ความหมาย ภาวะรกเกาะแน่น (Placenta Accreta)
Placenta Accreta หรือภาวะรกเกาะแน่น เป็นอาการที่รกจะเจริญลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อผนังมดลูกมากผิดปกติ ส่งผลให้รกฝังแน่นจนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะรกติดหลังคลอด ซึ่งอาจทำให้มีอาการเลือดออกอย่างรุนแรงหลังคลอดและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
โดยทั่วไป ภาวะ Placenta Accreta จะไม่แสดงอาการ แต่แพทย์จะตรวจพบความผิดปกติได้จากการทำอัลตราซาวด์ ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุและวิธีการป้องกันภาวะ Placenta Accreta ได้อย่างแน่ชัด แต่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหลังการคลอด
อาการของ Placenta Accreta
ผู้ที่มีภาวะ Placenta Accreta มักไม่แสดงอาการระหว่างตั้งครรภ์ โดยแพทย์อาจพบภาวะนี้ได้ขณะทำการอัลตราซาวด์ตามปกติ ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกทางช่องคลอด (Vaginal Bleeding) ในไตรมาสที่สามหรือช่วงอายุครรภ์ 27–40 สัปดาห์
โดยปกติแล้วรกจะหลุดออกจากผนังมดลูกหลังคลอดบุตร แต่ผู้ที่มีภาวะ Placenta Accreta จะมีรกฝังแน่นในผนังมดลูกแม้จะคลอดลูกแล้ว ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียเลือดอย่างรุนแรง เกิดภาวะรกแทรกติดหรือภาวะรกแทรกตัวลึกตลอดความหนาของกล้ามเนื้อมดลูก ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์โดยด่วนหากพบว่ามีอาการเลือดออกทางช่องคลอดอย่างรุนแรง เช่น มีเลือดออกเต็มผ้าอนามัยภายในระยะเวลาสั้น ๆ หรือมีเลือดออกในปริมาณมากที่มาพร้อมกับอาการปวดท้อง เป็นต้น
สาเหตุของ Placenta Accreta
ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของภาวะ Placenta Accreta ได้ชัดเจน แต่คาดการณ์ว่าอาจเกิดจากแผลเป็นหรือความผิดปกติอื่น ๆ บริเวณเยื่อบุมดลูก และอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น
- การผ่าคลอด (Cesarean Section) การผ่าตัดคลอดหลายครั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Placenta Accreta มากยิ่งขึ้น
- ภาวะรกเกาะต่ำ เกิดจากรกเกาะอยู่ในบริเวณมดลูกช่วงล่างจนปิดกั้นปากมดลูก โดยพบว่า 5–10 เปอร์เซ็นต์ของภาวะรกเกาะแน่นเกิดในผู้ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ
- เคยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้องอกบริเวณมดลูก และเกิดแผลเป็นในบริเวณดังกล่าว
นอกจากนี้ ภาวะ Placenta accreta อาจเกี่ยวข้องกับตำแหน่งของรก การขูดมดลูก การตั้งครรภ์ครั้งก่อน ๆ แม่มีอายุมากกว่า 35 ปี และผู้ที่เคยผ่าตัดบริเวณมดลูก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Placenta Accreta สูงกว่าปกติ
การวินิจฉัย Placenta Accreta
โดยทั่วไป แพทย์จะตรวจพบภาวะ Placenta Accreta จากการอัลตราซาวด์ในระหว่างการตั้งครรภ์ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับค่าโปรตีนบางชนิด หรือการตรวจทางภาพถ่าย อย่างการทำอัลตราซาวด์หรือการทำ MRI เพื่อตรวจดูระดับการเกาะแน่นของรกต่อผนังมดลูก
นอกจากนี้ แพทย์จะแนะนำให้สตรีมีครรภ์ตรวจการฝังตัวของรกโดยละเอียดหากมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Placenta Accreta อย่างผู้ที่มีภาวะรกเกาะต่ำหรือผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดบริเวณมดลูก
การรักษา Placenta Accreta
หากสงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะ Placenta Accreta แพทย์และผู้ผดุงครรภ์จะวางแผนการคลอดร่วมกับผู้ป่วยเพื่อให้ทารกปลอดภัย ผู้ป่วยที่มีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงอายุครรภ์ 27–40 สัปดาห์ แพทย์จะแนะนำให้นอนพักหรือรักษาตัวในโรงพยาบาล
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะรกเกาะแน่นเป็นบริเวณกว้าง แพทย์จะผ่าคลอดและผ่าตัดมดลูกไปพร้อมกัน เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากการเสียเลือดมากขณะกำจัดรกออกจากมดลูก โดยก่อนการผ่าตัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพูดคุยถึงความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากอาจต้องให้เลือดกับผู้ป่วยในระหว่างการคลอด หรือผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาลหลังการคลอดบุตรหากมีเลือดออกอย่างรุนแรง
ในระหว่างการผ่าตัด แพทย์จะทำการผ่าคลอดทางหน้าท้องก่อนแล้วจึงผ่าตัดมดลูกพร้อมกับรกที่ยังเกาะติดอยู่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกหลังการผ่าตัด มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังสามารถเก็บมดลูกที่มีรกเกาะไว้ได้ โดยจะปล่อยให้รกค่อย ๆ สลายตัวไปเอง
ทั้งนี้ ภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการคลอดบุตร สุขภาพของบุตรหรือการตั้งครรภ์ในอนาคต ซึ่งผู้ป่วยสามารถลดความวิตกกังวลได้โดยการพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำความเข้าใจภาวะ Placenta Accreta เตรียมความพร้อมก่อนการผ่าคลอดและการผ่าตัด รวมไปถึงดูแลตนเองด้วยการหากิจกรรมทำเพื่อความผ่อนคลาย
ภาวะแทรกซ้อนของ Placenta Accreta
Placenta Accreta อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เลือดออกทางช่องคลอดอย่างรุนแรงจนต้องรักษาด้วยการให้เลือด ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย ภาวะปอดล้มเหลวหรือภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบาก (Respiratory Distress Syndrome : RDS) ไตวายหรือคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
นอกจากนี้ กระบวนการผ่าตัดก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น แพ้ยาชา เกิดลิ่มเลือด แผลติดเชื้อหรือมีอาการบาดเจ็บบริเวณแผล มีเลือดออกมากเกินไปและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้รับความเสียหาย
ในกรณีที่แพทย์ยังคงเก็บมดลูกไว้และให้รกค่อย ๆ สลายตัวไปเอง อาจทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดอย่างรุนแรงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เกิดการติดเชื้อ มีลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดหัวใจบริเวณปอดหรือเป็นโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ซึ่งเสี่ยงต่อการผ่าตัดรักษาและอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต
การป้องกัน Placenta Accreta
Placenta Accreta เป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่การได้รับการวินิจฉัยภาวะ Placenta Accreta ตั้งแต่ระยะแรกอาจช่วยหลีกเลี่ยงการผ่าตัดมดลูกและป้องกันการเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมากได้ สำหรับผู้ที่เคยผ่าคลอดทางหน้าท้องหรือมีภาวะรกเกาะต่ำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะรกเกาะแน่นสูง