ความหมาย ภาวะทุพโภชนาการ
ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) เป็นภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารหรือพลังงานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม โดยครอบคลุมทั้งภาวะโภชนาการต่ำหรือภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำหนักตัวน้อยหรือรู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา และภาวะโภชนาการเกินหรือภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารในปริมาณที่มากเกินไปจนทำให้เกิดภาวะอ้วน ทั้งนี้ ภาวะทุพโภชนาการอาจส่งผลต่อทั้งสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ดังนั้น ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลควรใส่ใจสังเกตอาการผิดปกติและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
อาการของภาวะทุพโภชนาการ
ภาวะทุพโภชนาการทำให้เกิดอาการในลักษณะที่แตกต่างกันไปตามประเภท ดังนี้
ภาวะโภชนาการต่ำ
- น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีความอยากอาหารลดลง
- ผมร่วง ซีด
- ใจสั่น
- เวียนศีรษะ อ่อนแรง รู้สึกเพลียตลอดเวลา และอาจเป็นลมหมดสติ
- เจ็บป่วยง่าย ป่วยแล้วหายช้ากว่าปกติ
- แผลสมานช้า
- มีปัญหาในการย่อยอาหารและการหายใจ
- รู้สึกเสียว เจ็บคล้ายเข็มทิ่ม หรือชาที่ข้อต่อ
- ไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย
- มีอาการซึมเศร้าหรือรู้สึกหดหู่ใจ
- รู้สึกหนาวตลอดเวลา
- ผู้ป่วยเด็กอาจเจริญเติบโตช้า หรือมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
- มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ทำกิจกรรมต่าง ๆ ช้า หงุดหงิด หรือวิตกกังวลผิดปกติ เป็นต้น
ภาวะโภชนาการเกิน
- มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์
- มีไขมันส่วนเกินสะสมอยู่ในร่างกายปริมาณมาก
- หายใจติดขัด หายใจไม่คล่อง
- นอนกรนจากปัญหาเรื่องการหายใจ
- เหนื่อยง่าย
- ร้อนง่าย เหงื่อออกง่าย เหงื่อออกมาก
- อึดอัด เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก
- ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ยากลำบาก
ทั้งนี้ เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยบางรายอาจเคยชินกับอาการของโรคจนไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ ทำให้ไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม ดังนั้น หากมีอาการดังข้างต้น ควรเข้ารับการตรวจร่างกายจากแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้
สาเหตุของภาวะทุพโภชนาการ
ภาวะทุพโภชนาการอาจเกิดจากปัจจัยทางด้านสุขภาพและปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ดังนี้
ปัจจัยทางสุขภาพ
- โรคเกี่ยวกับความผิดปกติด้านการกินอย่างโรคอะนอเร็กเซียหรือโรคคลั่งผอม
- โรคหรือภาวะที่ส่งผลต่อการดูดซึมและการย่อยอาหารของร่างกาย เช่น โรคโครห์น และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดมีแผล เป็นต้น
- อาการป่วยเรื้อรังอย่างโรคมะเร็ง โรคตับ และโรคเกี่ยวกับปอด ซึ่งอาจทำให้ความอยากอาหารลดลง รู้สึกไม่สบายตัว และทำให้มีอาการอาเจียนหรือท้องร่วง
- ปัญหาทางจิตใจอย่างภาวะซึมเศร้าหรือโรคจิตเภท ซึ่งอาจส่งผลต่ออารมณ์และทำให้ความอยากอาหารลดลง
- ภาวะสมองเสื่อม ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยลืมรับประทานอาหารหรือไม่ดูแลสุขภาพของตนเอง
- ปัญหาทางทันตกรรม ซึ่งผู้ป่วยอาจพบปัญหาเกี่ยวกับการเคี้ยวและการกลืนอาหาร ทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้อย่างเต็มที่
- ภาวะที่ร่างกายต้องการพลังงานมากขึ้น เช่น ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดหรือเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ผู้ที่มีแผลบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกไฟไหม้ หรือผู้ที่มีอาการสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น
- ข้อจำกัดในการรับประทานอาหาร เนื่องจากผู้ที่ประสบปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการรับสารอาหารบางอย่าง เช่น เกลือ ไขมัน โปรตีน หรือน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
- การใช้ยาบางชนิดที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ส่งผลต่อการรับประทานอาหาร เช่น รู้สึกเบื่ออาหาร ท้องร่วง หรือคลื่นไส้ เป็นต้น
- การดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารและการดูดซึมสารอาหารในร่างกาย
ปัจจัยอื่น ๆ
- มีฐานะยากจน หรืออยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้
- อาศัยอยู่เพียงลำพัง หรือปลีกตัวออกจากสังคม
- มีความรู้ในเรื่องการทำอาหารหรือโภชนาการค่อนข้างจำกัด
การวินิจฉัยภาวะทุพโภชนาการ
ในเบื้องต้น แพทย์อาจสอบถามเกี่ยวกับอาการ และประวัติทางการแพทย์อื่น ๆ และสอบถามเกี่ยวกับอาหารที่รับประทาน ลักษณะหรือพฤติกรรมการรับประทานอาหาร รวมทั้งการดื่มแอลกฮอล์ การใช้ยา และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ นอกจากนี้ แพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังนี้
- การตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกายมีจุดประสงค์เพื่อตรวจดูความผิดปกติบางอย่างของร่างกายที่อาจบ่งบอกถึงภาวะนี้อย่างลักษณะของเนื้อเยื่อในบริเวณต่าง ๆ อย่างผม ผิวหนัง หรือตุ่มของลิ้น ซึ่งอาจบ่งบอกถึงภาวะทุพโภชนาการได้ นอกจากนี้ แพทย์อาจมีการวัดสัดส่วนร่างกายเพื่อประเมินภาวะนี้ โดยแพทย์อาจประเมินจากน้ำหนัก ส่วนสูง ไขมันใต้ผิวหนังบริเวณไตรเซ็บ และกล้ามเนื้อบริเวณจุดกึ่งกลางของแขนท่อนบน - การตรวจเลือด
แพทย์อาจตรวจดูระดับโปรตีนในเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ โดยโปรตีนเหล่านี้มีผลต่อการลำเลียงสารไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งโปรตีนที่แพทย์สามารถใช้ในการประเมินภาวะนี้ เช่น อัลบูมิน พรีอัลบูมิน ทรานสเฟอร์ริน โปรตีนตัวพาไทรอกซิน และโปรตีนตัวพาเรตินอล เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจประเมินระดับวิตามินและเกลือแร่ร่วมด้วย
การรักษาภาวะทุพโภชนาการ
การรักษาภาวะทุพโภชนาการจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับสุขภาพและความรุนแรงของอาการ โดยมีวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
แพทย์อาจแนะนำผู้ที่ประสบภาวะโภชนาการต่ำรับประทานอาหารว่างระหว่างมื้ออาหาร อาหารที่ให้แคลอรี่และโปรตีนสูงแก่ร่างกาย รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่สูง สำหรับผู้ที่ประสบภาวะโภชนาการเกินอาจหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือสูง เนื่องจากอาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ โดยผู้ป่วยอาจขอคำปรึกษาจากนักโภชนาการด้วย เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารให้ได้รับสารอาหารที่เหมาะสม - การรับประทานอาหารเสริม
ในบางกรณี แพทย์หรือนักโภชนาการอาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเสริมเพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารชนิดต่าง ๆ ในปริมาณที่เพียงพอ เช่น วิตามิน และเกลือแร่ เป็นต้น - การออกกำลังกาย
แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่ประสบภาวะโภชนาการเกินออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันส่วนเกินที่สะสมอยู่ในร่างกาย อย่างไรก็ตาม ควรมีการปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความพร้อมของสภาพร่างกายและวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสม - การดูแลพิเศษ
ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือและการดูแลเป็นพิเศษ เช่น ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ และผู้ป่วยเด็ก เป็นต้น โดยผู้ป่วยอาจต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเมื่ออยู่ที่บ้าน หรืออาจเข้ารับการทำกิจกรรมบำบัด สำหรับผู้ป่วยเด็ก แพทย์อาจพูดคุยกับผู้ปกครองและแนะนำวิธีการดูแลที่เหมาะสม รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงปัญหาในการรับประทานอาหารของเด็ก - การใช้ยา
ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่ประสบภาวะโภชนาการเกินรับประทานยาลดน้ำหนักอย่างออริสแตท ซึ่งยาตัวนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซึมไขมันจากอาหารที่กินประมาณ 1 ใน 3 ส่วน แต่จะส่งผ่านไขมันไปยังระบบขับถ่ายแทน อย่างไรก็ตาม การใช้ยาลดน้ำหนักต้องใช้ภายใต้ใบสั่งแพทย์เท่านั้น และควรรับประทานยาตามที่กำหนด - การให้สารอาหารผ่านทางสายยาง
สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหาร แพทย์อาจแนะนำให้มีการให้สารอาหารผ่านทางสายยางเพื่อทดแทนสารอาหารที่ขาดไป ซึ่งอาจทำได้โดยสอดสายยางผ่านจมูกลงไปยังกระเพาะอาหาร หรือสอดสายยางผ่านผิวหนังบริเวณกระเพาะอาหารเข้าไปยังกระเพาะอาหารโดยตรง นอกจากนี้ อาจให้สารอาหารผ่านทางหลอดเลือดดำได้เช่นกัน - การผ่าตัด
แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่ประสบภาวะโภชนาการเกินอย่างรุนแรงและจำเป็นต้องรักษาผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่อ้วนรุนแรงร่วมกับมีความดันโลหิตสูงและเบาหวานประเภทที่ 2 โดยวิธีการผ่าตัดจะเป็นการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารของผู้ป่วย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างต่อเนื่อง หากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำทันที
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะทุพโภชนาการ
ภาวะทุพโภชนาการอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางร่างกาย เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง แผลหายช้า ง่วงซึม ไข้สูง และมีอาการอาเจียนที่ไม่สามารถควบคุมได้ การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันบกพร่องและเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งอาจประสบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างโรคอะนอเร็กเซียหรือโรคคลั่งผอม อาการเบื่ออาหาร ภาวะตัวเย็นเกิน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง รอยโรคที่ผิวหนัง ภาวะโลหิตจาง ภาวะขาดน้ำ และอาการชัก นอกจากนี้ ภาวะนี้อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วย
สำหรับผู้ที่ประสบภาวะโภชนาการเกินหรือภาวะอ้วน อาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ประจำเดือนมาไม่ปกติ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ภาวะมีบุตรยาก หอบหืด ปวดตามกระดูกข้อต่อ ปวดหลัง ข้อเสื่อม มีนิ่วในถุงน้ำดี โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน และโรคมะเร็งต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาวะนี้อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาด้านการใช้ชีวิตในสังคม คุณภาพชีวิตต่ำ กระบวนการทางความคิดมีประสิทธิภาพลดลงและต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้นด้วย โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกโดดเดี่ยว เก็บตัว แยกตัว และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
การป้องกันภาวะทุพโภชนาการ
คนทั่วไปอาจป้องกันภาวะทุพโภชนาการได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์สูงอย่างผักหรือผลไม้ ข้าว ขนมปัง มันฝรั่ง ธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ ถั่ว และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีไขมันที่เป็นของแข็ง น้ำตาล และเกลือในปริมาณที่เหมาะสม
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง
- ผู้ที่รู้สึกอิ่มเร็วหลังจากรับประทานอาหารเข้าไปได้ไม่นานอาจเลือกอาหารว่างที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารและพลังงานที่เพียงพอในแต่ละวัน
- ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกชนิด เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่ส่งผลต่อการรับประทานอาหาร เช่น ทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร ท้องร่วง หรือคลื่นไส้ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอลล์ และการใช้สารเสพติด
- เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารกับเพื่อนหรือครอบครัว เป็นต้น
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพใด ๆ ที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทันที โดยแพทย์อาจแนะนำให้ควบคุมการรับประทานอาหารมากเป็นพิเศษ หรืออาจให้รับประทานอาหารเสริม เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน