ภาวะโซมาติก

ความหมาย ภาวะโซมาติก

SSD (Somatic Symptom Disorder) หรือภาวะโซมาติก เป็นภาวะทางร่างกายและจิตใจที่ผู้ป่วยมักรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยทางร่างกายมากผิดปกติ ซึ่งอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นอาจได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว หรืออาจไม่มีหลักฐานบ่งบอกถึงอาการเจ็บป่วยนั้นจริง โดยภาวะดังกล่าวมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อาการของ SSD

ผู้ป่วย SSD มักมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยทางร่างกายอย่างมาก โดยอาการที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวลจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น ปวดบริเวณอวัยวะต่าง ๆ หายใจถี่ อ่อนเพลีย มีอาการทางระบบประสาท มีความผิดปกติของทางเดินอาหาร และมีอาการทางเพศ เป็นต้น โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าตนเองมีอาการผิดปกติบางอย่างที่คิดว่าเกิดขึ้นจริงโดยไม่ได้แกล้งหรือคิดไปเอง แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอาการเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม

1969 SSD rs

นอกจากนี้ ผู้ที่ประสบภาวะนี้มักรู้สึกวิตกกังวลจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เสียเวลาและเสียพลังงานอย่างมาก โดยผู้ป่วยอาจมีความกังวลในลักษณะที่แตกต่างกันไป เช่น

  • รู้สึกวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะยังไม่เกิดขึ้น
  • กลัวว่าอาการต่าง ๆ อาจส่งผลร้ายแรงและทำให้เกิดอันตรายได้
  • กลัวว่าการทำกิจกรรมบางอย่างอาจทำให้ร่างกายเกิดอันตรายได้ เช่น การออกกำลังกาย เป็นต้น
  • คิดว่าอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ทั่วไปนั้นเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยร้ายแรง
  • รู้สึกว่าผลการวินิจฉัยโดยแพทย์หรือการรักษาที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ
  • รู้สึกว่าอาการน่าจะรุนแรงกว่าอาการที่แพทย์ประเมินไว้
  • พยายามไปตรวจร่างกายซ้ำ ๆ เพื่อหาความผิดปกติของร่างกาย
  • ร่างกายอาจไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรืออาจไวต่อผลข้างเคียงของยามากผิดปกติ

สาเหตุของ SSD

แม้สาเหตุของ SSD หรือภาวะโซมาติกนั้นจะยังไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ภาวะนี้ก็อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • พันธุกรรม ผู้ป่วยอาจได้รับพันธุกรรมบางอย่างจากบิดาและมารดาที่ส่งผลให้เกิดภาวะโซมาติก เช่น การที่ร่างกายตอบสนองไวต่อความเจ็บปวดต่าง ๆ เป็นต้น
  • สภาพแวดล้อมในครอบครัว สภาพแวดล้อมหรือการเลี้ยงดูของคนในครอบครัวอาจมีส่วนให้ผู้ป่วยเผชิญภาวะนี้ได้
  • บุคลิกภาพและลักษณะนิสัย บุคคลิกภาพหรือความคิดในเชิงลบอาจส่งผลต่อการรับรู้ถึงอาการเจ็บป่วยของร่างกาย
  • เหตุการณ์ตึงเครียดในชีวิต เช่น มีฐานะทางเศรษฐกิจหรือการศึกษาที่ไม่ดี เคยประสบกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง หรือเคยถูกล่วงละเมิด เป็นต้น
  • อาการเจ็บป่วย ผู้ที่กำลังเข้ารับการรักษาหรือเพิ่งฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วยอาจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการป่วยของตน เช่น กลัวว่าอาการจะรุนแรงขึ้น หรือกลัวว่าอาการป่วยจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เป็นต้น ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้า
  • ความตระหนักรู้ทางอารมณ์ ผู้ป่วยอาจให้ความสนใจในอาการเจ็บปวดทางร่างกายมากเกินไปจนมองข้ามเรื่องอารมณ์
  • พฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ เช่น การได้รับความสนใจหรือได้รับผลประโยชน์อื่น ๆ เมื่อมีอาการเจ็บป่วย การหลีกเลี่ยงกิจกรรมเนื่องจากกลัวว่าร่างกายอาจเกิดอาการต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อความพิการได้ เป็นต้น
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวันอื่น ๆ เช่น เคยดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด เป็นต้น

การวินิจฉัย SSD

ในเบื้องต้น แพทย์อาจตรวจร่างกายของผู้ป่วยอย่างละเอียด หากไม่พบความผิดปกติทางร่างกาย แพทย์อาจแนะนำให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ซึ่งอาจมีการสอบถามเกี่ยวกับลักษณะของอาการ ระยะเวลาที่เกิดอาการ ประวัติครอบครัว ความกลัว ความวิตกกังวล หรือสถานการณ์ในชีวิตที่อาจก่อให้เกิดความตึงเครียด สถานการณ์ที่พยายามหลีกเลี่ยง ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้สารเสพติดอื่น ๆ โดยอาจให้ผู้ป่วยกรอกแบบสอบถามด้วย ซึ่งหากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการของ SSD แพทย์อาจให้ความสนใจกับความคิดและความรู้สึกของผู้ป่วยที่มีต่ออาการนั้น ๆ มากกว่าอาการที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้คู่มือ DSM-5 ซึ่งเป็นคู่มือสำหรับวินิจฉัยอาการผิดปกติทางจิตต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการวินิจฉัยภาวะนี้ โดยแพทย์อาจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการของ SSD หากผู้ป่วยมีอาการทางร่างกายอย่างน้อย 1 อย่างจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงของอาการมากเกินไป และมีความรู้สึกว่ากำลังเผชิญกับอาการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป แม้ว่าลักษณะอาการจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาแล้วก็ตาม

การรักษา SSD

ในการรักษาผู้ป่วยภาวะโซมาติก แพทย์อาจใช้วิธีการทำจิตบำบัด โดยวิธีที่มักนิยมนำมาใช้ คือ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) ซึ่งเป็นการบำบัดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนวิธีคิดในแง่ลบให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น และทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องอาการเจ็บป่วยที่ผิดไปจากความเป็นจริง รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียด ความวิตกกังวล รวมถึงภาวะทางจิตใจอื่น ๆ อย่างโรคซึมเศร้าได้ และอาจให้ทำการบำบัดทางครอบครัวด้วย เพื่อให้บุคคลในครอบครัวเข้าใจลักษณะของอาการและช่วยเหลือผู้ป่วยได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาต้านเศร้าเพื่อลดความวิตกกังวล โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาเพียงชั่วคราวเท่านั้น และอาจลดปริมาณยาลงหลังจากผู้ป่วยเริ่มเรียนรู้วิธีจัดการกับความวิตกกังวลได้แล้ว เนื่องจากยาต้านเศร้าบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้

ภาวะแทรกซ้อนของ SSD

SSD เป็นภาวะที่อาจทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงทั้งด้านสุขภาพและการใช้ชีวิต เพราะผู้ป่วยอาจรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ จนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยอาจทำให้พบปัญหาด้านความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง รวมทั้งอาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงจนอาจนำไปสู่การว่างงานได้ และผู้ป่วยบางรายอาจเข้ารับการตรวจสุขภาพบ่อยเกินไปจนประสบปัญหาทางการเงินอีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้ป่วย SSD อาจประสบภาวะทางจิตใจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และความผิดปกติทางบุคลิกภาพ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีที่อาการค่อนข้างรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีความคิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายเนื่องจากโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยมีความคิดฆ่าตัวตาย ควรรีบขอความช่วยเหลือหรือขอคำปรึกษาจากบุคคลใกล้ชิด ส่วนผู้ที่พบหรือสังเกตเห็นอาการควรรีบพาผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ทันที ซึ่งสามารถขอรับคำปรึกษาผ่านทางสายด่วนสุขภาพจิตได้ด้วย โดยโทร 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

การป้องกัน SSD

แม้ภาวะโซมาติกเป็นภาวะเจ็บป่วยที่ป้องกันได้ยาก เพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและอาจเกิดจากปัจจัยบางอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปอาจลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะนี้ได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • เฝ้าสังเกตการตอบสนองของร่างกายตนเองเมื่อรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล และหาวิธีผ่อนคลายหรือจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม
  • หากสงสัยว่ามีอาการของ SSD หรือภาวะทางจิตใจอื่น ๆ ควรรีบไปพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อขอรับคำแนะนำทันที
  • สำหรับผู้ที่กำลังเข้ารับการรักษาภาวะ SSD ควรปฏิบัติตามแผนการรักษาและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัดเสมอ เพื่อป้องกันอาการรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต