ความหมาย ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ
Hypogonadism หรือฮอร์โมนเพศชายต่ำ เป็นภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้มีส่วนช่วยในการสร้างและรักษามวลกล้ามเนื้อ มวลกระดูก อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลิกทางเพศ เมื่อขาดฮอร์โมนชนิดนี้จะส่งผลให้ร่างกายไม่มีแรง ความรู้สึกและอารมณ์ทางเพศลดลง และมีการผลิตอสุจิน้อยลงในเพศชายซึ่งนำไปสู่ภาวะมีลูกยากได้ โดยภาวะนี้เกิดจากการที่ต่อมใต้สมองหรือต่อมเพศเกิดความผิดปกติ จึงทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศได้อย่างเพียงพอ ซึ่งอาจพบภาวะนี้ได้ตั้งแต่เกิดหรือในช่วงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และยังเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงด้วย
อาการของ Hypogonadism
ลักษณะของภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ หรือ Hypogonadism แบ่งออกเป็น 2 ขั้น ดังนี้
- Primary Hypogonadism หรือ Hypergonadotropin Hypogonadism ตามปกติต่อมเพศจะมีหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนเพศชายและอสุจิเมื่อได้รับสัญญาณที่มีชื่อว่าโกนาโดโทรปิน ซึ่งถูกส่งมาจากต่อมใต้สมอง แต่เมื่อต่อมเพศเกิดความผิดปกติขึ้น จะทำให้มีการตอบสนองต่อสัญญาณเหล่านั้นได้ไม่ดีนัก และเมื่อฮอร์โมนเพศไม่ถูกสร้างขึ้น สมองก็จะยิ่งหลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปินออกมามากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ต่อมเพศผลิตฮอร์โมนเพศออกมาเพียงพอ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีฮอร์โมนโกนาโดโทรปินในเลือดสูง
- Secondary Hypogonadism หรือ Hypogonadotropic Hypogonadism โดยปกติแล้วต่อมไฮโปทาลามัสนั้นจะสร้างโกนาโดโทรปินรีลีสซิ่งฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองผลิตฟอลลิเคิลสติมิวเลติงฮอร์โมนและลูทิไนซิงฮอร์โมน ซึ่งลูทิไนซิงฮอร์โมนจะทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังต่อมเพศเพื่อผลิตฮอร์โมนเพศขึ้น แต่ในขั้นนี้ต่อมใต้สมองและต่อมไฮโปทาลามัสอาจเกิดความผิดปกติ จึงทำให้ไม่สามารถกระตุ้นและส่งสัญญาณได้ ต่อมเพศจึงไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศได้ด้วยเช่นกัน โดยผู้ที่อยู่ในขั้นนี้จะมีฮอร์โมนเพศชายต่ำและผลิตอสุจิได้น้อยลง ซึ่งส่วนใหญ่มักพบเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ตามพัฒนาการปกติ
ทั้งนี้ เมื่อฮอร์โมนเพศชายในร่างกายลดต่ำลงจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติได้ทั้งด้านร่างกายและอารมณ์ โดยความรุนแรงของอาการนั้นขึ้นอยู่กับช่วงวัยและปริมาณของฮอร์โมนเพศชายในร่างกายด้วย ซึ่งอาการของภาวะ Hypogonadism อาจมีลักษณะที่แบ่งไปตามช่วงวัยที่พบ ดังนี้
ทารกในครรภ์ที่มีโครโมโซมเป็นเพศชาย
ทารกในครรภ์อาจเกิดความผิดปกติของอวัยวะเพศ เช่น อวัยวะเพศชายมีการพัฒนาที่ช้าและบกพร่อง อวัยวะเพศของทารกดูกำกวม เมื่อดูภายนอกไม่สามารถบอกเพศชายหญิงได้อย่างชัดเจน หรือทารกที่มีโครโมโซมเป็นเพศชายอาจมีอวัยวะเพศคล้ายกับเพศหญิงแทน เป็นต้น
ผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
การขาดฮอร์โมนในช่วงนี้ส่งผลต่อการพัฒนาร่างกายเป็นอย่างมาก เช่น อวัยวะเพศและระบบสืบพันธุ์มีความบกพร่อง เกิดขนตามร่างกายในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามวัย มวลและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมีการพัฒนาน้อยลง เป็นต้น นอกจากนี้ อาจพบด้วยว่าการเจริญเติบโตของแขนและขามีขนาดไม่สัมพันธ์กับลำตัว และเสียงอาจไม่ทุ้มต่ำเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกัน
ผู้ใหญ่
