประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมและสมรรถภาพทางร่างกายลดลง หากนอนหลับไม่สนิทและพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลให้รู้สึกง่วงซึมในเวลากลางวัน และทำให้ความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดน้อยลง รวมถึงความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะอันนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้
- การเกิดภาวะแทรกซ้อนและโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น นอกจากนี้ หากเกิดอาการนอนหลับไม่สนิทหรือพักผ่อนไม่เพียงพอในเด็กที่มีกลุ่มอาการขาดสมาธิและภาวะไฮเปอร์ อาจนำไปสู่การเป็นโรคสมาธิสั้นได้ด้วย
การป้องกัน PLMD
แม้ยังหาสาเหตุหลักของภาวะ PLMD ไม่ได้ แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการของภาวะนี้ได้ด้วยการดูแลสุขภาพกายใจให้ดีอยู่เสมอ โดยสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองและไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นระยะ โดยเฉพาะการตรวจระดับธาตุเหล็กและกรดโฟลิคในเลือดที่แสดงถึงการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายว่าสามารถทำงานได้อย่างปกติและมีประสิทธิภาพหรือไม่ รวมทั้งควรปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตให้ส่งผลดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน งดสูบบุหรี่ ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดอย่างการเล่นโยคะ การนั่งสมาธิ การนวด หรือการแช่น้ำอุ่นก่อนนอน เป็นต้น