ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก

ความหมาย ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก

ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก (Cachexia) คือ ภาวะที่ร่างกายสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ กระดูก และไขมัน จนส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างมาก อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงในระยะสุดท้าย เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคติดเชื้อเอชไอวี ภาวะหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจวาย เป็นต้น ซึ่งร่างกายของผู้ป่วยจะอ่อนแออย่างมากและติดเชื้อได้ง่าย จนอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น

อาการของภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก

ส่วนมากผู้ป่วยมักมีน้ำหนักตัวลดลงและสูญเสียกล้ามเนื้อ จนในบางรายอาจดูผอมมาก แต่บางรายก็ยังมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยภาวะนี้จะต้องมีน้ำหนักลดลงอย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ภายในระยะเวลา 12 เดือนหรือน้อยกว่า โดยมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
  • มวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง
  • ไม่อยากอาหาร ไม่รู้สึกหิว หรือการรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป ทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้
  • ดัชนีมวลกายต่ำเมื่อคำนวณจากความสูง น้ำหนัก และไขมัน
  • มีระดับโปรตีนและอัลบูมินในเลือดต่ำ
  • ผลการตรวจเลือดพบว่ามีระดับการอักเสบสูง

1834 ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก rs

สาเหตุของภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก

ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูกเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ป่วยภาวะร้ายแรงในระยะสุดท้าย เช่น โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคซิสติกไฟโบรซิส โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคที่มีผลต่อระบบทางเดินอาหารและการดูดซึมอาหาร เป็นต้น โดยผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักตัวลดลงเองโดยไม่ได้ตั้งใจจะลด และไม่ใช่เพราะการควบคุมอาหารหรือการออกกำลังกาย แต่เป็นผลจากภาวะความเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุ ในขณะเดียวกันระบบเผาผลาญในร่างกายของผู้ป่วยก็เกิดการเปลี่ยนแปลงจนทำให้สูญเสียกล้ามเนื้อในร่างกายด้วย หรืออาจเกิดจากการอักเสบและสารที่เกิดขึ้นเมื่อมีเนื้องอก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความอยากอาหารและทำให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรี่เร็วกว่าปกติ

ทั้งนี้ นักวิจัยเชื่อว่าภาวะผอมหนังหุ้มกระดูกเป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองของร่างกาย เพื่อต่อสู้กับภาวะเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น โดยเมื่อมีอาการเจ็บป่วยบางอย่างเกิดขึ้น อาจส่งผลให้ระดับสารอาหารที่สะสมไว้ในร่างกายลดน้อยลง ร่างกายจึงสลายกล้ามเนื้อและไขมันเพื่อให้มีพลังงานไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ซึ่งน้ำหนักที่ลดลงและการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายอ่อนแอลงและเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

การวินิจฉัยภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก

แพทย์ยังไม่มีวิธีการตรวจภาวะนี้แบบเฉพาะเจาะจง แต่โดยส่วนมากแพทย์จะตรวจหาปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้น้ำหนักตัวของผู้ป่วยลดลง และอาจตรวจเลือดหรือตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วย เพื่อดูว่ามีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่

การรักษาภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก

การรักษาภาวะนี้จะมุ่งเน้นไปที่การประคับประคองอาการและช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น โดยสามารถทำได้ ดังนี้

  • ควบคุมการรับประทานอาหาร ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานให้เหมาะสมกับภาวะเจ็บป่วยที่เป็นอยู่
  • ออกกำลังกาย โดยจะเน้นวิธีการออกกำลังกายที่ช่วยสร้างมวลกล้ามเนื้อ และช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • รับประทานอาหารเสริม แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเสริม เพื่อให้ได้รับสารอาหารสำคัญอย่างครบถ้วน เช่น วิตามินซี วิตามินดี โฟเลต เป็นต้น
  • ใช้ยารักษา เช่น ใช้ยาโดรนาบินอล เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้ เพิ่มความอยากอาหาร และช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น ใช้ยาลดการอักเสบ หรือใช้ยามีเจสทรอล เพื่อกระตุ้นให้มีความอยากรับประทานอาหาร เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก

ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูกอาจมีความรุนแรงและส่งผลต่อการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะนี้ด้วย โดยผู้ป่วยอาจตอบสนองต่อการรักษาน้อยลง อย่างผู้ป่วยโรคมะเร็งอาจไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือการรักษาอื่น ๆ ที่จำเป็นได้ ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตและอาการต่าง ๆ แย่ลง รวมทั้งทำให้ภูมิต้านทานของผู้ป่วยลดลงและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย    

การป้องกันภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก

การป้องกันภาวะนี้อาจขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุ โดยผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาและตรวจอาการอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งดูแลสุขภาพร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์ นอกจากนี้ การออกกำลังกายและการปรับการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการที่เหมาะสม อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะผอมหนังหุ้มกระดูกที่เกิดจากโรคมะเร็งได้