อาจมีความผิดปกติในการเกิดผมและเส้นขน โดยใช้เวลาในการงอกนานขึ้นในจำนวนที่น้อยลง และอาจพบปัญหาในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ รวมถึงภาวะมีลูกยากด้วย นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ที่เผชิญกับภาวะนี้อาจสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ มวลกระดูก และความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูก โดยในบางรายอาจมีประสาทรับกลิ่นที่ลดน้อยลง
นอกจากนี้ ในช่วงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และวัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยอาจมีบางอาการที่เกิดขึ้นร่วมกัน เช่น ฮอร์โมนเพศชายในร่างกายต่ำและผลิตอสุจิได้น้อยลง ซึ่งเป็นอาการหลักของโรคนี้ และนำไปสู่อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ อาจมีอาการร้อนวูบวาบตามร่างกาย มีความรู้สึกและอารมณ์ทางเพศน้อยลง อารมณ์อ่อนไหวฉุนเฉียวง่าย รวมทั้งอาจเกิดภาวะผู้ชายมีนมที่อาจส่งผลต่อการเข้าสังคมได้ด้วย เป็นต้น
ส่วนอาการของภาวะ Hypogonadism ในเพศหญิงนั้น มีอาการผิดปกติที่อาจพบได้ เช่น ความรู้สึกทางเพศลดต่ำลง ประจำเดือนขาดและไม่ต่อเนื่อง หน้าอกมีความผิดปกติและพัฒนาช้า มีขนตามร่างกายลดน้อยลง มีน้ำนมไหลผิดปกติ รวมทั้งอาจมีอาการร้อนวูบวาบตามร่างกายด้วย เป็นต้น
สาเหตุของ Hypogonadism
ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเกิดจากการที่ต่อมเพศทำงานผิดปกติ จึงทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศได้น้อยลง หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของสมองที่ไม่สามารถสั่งการไปยังต่อมเพศได้ โดยความผิดปกติทั้ง 2 รูปแบบนี้อาจมีสาเหตุที่มาที่แตกต่างกัน เช่น โรคและการเจ็บป่วยต่าง ๆ การบาดเจ็บ รวมถึงอุบัติเหตุที่สร้างความเสียหายแก่บริเวณอัณฑะหรือสมอง เป็นต้น
โดยแบ่งสาเหตุการเกิดตามขั้นของภาวะ Hypogonadism ได้ดังนี้
สาเหตุของ Primary Hypogonadism หรือภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำจากความผิดปกติของต่อมเพศ
- การเจ็บป่วยจากโรคที่เป็นแต่กำเนิด เช่น กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ อัณฑะไม่ลงถุงหรืออัณฑะค้าง เส้นเลือดดำอัณฑะขอด ภาวะบกพร่องในกล้ามเนื้อ (Mytonic Dystrophy) ยีนกลายพันธุ์ และโครโมโซมผิดปกติ เป็นต้น
- การเจ็บป่วยจากโรคและภาวะอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคคางทูม โรคแพ้ภูมิตัวเองอย่างโรคแอดดิสัน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะอัณฑะบิดขั้ว ภาวะธาตุเหล็กเกิน โรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ และโรคที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง เป็นต้น
- ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง แม้การฉายรังสีหรือการทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งมักส่งผลกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนเพศและอสุจิเพียงชั่วคราว แต่อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นหมันอย่างถาวรได้
- การใช้สารหรือยาบางชนิด เช่น การใช้ยาคีโตโคนาโซล ยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ เมทาโดน ไซโปรเตอโรน อนาบอลิคสเตียรอยด์ สไปโรโนแลคโตน ฮอร์โมนคอร์ติซอล และการใช้ยาเสพติดอย่างกัญชา เป็นต้น
- การผ่าตัดหรือการบาดเจ็บบริเวณอัณฑะ รวมทั้งการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์
สาเหตุของ Secondary Hypogonadism หรือภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำจากความผิดปกติของต่อมใต้สมอง
- การเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดขึ้นแต่กำเนิด เช่น กลุ่มอาการขาดฮอร์โมน กลุ่มอาการเพรเดอร์ วิลลี่ กลุ่มอาการลอร์เรนซ์ มูน กลุ่มอาการบาร์เดท์ บีเดิล และโรคเกาเชอร์ เป็นต้น
- การเจ็บป่วยจากโรคและภาวะอื่น ๆ เช่น เนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมอง ภาวะโปรแลคตินในเลือดสูง การติดเชื้อ HIV หรือภาวะ AIDS โรคจากการอักเสบอย่างโรคซาคอยโดซิส วัณโรค โรคเม็ดเลือดขาวผิดปกติ โรคอ้วน อะนอเร็กเซีย และโรคขาดสารอาหาร เป็นต้น
- ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง ในขั้น Secondary การฉายรังสีและการรับเคมีบำบัดก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากวิธีการเหล่านี้อาจสร้างความผิดปกติให้แก่ร่างกายในส่วนที่ได้รับการรักษาด้วย
- ปัจจัยอื่น ๆ เช่น น้ำหนักตัวที่ลดลงอย่างรวดเร็ว อายุที่เพิ่มมากขึ้น และความเครียด เป็นต้น นอกจากนี้ การได้รับบาดเจ็บบริเวณสมอง การผ่าตัดสมอง รวมทั้งการใช้สารสเตียรอยด์ โอปิออยด์ หรือสารเสพติดอย่างฝิ่นแบบเรื้อรัง อาจเป็นสาเหตุของ Hypogonadism ได้เช่นกัน
การวินิจฉัย Hypogonadism
แพทย์มักวินิจฉัยภาวะนี้จากผลการตรวจเลือดและอาการที่พบเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อไปพบแพทย์จึงควรแจ้งและอธิบายอาการที่เกิดขึ้นให้แพทย์ทราบโดยละเอียด ซึ่งอาจมีการตรวจโดยวิธีอื่น ๆ ด้วย ดังนี้
การตรวจร่างกาย
หลังจากสอบถามอาการ แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อหาลักษณะภายนอกที่มีความผิดปกติ เช่น มวลกล้ามเนื้อ ขนตามร่างกาย ขนาดของอัณฑะ เป็นต้น
การตรวจเลือด
แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อหาภาวะเจ็บป่วยและประเมินจากส่วนประกอบต่าง ๆ ภายในเลือด ดังนี้
- ฮอร์โมนเพศ โดยจะเก็บผลเลือดในช่วงเช้าก่อนเวลา 10 โมง เพราะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเพศอยู่ในระดับสูงที่สุด จึงเป็นเวลาที่สามารถวัดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในเพศชายจะตรวจวัดฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเตอโรน ส่วนในเพศหญิงจะวัดฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน
- ฟอลลิเคิลสติมิวเลติงและลูทิไนซิงฮอร์โมน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการส่งสัญญาณไปยังต่อมเพศ
- ฮอร์โมนโปรแลคติน ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาหน้าอกและการผลิตน้ำนมในเพศหญิง
- ฮอร์โมนไทรอยด์ เนื่องจากอาการผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์กับภาวะ Hypogonadism นั้นมีลักษณะที่คล้ายกัน
- ภาวะเหล็กเกินและโรคต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อ HIV หรือภาวะ AIDS โรคเบาหวาน โรคตับ เป็นต้น
การตรวจน้ำเชื้อ
ผลจากความผิดปกติในการผลิตฮอร์โมนเพศนั้น จะทำให้ร่างกายผลิตอสุจิได้น้อยลงด้วย ดังนั้น การตรวจน้ำเชื้อจะแสดงจำนวนอสุจิที่ร่างกายผลิตขึ้นว่าอยู่ในระดับใด ซึ่งอาจบอกได้ถึงภาวะ Hypogonadism
การสแกนต่อมใต้สมอง
อาจใช้ MRI Scan เพื่อแสดงภาพภายในร่างกาย ซึ่งเป็นการใช้แม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูง คลื่นวิทยุ และคอมพิวเตอร์เพื่อแสดงผล หรือ CT Scan ซึ่งเป็นการแสดงภาพภายในร่างกายด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยการสแกนทั้ง 2 รูปแบบนี้สามารถใช้ในการหาเนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมองที่อาจเป็นสาเหตุของอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้
นอกจากวิธีการวินิจฉัยข้างต้น แพทย์อาจให้ตรวจพันธุกรรมเพื่อหาความผิดปกติจากโรคที่เกิดขึ้นแต่กำเนิด และตรวจเนื้อเยื่ออัณฑะเพื่อหาจำนวนของอสุจิด้วย
การรักษา Hypogonadism
เนื่องจาก Hypogonadism นั้นมีสาเหตุและลักษณะอาการที่หลากหลาย การรักษาภาวะนี้จึงมีความแตกต่างหลากหลายด้วยเช่นกัน ดังนี้
การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน TRT (Testosterone Replacement Therapy)
เป็นการนำฮอร์โมนเพศชายเข้าสู่ร่างกายเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดไปและรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยส่งผลให้อาการดีขึ้นในด้านต่าง ๆ อย่างสมรรถภาพทางเพศฟื้นตัว ลดภาวะมีบุตรยาก มวลกล้ามเนื้อและมวลกระดูกแข็งแรงขึ้น มีความรู้สึกและอารมณ์ทางเพศเพิ่มมากขึ้น รวมถึงส่งผลต่อจิตใจและทำให้อารมณ์ดีขึ้น แต่การรับฮอร์โมนทดแทนนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ซึ่งผู้รับการรักษาควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วย
ทั้งนี้ การให้ฮอร์โมนทดแทนในเด็กชายที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปในปริมาณเล็กน้อยและค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อจำลองการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเพศในเด็กวัยนี้ และเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงในทางลบ ซึ่งวิธีการนี้จะกระตุ้นการพัฒนาบุคลิกทางเพศ อย่างพัฒนาการของกล้ามเนื้อและกระดูก การเกิดขนบนร่างกาย และการพัฒนาอัณฑะให้เป็นไปอย่างปกติ
โดยการรักษาด้วยวิธีการทดแทนฮอร์โมนเพศชายมีหลายรูปแบบ ดังนี้
ฮอร์โมนทดแทนในรูปแบบยาใช้ภายนอก
- การใช้แผ่นแปะฮอร์โมน เป็นวิธีที่ใช้ง่ายและสะดวก ใช้แปะบริเวณแผ่นหลัง ท้องน้อย ต้นแขน หรือต้นขา แต่การใช้แผ่นแปะฮอร์โมนอาจทำให้เกิดอาการแพ้บนผิวหนังได้ จึงควรเปลี่ยนบริเวณที่แปะแผ่นนี้ทุกวัน
- การทาเจล ใช้ทาบริเวณหัวไหล่ ใต้รักแร้ ต้นแขน และต้นขา ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เวลาในการดูดซึมฮอร์โมนนาน และอาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง อารมณ์ไม่คงที่ และเกิดการระคายเคืองบริเวณผิวหนังมากกว่าชนิดแผ่น จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดนตัวทั้งตัวเองและผู้อื่น ห้ามอาบน้ำ และควรปล่อยให้เจลซึมเข้าสู่ผิวได้อย่างเต็มที่หลังจากทาเป็นเวลาหลายชั่วโมง
- การฉีดเข้าทางจมูก โดยจะต้องฉีดฮอร์โมนเข้าโพรงจมูกข้างละ 2 ครั้ง วันละ 3 รอบ
- การใช้เม็ดเจลแปะเหงือก เป็นการให้ฮอร์โมนด้วยวิธีเหน็บหรือแปะฮอร์โมนทดแทนที่มีลักษณะเป็นเม็ดเจลและมีรสขมในบริเวณเหงือกด้านบนของฟันหน้า ซึ่งแผ่นแปะเหงือกอาจทำให้เกิดเหงือกอักเสบแบบชั่วคราว เกิดอาการปวดฟัน ปากแห้ง ปากอักเสบ และอาจทำให้ติดขัดเวลาพูด
ฮอร์โมนทดแทนในรูปแบบยาใช้ภายใน
- การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมีราคาถูก โดยต้องฉีดฮอร์โมนเข้าสู่กล้ามเนื้อทุก ๆ ช่วง 2-4 สัปดาห์ และผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เป็นประจำเพื่อปรับปริมาณฮอร์โมนในร่างกายให้อยู่ในระดับเหมาะสม
- การฝังฮอร์โมนเพศชาย เป็นวิธีที่สามารถทดแทนฮอร์โมนเพศชายได้เป็นระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งมีผลสูงสุดถึง 6 เดือน ทำโดยฝังฮอร์โมนเพศชายในรูปแบบเม็ดเข้าไปในผิวหนัง แต่วิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงอย่างมีเลือดออกจากการฝังเล็กน้อย และอาจเกิดพังผืดบริเวณแผล
- การรับประทานฮอร์โมนทดแทนแบบเม็ด เป็นวิธีการที่มีราคาถูก โดยให้ฮอร์โมนทดแทนเข้าสู่ร่างกายด้วยการรับประทานหรือการอมเม็ดฮอร์โมน แต่ผู้ป่วยต้องรับการเปลี่ยนแปลงสารในตับก่อนที่จะเข้าสู่กระแสเลือด เพราะอาจส่งผลเสียต่อตับได้หากใช้การรักษานี้ในระยะยาว และอาจมีผลข้างเคียงอย่างการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ในตับ การเกิดสิว ภาวะไม่ทนต่อน้ำตาล และภาวะผู้ชายมีนม
อย่างไรก็ตาม การรักษาภาวะฮอร์โมนในเพศชายต่ำด้วยวิธีการรับฮอร์โมนทดแทนนั้นอาจมีผลข้างเคียง เช่น มีอสุจิน้อยลง ต่อมลูกหมากโต ร่างกายบางส่วนอาจบวม อาจมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย หรือเผชิญภาวะผู้ชายมีนม ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และอาการเลือดจับตัวเป็นลิ่มอุดตันตามหลอดเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ การรับฮอร์โมนทดแทนยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดด้วย
นอกจากวิธีการให้ฮอร์โมนทดแทน แพทย์อาจรักษาภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้
การรักษา Hypogonadism ที่มีสาเหตุมาจากเนื้องอก
หากตรวจพบว่าสาเหตุของภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำเกิดจากเนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมองที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติ แพทย์อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด การฉายรังสี หรือให้ผู้ป่วยรับประทานยาเพื่อกำจัดหรือลดขนาดของเนื้องอก
การรักษาภาวะมีลูกยากจาก Hypogonadism
ผู้ชายที่ประสบกับภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำและต้องการจะมีลูก แต่ประสบกับภาวะนี้จนอาจทำให้มีลูกยากหรือเป็นหมัน อาจต้องพึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่าง ICSI หรือ Intracytoplasmic Sperm Injection ซึ่งเป็นการตัดเอาเนื้อเยื่ออัณฑะชิ้นเล็ก ๆ ไปตรวจหาและคัดเลือกอสุจิที่ดี เพื่อฉีดเข้าไปในไข่ของฝ่ายหญิงจนทำให้เกิดการตั้งครรภ์
ภาวะแทรกซ้อนจาก Hypogonadism
Hypogonadism ส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งภายนอก ภายใน และยังมีผลต่อจิตใจได้ด้วย ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้และไม่รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และทำให้มีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมาได้ ดังนี้
- มีอารมณ์ทางเพศต่ำ
- อารมณ์อ่อนไหว ซึมเศร้า ฉุนเฉียวง่าย อันเป็นผลกระทบจากฮอร์โมนเพศชายต่ำ
- เกิดภาวะผู้ชายมีนม
- เกิดผลกระทบต่อความรู้สึก อาจมีความรู้สึกแปลกแยก อับอาย และไม่มั่นใจในตัวเอง
- เกิดความบกพร่องในการเข้าสังคม เพราะสภาพร่างกายของตนเอง เช่น ร่างกายไม่พัฒนาเหมือนเด็กวัยเดียวกัน แขนและขามีขนาดไม่สัมพันธ์กับลำตัว หรือเกิดภาวะผู้ชายมีนม เป็นต้น
- สูญเสียความแข็งแรงและมวลกล้ามเนื้อ มีอาการอ่อนล้า
- ไม่สามารถเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้หรือเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ช้ากว่าปกติ และเกิดความบกพร่องในการพัฒนาอวัยวะเพศและอัณฑะ แขนขาไม่สมส่วนกับร่างกาย ไม่มีขนตามร่างกาย
- เกิดภาวะมีลูกยาก
- หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- ทารกในครรภ์มีอวัยวะเพศกำกวมและผิดปกติ
- เป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากสูญเสียมวลกระดูกและแร่ธาตุในกระดูก ทำให้กระดูกเปราะบางและแตกหักง่าย
- หากไม่ได้รับการรักษาภาวะนี้ อาจนำไปสู่การเป็นโรครูมาติกส์ อย่างโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคแพ้ภูมิลูปัส
การป้องกัน Hypogonadism
Hypogonadism เป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะในบางกรณีก็เกิดจากโรคหรือภาวะบกพร่องที่มีมาแต่กำเนิด ส่วนกรณีที่เกิดการบาดเจ็บจากการรักษาตัวหรืออุบัติเหตุก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน แต่คนทั่วไปก็ควรดูแลรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์ด้วยวิธีการต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี รวมทั้งหลึกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนเพศให้อยู่ในระดับปกติและลดความเสี่ยงของภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ
อย่างไรก็ตาม หากเกิดภาวะ Hypogonadism ขึ้นแล้ว ผู้ป่วยก็ควรป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงผลในทางลบทั้งด้านร่างกายและจิตใจด้วย เช่น
ป้องกันโรคกระดูกพรุน
การเกิด Hypogonadism ในผู้ใหญ่จะทำให้สูญเสียมวลกระดูกและความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูก ดังนั้น จึงควรป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีรับประทานอาหาร เพิ่มปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีที่มีส่วนช่วยในการสร้างความแข็งแรงของกระดูก รวมถึงออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ
ผ่อนคลายความเครียด
ภาวะ Hypogonadism อาจสร้างความเครียดให้กับผู้ป่วยได้ทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งความเครียดจะส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ โดยผู้ที่ประสบกับความเครียดจากภาวะนี้ควรได้ระบายและปลดปล่อยความคิด ความรู้สึก ผ่านการพูดคุยกับคนใกล้ตัว อย่างครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน และควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องในการจัดการความคิดและการใช้ชีวิตร่วมกับภาวะนี้ รวมทั้งอาจเข้าร่วมกลุ่มบำบัดเพื่อพบปะกับผู้ที่เผชิญปัญหาคล้ายกัน เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยและช่วยบรรเทาความเครียดที่มี นอกจากนี้ เมื่อได้รับการรักษาทางร่างกายแล้วก็ควรเยียวยาจิตใจควบคู่กันไปด้วย โดยควรปรับอารมณ์และทัศนคติให้ดีอยู่เสมอ และเมื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นก็จะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งช่วยลดปัญหาทางอารมณ์และทำให้เกิดความมั่นใจในการเข้าสังคมมากขึ้น
รักษาความสัมพันธ์
ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่อาจเกิดขึ้นจากฮอร์โมนเพศชายต่ำนั้นส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างมาก โดยอาการนกเขาไม่ขันหรืออาการหลั่งเร็วอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถตอบสนองหรือสร้างความสุขทางเพศให้อีกฝ่ายได้ ซึ่งอาจเกิดความไม่พอใจและปัญหาความสัมพันธ์ตามมา ดังนั้น การปรับความเข้าใจและหาวิธีรับมือกับภาวะนี้ตั้งแต่แรกเริ่มจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในเบื้องต้นควรพูดคุยและทำความเข้าใจกับคู่ของตนเกี่ยวกับความผิดปกติที่เกิดขึ้น จากนั้นอาจไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาหาแนวทางแก้ไขอย่างเหมาะสม หรือหาวิธีที่จะสร้างความสุขด้านอื่น ๆ เพื่อทดแทนในส่วนที่ขาดหาย รวมทั้งควรรักษาสุขภาพร่างกายและอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ เพราะอาจช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นได้
วางแผนครอบครัว
ภาวะมีลูกยากเป็นปัญหาสำคัญสำหรับคู่สามีภรรยาที่ต้องการมีลูกเพื่อสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ตามอุดมคติ เมื่อประสบกับภาวะนี้จึงอาจทำให้บางคู่เกิดความทุกข์และท้อแท้ใจในความสัมพันธ์ได้ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้อาจนำไปสู่ปัญหาครอบครัวในรูปแบบอื่นอีกด้วย แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและปลอดภัยหลายวิธีที่สามารถช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ ดังนั้น การปรึกษาแพทย์จึงอาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่หากพบว่าวิธีการเหล่านั้นไม่สามารถช่วยได้ ควรหาทางเลือกอื่นที่จะช่วยเติมเต็มครอบครัว อย่างการเลี้ยงสัตว์หรืออุปการะเด็กตามเหมาะสม รวมทั้งทำความเข้าใจในอาการของภาวะนี้และคนรักของตน เพื่อลดความเครียดและความวิตกกังวล และช่วยให้ปรับตัวอยู่กับภาวะนี้ได้อย่างมีความสุขต่อไป