ภาวะขาดน้ำ

ความหมาย ภาวะขาดน้ำ

ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) คือภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าที่ได้รับ ทำให้กระหายน้ำและปัสสาวะมีสีเข้ม มักมีสาเหตุมาจากการอาเจียน ท้องเสีย การออกกำลังกาย หรือการใช้ยาบางชนิด สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่มักเกิดขึ้นได้มากกับทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ หากร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไปจะทำให้เซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

อาการของภาวะขาดน้ำ

กระหายน้ำ เป็นสัญญาณหรืออาการแรก ๆ ที่ร่างกายแสดงออกเพื่อพยายามเพิ่มปริมาณน้ำในร่างกาย ทารกและเด็กเล็ก เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำได้มากที่สุด เนื่องจากไม่สามารถบอกได้ว่าหิวน้ำเมื่อไหร่ อาจพบอาการปากและลิ้นแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ผ้าอ้อมเปียกปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะมีสีเข้ม ตาโหล แก้มตอบ กระหม่อมบุ๋ม ง่วงซึม หงุดหงิดง่าย หายใจเร็ว มือและเท้าเย็น เป็นต้น

ผู้ใหญ่จะมีอาการที่แตกต่างกันออกไปตามระดับความรุนแรงของภาวะขาดน้ำ และพบอาการอื่น ๆ ได้ ดังต่อไปนี้

อาการที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง เช่น

  • กระหายน้ำ
  • ง่วงซึม อ่อนเพลีย
  • ผิวแห้ง ตาแห้ง ปากแห้ง
  • ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ
  • ท้องผูก
  • มึนหัว วิงเวียน ปวดศีรษะ

อาการที่มีความรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องไปพบแพทย์โดยด่วน เช่น

  • กระหายน้ำรุนแรง
  • ไม่มีเหงื่อ ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หัวใจเต้นเร็วและแรง หายใจเร็วและหอบ
  • มีไข้
  • ตาโหลหรือตาลึก
  • ผิวหนังแห้งและเหี่ยวย่น
  • ท้องเสียรุนแรง อุจจาระเป็นเลือด
  • ไม่สามารถดื่มน้ำได้
  • ดูซึมลง สับสน สูญเสียการรับรู้เรื่องบุคคล เวลาและสถานที่ (Disorientation)
  • อ่อนเพลีย

หากพบหรือสงสัยว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอาการป่วยหนักจากโรคอื่น ๆ มีอาการหรือเข้าข่ายของภาวะขาดน้ำ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน

ภาวะขาดน้ำ rs

สาเหตุของภาวะขาดน้ำ

บางครั้งผู้ป่วยอาจเกิดภาวะขาดน้ำได้จากสาเหตุเพียงเล็กน้อย เช่น ดื่มน้ำน้อยเกินไป ที่อาจเป็นผลมาจากความเจ็บป่วยหรือยุ่งจากการทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การทำงาน หรือการเล่นกีฬา รวมถึงสามารถเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป ในผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียน ท้องเสีย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุเป็นจำนวนมาก รวมถึงการสูญเสียน้ำผ่านทางบาดแผลที่ผิวหนัง เช่น แผลไฟไหม้ แผลในปาก แผลติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือโรคผิวหนังอย่างรุนแรง เป็นต้น
  • ปัสสาวะมากผิดปกติ ในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะ ยาความดันโลหิต หรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
  • เหงื่อออกมากผิดปกติ จากการออกกำลังกายเป็นเวลานาน ผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีอากาศร้อนชื้น หรือในผู้ที่มีไข้สูง
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการโคม่า ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงผู้ที่มีอาการป่วย เป็นหวัด หรือเจ็บคอ ทำให้รู้สึกเบื่ออาหารและดื่มน้ำน้อยลง

การวินิจฉัยภาวะขาดน้ำ

แพทย์จะทำการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของการเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น โดยมีแนวทางในการวินิจฉัยดังต่อไปนี้

  • การตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น การตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ ชีพจรและความดันโลหิตในขณะที่ผู้ป่วยเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่ายืน หากน้ำในเลือดน้อยเกินไปจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลมได้หลังการเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่ายืน
  • การตรวจปัสสาวะ เช่น สีของปัสสาวะ การตรวจพบคีโตนในปัสสาวะ ระดับน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยเบาหวาน ปริมาณโปรตีนที่มากเกินไป อาจแสดงให้เห็นว่าไตมีปัญหา รวมถึงอาการของการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น โรคตับ เป็นต้น
  • การตรวจเลือด เช่น ปริมาณน้ำตาล ปริมาณโซเดียมและโพแทสเซียมในเลือด หรือการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าภาวะขาดน้ำมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ รวมถึงการตรวจค่าความเป็นกรดด่างในเลือด การทำงานของไต การทำงานของตับเพื่อหาสาเหตุของอาการต่อไป

การรักษาภาวะขาดน้ำ

การรักษา สามารถทำได้ด้วยการเพิ่มหรือชดเชยปริมาณของเหลวในร่างกาย โดยการดื่มน้ำที่มีส่วนผสมของเกลือแร่ หรือดื่มควบคู่กับน้ำเปล่า แพทย์อาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำจากอาการอาเจียนและท้องเสียที่ไม่สามารถดื่มน้ำผสมเกลือแร่ได้ และควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่บ้าน สามารถปฏิบัติได้ตามแนวทางดังต่อไปนี้

ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่มีภาวะขาดน้ำจากการออกกำลังกาย

  • หากทำกิจกรรมอยู่ควรหยุดพัก ถอดเสื้อผ้าชิ้นที่ไม่จำเป็นออก นั่งหรือนอนพักใต้ร่มไม้หรือในตัวอาคารบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท และยกเท้าให้สูงขึ้น
  • ดื่มน้ำเปล่าเพื่อเป็นการชดเชยน้ำในร่างกาย หรือเครื่องดื่มเกลือแร่ สามารถซื้อจากร้านสะดวกซื้อหรือทำเองได้ที่บ้าน โดยใช้เกลือ ½ ช้อนชา น้ำตาล 6 ช้อนชา ผสมกับน้ำเปล่า 1 ลิตร ควรใช้เครื่องมือที่ได้มาตรฐานและผสมตามสัดส่วน เพราะหากได้รับน้ำตาลหรือเกลือมากเกินไป อาจทำให้เกิดอันตราย และไม่ควรใช้เครื่องดื่มเกลือแร่ที่ผสมเองที่บ้านกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี

เด็กอายุ 1-11 ปี

  • พยายามให้บุตรหลานดื่มน้ำบ่อย ๆ หรือรับประทานไอศกรีมหวานเย็นเพื่อเป็นการชดเชยน้ำในร่างกาย
  • ดื่มผงละลายเกลือแร่ (Oral Rehydration Solution: ORS) ในกรณีที่ยังชดเชยน้ำในร่างกายได้ไม่เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ น้ำอัดลม หรือน้ำหวานที่มีปริมาณน้ำตาลสูง

เด็กแรกเกิดและเด็กอายุไม่ถึง 1 ปี

  • ให้ดื่มนมทุก 10 นาที ครั้งละประมาณ 1-2 นาที หรือให้น้ำเพิ่มเติมมากขึ้นจากเดิม โดยพิจารณาจากอายุและน้ำหนักตัวของทารก เช่น 30 มิลลิลิตรสำหรับเด็กแรกเกิด หรือ 90 มิลลิลิตรสำหรับเด็กที่มีอายุ 1 ปี
  • ในกรณีที่ทารกยังชดเชยน้ำในร่างกายได้ไม่เพียงพอ ควรปรึกษาแพทย์ถึงการใช้ดื่มผงละลายเกลือแร่ โดยพิจารณาจากอายุและน้ำหนักตัวของทารก

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะขาดน้ำ

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะขาดน้ำสามารถเกิดขึ้นได้และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต เช่น

  • ตะคริวแดด หมดแรงเพราะแดด หรือโรคลมแดด หากดื่มน้ำไม่เพียงพอในขณะออกกำลังกายอย่างหนัก
  • ปัญหาที่ไตและระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น การติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต หรือไตวาย หากเกิดภาวะขาดน้ำบ่อย ๆ เป็นระยะเวลานาน
  • ชัก เป็นผลมาจากแร่ธาตุในร่างกายไม่สมดุล เช่น โพแทสเซียมและโซเดียม เป็นต้น ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวหรือทำให้หมดสติได้
  • ภาวะช็อกจากปริมาตรเลือดต่ำ ส่งผลทำให้ความดันเลือดและจำนวนออกซิเจนในร่างกายลดต่ำลง เป็นภาวะที่รุนแรงและทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้

การป้องกันภาวะขาดน้ำ

การป้องกัน สามารถทำได้โดยดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วย เช่น อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ หลอดลมอักเสบ การติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น รวมถึงผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก ผู้ที่อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนชื้น อากาศหนาวเย็น หรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่สูง และสามารถปฏิบัติได้ตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำมาก ๆ ทั้งก่อนและหลัง หรือในช่วงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง การเล่นกีฬา การออกกำลังกาย โดยดื่มบ่อย ๆ หรือทุก 15-20 นาที หรือดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ หากมีการออกกำลังกายต่อเนื่องนานกว่า 1 ชั่วโมง ควรหยุดพักจากการออกกำลังกาย หากพบว่ามีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือรู้สึกเหนื่อยมาก และเลือกใส่เสื้อผ้าให้เหมาะกับการทำกิจกรรม เช่น เสื้อผ้าสีอ่อน เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เป็นต้น
  • ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-12 แก้ว โดยเฉพาะในวันที่มีการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ไข่ อาหารทะเล พืชตระกูลถั่ว นมไขมันต่ำ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเบียร์และไวน์มากเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำ