ภาวะคลั่งกินคลีน (Orthorexia) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยจะหมกมุ่นกับการกินอาหารเพื่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งแม้ว่าโดยทั่วไปการกินอาหารที่มีประโยชน์อย่างอาหารคลีนจะเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลดีต่อสุขภาพและก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี แต่การหมกมุ่นที่มากเกินไปของผู้ป่วยภาวะนี้อาจรุนแรงจนก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจได้
อาการของภาวะคลั่งกินคลีนอาจมีความคล้ายคลึงกับอาการในกลุ่มโรคการกินผิดปกติ (Eating Disorder) และอาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยเคร่งครัดในการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายหรือกินอาหารที่มีประโยชน์มาเป็นเวลานานจนความวิตกกังวลต่อการดูแลสุขภาพนั้นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
อีกทั้งยังอาจเป็นผลมาจากนิสัยรักความสมบูรณ์ (Perfectionist) การถูกล้อเลียนรูปร่างหรือน้ำหนักตัว และอาจเกี่ยวข้องกับการที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคการกินผิดปกติ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือเคยลดน้ำหนักมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงจากการกินอาหารคลีน เรามาดูกันว่าสัญญาณของภาวะคลั่งกินคลีนและผลเสียต่อสุขภาพนั้นมีอะไรบ้าง
สัญญาณของภาวะคลั่งกินคลีน
ผู้ที่ป่วยด้วยภาวะคลั่งกินคลีนอาจมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการออกไปกินอาหารนอกบ้านหรืออาหารที่ไม่ได้ทำเอง เนื่องจากกังวลว่าอาหารเหล่านั้นจะไม่คลีนมากพอ
- หมกมุ่นกับการกินคลีน วิตกกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของวัตถุดิบและคุณภาพของอาหารเป็นอย่างมากจนอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- ใช้เวลานานเมื่อต้องคิดว่าจะกินอะไรในแต่ละมื้อ เพราะต้องไตร่ตรองถึงคุณภาพอาหารอย่างถี่ถ้วน
- ตั้งกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการกินอาหารให้กับตนเอง และอาจวิตกกังวลว่าตนเองจะทำตามกฎเกณฑ์เหล่านั้นไม่ได้ในภายหลัง
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่คิดว่าไม่ดีต่อสุขภาพ หรือเลิกกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างสิ้นเชิง
- วิจารณ์หรือตัดสินรูปแบบการกินอาหารของผู้อื่น โดยอาจถึงขั้นแยกตัวออกจากผู้อื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับสถานการณ์ที่ผู้คนรอบข้างกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และอาจรู้สึกว่าตนเองดีกว่าผู้อื่นเพราะกินอาหารคลีน
- มีอาการของภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) เช่น น้ำหนักลด รู้สึกเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา เบื่ออาหาร แผลหายช้า อ่อนแรงหรือไม่มีสมาธิ
ภาวะคลั่งกินคลีนส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง
ภาวะคลั่งกินคลีนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านร่างกายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะทุพโภชนาการ ความผิดปกติในระบบย่อยอาหาร หัวใจเต้นช้า หรือภาวะโลหิตจางเนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ภาวะฮอร์โมนและแร่ธาตุไม่สมดุลในร่างกาย กระดูกเสื่อม หรืออาจมีอาการของภาวะทุพโภชนาการอย่างรุนแรงจนก่อให้เกิดภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ (Metabolic Acidosis) ได้
นอกจากนี้ สุขภาพจิตของผู้ที่มีภาวะนี้ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยอาจกินอาหารในปริมาณมากเกินไป รู้สึกหงุดหงิดเมื่อรูปแบบการกินอาหารไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ รู้สึกผิดหรือเกลียดตัวเองหากไม่ได้ทำตามข้อกำหนดด้านการกินของตนเอง สนใจสิ่งรอบข้างน้อยลง ประสิทธิภาพในการทำงานหรือการแก้ปัญหาลดลง และอาจปลีกตัวออกจากสังคมเนื่องจากรูปแบบการกินเป็นอุปสรรคในการเข้าสังคม
ทั้งนี้ หากสังเกตเห็นว่าตนเองอาจมีอาการของภาวะคลั่งกินคลีน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำแนวทางในการปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม โดยแพทย์จะชี้ให้เห็นถึงผลเสียของภาวะดังกล่าว และช่วยวางแผนการกินอาหารเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่มีภาวะนี้มีน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐานควบคู่ไปกับการมีสุขภาพดี