ความหมาย ภาวะไส้ตรงปลิ้น (Rectal Prolapse)
Rectal Prolapse (ภาวะไส้ตรงปลิ้น) เป็นความผิดปกติในส่วนของลำไส้ตรงที่เคลื่อนตัวลงมาต่ำกว่าตำแหน่งปกติ โดยอาจอยู่บริเวณเชิงกรานหรือออกมานอกทวารหนัก ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงก้อนนูนบริเวณทวารหนัก ปวดหรือไม่สบายบริเวณท้องน้อย และปลายลำไส้อาจยื่นออกมานอกทวารหนักเมื่อขับถ่าย เดิน หรือออกกำลังกาย
ภาวะ Rectal Prolapse มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และความรุนแรงของอาการมีอยู่หลายระดับ โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
- ปลิ้นอยู่ภายใน (Internal Prolapse) ลำไส้ตรงของผู้ป่วยจะย้อยลงแต่ยังไม่ออกมาจากทวารหนัก
- ปลิ้นออกมาบางส่วน (Partial Prolapse) ลำไส้ตรงของผู้ป่วยออกมานอกทวารหนักเพียงบางส่วน
- ปลิ้นออกมาทั้งหมด (Complete Prolapse) ลำไส้ตรงทั้งหมดของผู้ป่วยจะออกมาจากทวารหนัก
อาการของ Rectal Prolapse
ผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะ Rectal Prolapse ดังนี้
- มีก้อนนูน ก้อนเนื้อสีแดงหรือปลายลำไส้ใหญ่ยื่นออกมานอกทวารหนักในระหว่างขับถ่ายหรือหลังขับถ่าย บางรายอาการอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวโดยปลายลำไส้ตรงสามารถกลับเข้าไปยังตำแหน่งเดิมได้หลังขับถ่ายเสร็จ หรืออาจปลิ้นออกมาจากทวารหนักขณะเดิน นั่ง หรือออกกำลังกาย
- รู้สึกปวดหรือไม่สบายบริเวณท้องน้อย
- มีเลือดและมูกออกจากทวารหนัก
- เกิดภาวะอุจจาระเล็ด ควบคุมการขับถ่ายและการผายลมได้น้อยลง
- มีอาการท้องผูกหรือรู้สึกถ่ายไม่สุด ขับถ่ายลำบาก
สาเหตุของ Rectal Prolapse
ภาวะ Rectal Prolapse อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
ความเสียหายบริเวณเส้นประสาท
เส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการหดตัวของลำไส้ตรงและกล้ามเนื้อรูทวารได้รับความเสียหาย โดยอาจเป็นผลจากการได้รับบาดเจ็บที่หลังหรือไขสันหลัง การตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตรยาก หรือการผ่าตัดในบริเวณกระดูกเชิงกรานและหลัง
กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักอ่อนแรง
กล้ามเนื้อหูรูดทำหน้าที่ปล่อยอุจจาระจากลำไส้ตรง โดยอาจเกิดจากการตั้งครรภ์หรือการคลอด ส่วนกล้ามเนื้อหูรูดในผู้สูงอายุอาจอ่อนแรงลงตามวัย
นอกจากนี้ Rectal Prolapse อาจเกิดได้จากการเคลื่อนไหวผิดปกติของลำไส้อย่างเรื้อรังเนื่องจากอาการท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง ส่งผลให้ลำไส้ตรงขยับลงต่ำกว่าตำแหน่งปกติ ทั้งนี้ ความเสี่ยงของภาวะนี้จะเพิ่มขึ้นหากผู้ป่วยมีภาวะหรือโรคบางอย่าง เช่น โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคเบาหวาน โรคติดเชื้อปรสิตหรือพยาธิบางชนิด หรือผู้ที่ผ่าตัดมดลูก เป็นต้น
การวินิจฉัย Rectal Prolapse
แพทย์จะสอบถามประวัติและตรวจการทำงานของลำไส้ตรง โดยให้ผู้ป่วยออกแรงเบ่งขณะนั่งอยู่บนเก้าอี้ขับถ่ายเพื่อจำลองการเคลื่อนไหวของลำไส้ พร้อมกับประเมินอาการอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะนี้ร่วมด้วย อย่างภาวะปัสสาวะเล็ด (Urinary Incontinence) กระเพาะปัสสาวะหย่อน (Bladder Prolapse) หรือมดลูกหย่อน หลังจากนั้น แพทย์จะจรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เพื่อช่วยยืนยันผลการวินิจฉัยเบื้องต้น ดังนี้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก (Electromyography: EMG) เพื่อดูความเสียหายของเส้นประสาทในบริเวณทวารหนัก และการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อทวารหนักกับลำไส้ตรง
- การตรวจการบีบตัวของหูรูดทวารหนัก (Anorectal Manometry) โดยจะตรวจดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักด้วยการใช้ท่อขนาดเล็กสอดเข้าไปในทวารหนักและลำไส้ตรง เพื่อวัดการตึงของกล้ามเนื้อในบริเวณดังกล่าว
- การตรวจการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก โดยแพทย์จะตรวจเส้นประสาทพิวเดนดอล (Pudendal Nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบลำไส้
- การถ่ายภาพรังสีการขับถ่ายอุจจาระ (Defecography) โดยภาพจากการเอกซเรย์จะแสดงให้เห็นถึงการทำงานของลำไส้ตรง ปริมาณอุจจาระที่ลำไส้ตรงสามารถกักได้ ความสามารถในการกักและปลดปล่อยอุจจาระ
- การส่องตรวจทวารหนักและลำไส้ใหญ่ส่วนซิกมอยด์ (Proctosigmoidoscopy) ด้วยการสอดท่อพิเศษที่มีความยืดหยุ่นและติดกล้องที่ปลายท่อเข้าไปส่องในบริเวณลำไส้ส่วนล่างและลำไส้ส่วนโค้ง เพื่อตรวจดูความผิดปกติต่าง ๆ เช่น การอักเสบ รอยแผลเป็น ก้อนเนื้อ เป็นต้น
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ด้วยการใช้กล้องที่มีลักษณะเป็นท่อยืดหยุ่นสอดเข้าไปยังรอยต่อระหว่างลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้น
- การตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้เครื่อง MRI เพื่อประเมินการทำงานของอวัยวะในบริเวณกระดูกเชิงกราน และการทำอัลตราซาวด์
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดออกในลำไส้ตรง แพทย์อาจจำเป็นจะต้องตรวจหาโรคอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้
การรักษา Rectal Prolapse
การรักษาภาวะ Rectal Prolapse ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการผ่าตัด หากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจชะลอการรักษาไว้ก่อน ในขั้นต้นอาจเป็นการใช้ยาระบายกลุ่มที่ทำให้อุจจาระนิ่ม (Stool Softener) และใช้นิ้วดันเนื้อเยื่อให้กลับเข้าสู่ทวารหนัก เปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตโดยเน้นรับประทานผัก ผลไม้หรือธัญพืชไม่ขัดสีมากขึ้น ออกกำลังกายเป็นประจำและดื่มน้ำมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาการของ Rectal Prolapse มักจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากและกระทบต่อการใช้ชีวิต แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดผ่านหน้าท้องเพื่อดึงลำไส้ตรงกลับมายังตำแหน่งเดิม โดยอาจเป็นการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่หรือการผ่าตัดส่องกล้องด้วยเครื่องมือพิเศษ
ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยสูงอายุหรือไม่สามารถผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องได้ แพทย์จะผ่าตัดบริเวณรอบทวารหนักแทน โดยจะตัดลำไส้ตรงบางส่วนออกแล้วเย็บส่วนที่เหลือติดกับลำไส้ใหญ่ส่วนบน และบางรายอาจใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกันขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมของผู้ป่วยแต่ละคน
ภาวะแทรกซ้อนของ Rectal Prolapse
ผู้ป่วย Rectal Prolapse ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา เช่น ไส้ตรงได้รับความเสียหายจากการเกิดบาดแผล เกิดภาวะเนื้อเน่าตายเนื่องจากไส้ตรงส่วนปลิ้นลงมาจนเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงได้ หรือกลับมาเป็นภาวะ Rectal Prolapse ซ้ำหลังการรักษา เป็นต้น
การป้องกัน Rectal Prolapse
การลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Rectal Prolapse ทำได้ด้วยการดูแลการทำงานของลำไส้ให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอและหลีกเลี่ยงอาการท้องผูกตามคำแนะนำดังนี้
- ลดปริมาณการรับประทานอาหารแปรรูปและรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงในทุกมื้อ เช่น ผัก ผลไม้ ถั่วหรือรำข้าว เป็นต้น
- ดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสม
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- จัดการหรือรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้น