ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง (Hallux Valgus)

ความหมาย ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง (Hallux Valgus)

Hallux Valgus หรือภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง คือสภาวะหัวแม่เท้าผิดรูปที่เกิดจากกระดูกปูดออกมาจากบริเวณข้อต่อของโคนนิ้วหัวแม่เท้า เนื่องจากนิ้วหัวแม่เท้าถูกเบียดให้เอนไปชิดกับนิ้วชี้ทำให้ข้อต่อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้ายื่นออกมา โดยบริเวณที่มีอาการอาจมีลักษณะบวมแดงและทำให้รู้สึกเจ็บปวด

ในบางกรณีอาจไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด แต่เมื่อเวลาผ่านไป Hallux Valgus อาจทำให้นิ้วเท้าเบียดชิดติดกันจนผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดได้เช่นกัน รวมทั้งอาจส่งผลต่อการผิดรูปของเท้าอย่างถาวร ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

hallux-valgus

อาการของ Hallux Valgus

อาการและสัญญาณบ่งบอกถึง Hallux Valgus มีดังนี้

  • โคนนิ้วหัวแม่เท้าด้านนอกปูดออก
  • มีอาการบวมแดงหรือปวดบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า
  • หนังบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าหนาขึ้น
  • นิ้วหัวแม่เท้าเอนไปทางนิ้วอื่น
  • มีอาการปวดต่อเนื่องหรือปวดเป็นพัก ๆ
  • มีตาปลาเกิดขึ้นหากมีการเสียดสีระหว่างนิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วชี้
  • ขยับนิ้วหัวแม่เท้าหรือเดินได้ลำบาก
  • ในบางกรณี อาจเกิดการปูดบวมที่บริเวณนิ้วก้อยเท้า (Bunionettes) ได้

โดยทั่วไป Hallux Valgus มักไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเกี่ยวกับเท้าเพื่อทำการรักษาต่อไป

  • โคนนิ้วหัวแม่เท้าปูดนูนอย่างเห็นได้ชัด
  • ปวดนิ้วหัวแม่เท้าหรือเท้า หรืออาการไม่ดีขึ้น
  • ขยับหรือเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่เท้าหรือเท้าได้ลดลง
  • ไม่สามารถหารองเท้าที่พอดีกับเท้าได้

สาเหตุของ Hallux Valgus

สาเหตุของการเกิดภาวะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด Hallux Valgus ประกอบด้วย

  • การถ่ายทอดลักษณะรูปเท้าทางพันธุกรรม
  • การได้รับบาดเจ็บบริเวณเท้าหรือการได้รับแรงกดทับต่อเท้ามากกว่าปกติ
  • ความผิดปกติของรูปเท้าตั้งแต่กำเนิด เช่น ผู้ที่มีเท้าแบนอาจเสี่ยงต่อการเกิด Hallux Valgus ได้สูงกว่าคนทั่วไป
  • โรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น โรคข้ออักเสบ โดยเฉพาะโรครูมาตอยด์

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การยืนเป็นระยะเวลานาน การสวมรองเท้าส้นสูง หรือการสวมรองเท้าที่คับแน่นและบีบหน้าเท้าจนเกินไปก็อาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงได้ โดยทั่วไป Hallux Valgus พบได้บ่อยในเพศหญิง ในบางกรณีอาจเกิดในช่วงวัยรุ่น โดยมักพบในเด็กหญิงอายุระหว่าง 10-15 ปี

การวินิจฉัย Hallux Valgus

แพทย์จะวินิจฉัยอาการ Hallux Valgus ด้วยการสังเกตลักษณะเท้าภายนอกของผู้ป่วยก็อาจเพียงพอแล้ว เนื่องจากเป็นภาวะที่เห็นอาการได้จากลักษณะภายนอกที่ปรากฏ โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยทดลองขยับนิ้วเท้าไปมาเพื่อวินิจฉัยการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติบริเวณนิ้วเท้า หรืออาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์เพื่อดูรายละเอียดของอาการบาดเจ็บหรือเท้าผิดรูป รวมไปถึงอาจใช้วิธีการตรวจเลือดเพื่อยืนยันว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคข้ออักเสบ

การรักษา Hallux Valgus

การรักษาจะแตกต่างกันตามความรุนแรงและอาการที่เกิดขึ้น โดยสามารถแบ่งวิธีรักษาออกได้เป็น 2 วิธี ดังนี้

การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด

เป็นวิธีการรักษาเบื้องต้นเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและลดแรงกดลงบริเวณที่มีอาการ ดังนี้

  • เลือกสวมใส่รองเท้าที่พอดีและมีพื้นที่ด้านหน้าเพียงพอที่ไม่ทำให้นิ้วเท้าเบียดแน่นเกินไป
  • ใช้แผ่นหรือเทปแปะนิ้วเท้าเพื่อช่วยปรับให้นิ้วเท้ากลับไปอยู่ในตำแหน่งปกติและช่วยลดแรงกดบริเวณที่กระดูกที่ปูดนูนออกมาด้วย
  • รับประทานยาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) อาทิเช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen)
  • สวมอุปกรณ์พยุงเท้าเพื่อช่วยประคองบริเวณที่มีอาการ
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดความเจ็บปวด อย่างการยืนเป็นระยะเวลานาน
  • ประคบเย็นบริเวณที่มีอาการหรือเมื่อใช้เท้าเป็นเวลานานเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหรือบวม

การรักษาด้วยการผ่าตัด

แพทย์จะไม่แนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเพื่อจุดประสงค์ในการตกแต่งรูปเท้าให้สวยงาม แต่จะใช้ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการเจ็บปวดมากขึ้นหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาจใช้วิธีเพียงวิธีเดียวหรือหลายวิธีต่อไปนี้ร่วมกันก็ได้

  • การตัดกระดูกส่วนเกินออกเพื่อจัดนิ้วเท้าให้กลับไปสู่ตำแหน่งปกติ
  • การผ่าตัดเนื้อเยื่อบริเวณนิ้วหัวแม่เท้าที่มีอาการบวมออกไป
  • การผ่าตัดเพื่อจัดเรียงกระดูกบริเวณปลายเท้าเพื่อแก้ไขการเอียงผิดรูปของเท้า
  • การผ่าตัดเชื่อมกระดูกในบริเวณข้อนิ้วที่มีอาการ

โดยส่วนมาก การรักษา Hallux Valgus ด้วยการผ่าตัดมักเสร็จสิ้นภายใน 1 วัน ซึ่งขั้นตอนการรักษาจะขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวม อายุ การทำกิจกรรม และความผิดปกติของรูปเท้าของผู้ป่วย ระยะเวลาการพักฟื้นก็จะแตกต่างกันไปตามวิธีการรักษาด้วย โดยหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยไม่ควรสวมรองเท้าที่คับเกินไปหรือบีบหน้าเท้า เพื่อป้องกันการเกิด Hallux Valgus ซ้ำอีกในภายหลัง อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วย Hallux Valgus ที่มีอาการในช่วงวัยรุ่น เนื่องจากยังมีการเจริญเติบโตที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของกระดูกได้

ภาวะแทรกซ้อนของ Hallux Valgus

ภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้หาก Hallux Valgus ไม่ได้รับการรักษา เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะถุงข้อต่อบวมอักเสบ (Bursitis) ซึ่งเกิดจากการอักเสบและบวมขึ้นของถุงน้ำบริเวณข้อต่อ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดและอาจทำให้เคลื่อนไหวข้อต่ออื่น ๆ บริเวณนิ้วเท้าไม่สะดวก

นอกจากนี้ Hallux Valgus อาจทำให้เกิดภาวะนิ้วเท้าหรือเท้าผิดรูป นิ้วเท้าแข็ง หรือมีอาการปวดเรื้อรังบริเวณเท้าหรือนิ้วเท้าได้ ทั้งนี้ หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติและมีอาการของโรคเบาหวานหรือสัญญาณบ่งชี้ของการอักเสบร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

การป้องกัน Hallux Valgus

แม้จะยังไม่ทราบวิธีการป้องกันที่แน่ชัด แต่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิด Hallux Valgus ได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • สวมรองเท้าที่พอดีกับเท้าโดยเลือกรองเท้าที่มีพื้นที่ด้านหน้าเพียงพอสำหรับนิ้วเท้าและเลือกรองเท้าที่เหมาะกับรูปเท้าของตนเอง
  • ผู้หญิงควรหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูงและรองเท้าที่หัวแหลมจนเกินไป
  • ดูแลรักษารูปเท้าอยู่เสมอเนื่องจาก Hallux Valgus สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวเคยเป็นภาวะนี้
  • บริหารนิ้วเท้าเป็นประจำ เช่น เหยียดและงอนิ้วเท้าสลับไปมา หรืองอนิ้วเท้าเพื่อหยิบสิ่งของขึ้นมาจากพื้น