ภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic Conjunctivitis)

ความหมาย ภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic Conjunctivitis)

ภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic Conjunctivitis) คือการอักเสบบริเวณดวงตาที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ของเยื่อบุตาต่อสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งทำให้มีอาการตาแดง คัน น้ำตาไหล ตาไวต่อการรับแสง ภูมิแพ้ขึ้นตาเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น แต่อาจทำให้ดวงตาระคายเคืองและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้

เมื่อสารก่อภูมิแพ้เข้าตา มักทำให้เกิดอาการที่เยื่อบุตา ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องดวงตาจากสิ่งแปลกปลอม โดยอาจเกิดอาการขึ้นแบบเฉียบพลัน เกิดตามฤดูกาล หรือเรื้อรังได้ตลอดทั้งปี ในเบื้องต้นสามารถรักษาอาการภูมิแพ้ขึ้นตาได้ด้วยการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และใช้ยาที่หาซื้อได้เอง หากอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องได้รับการรักษากับแพทย์เพิ่มเติม

Allergic Conjunctivitis

สาเหตุของภูมิแพ้ขึ้นตา

อาการภูมิแพ้เป็นปฏิกิริยาการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารเคมีที่เรียกว่าฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งมีหน้าที่ขับไล่สิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ให้ออกจากร่างกาย โดยอาการภูมิแพ้ขึ้นตาเกิดจากสารก่อภูมิแพ้สัมผัสกับดวงตา ทำให้อาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ตามฤดูกาล หรือเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับสารก่อภูมิแพ้ของแต่ละคน เช่น 

  • ไรฝุ่น ฝุ่นควันจากมลพิษทางอากาศ และควันบุหรี่
  • ละอองเกสรดอกไม้ ต้นหญ้า และต้นไม้
  • สะเก็ดผิวหนังสัตว์
  • เชื้อรา
  • สารเคมี เช่น น้ำหอม น้ำยาทำความสะอาด เครื่องสำอาง
  • ยาบางชนิด ยาหยอดตา หรือน้ำยาสำหรับคอนแทคเลนส์

ภูมิแพ้ขึ้นตามีหลายประเภท โดยอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน มักจะทำให้เกิดอาการไม่นานแล้วหายไป บางครั้งอาจเกิดขึ้นตามฤดูกาลในช่วงที่มีลมแรงและมีฝุ่นละอองมาก ซึ่งอาการแพ้จะไม่รุนแรงแต่กินเวลานาน หรือบางคนอาจมีอาการภูมิแพ้ขึ้นตาเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดอาการเป็นระยะ ๆ ได้ตลอดปี

อาการของภูมิแพ้ขึ้นตา

อาการทั่วไปของภูมิแพ้ขึ้นตาอาจเกิดขึ้นกับดวงตาทั้งสองข้าง ดังนี้

  • ดวงตาระคายเคือง รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา และคัน
  • ตาขาวเป็นสีชมพูหรือแดง
  • ดวงตาชื้นแฉะ หรือมีขี้ตามาก เนื่องจากมีปริมาณน้ำในดวงตามากขึ้น
  • เปลือกตาบวม โดยอาการบวมมักเกิดในตอนเช้า
  • ตาแพ้แสง

โดยบางคนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม

อาการภูมิแพ้ขึ้นตาที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการภูมิแพ้ขึ้นตาโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาการยังไม่ดีขึ้นภายหลังการดูแลตนเองเป็นเวลา 3–4 วัน ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อเกิดอาการต่อไปนี้

  • ดวงตาแดงก่ำมากขึ้น
  • เจ็บปวดรุนแรงบริเวณดวงตา โดยเฉพาะเมื่อถูกแสงแดดและแสงไฟ
  • มีตุ่ม หรือแผลพุพองบริเวณดวงตา เปลือกตา หรือจมูก
  • ความสามารถในการมองเห็นลดลง

อาการภูมิแพ้ขึ้นตาอาจคล้ายคลึงกับการติดเชื้อไวรัส (Viral Conjunctivitis) และแบคทีเรีย (Bacterial Conjunctivitis) ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสม ทั้งนี้ หากมีอาการอักเสบรุนแรงโดยเฉพาะผู้ใส่คอนแทคเลนส์ควรพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจทำให้เกิดการอักเสบของกระจกตาได้

การวินิจฉัยภูมิแพ้ขึ้นตา

แพทย์จะตรวจดวงตาและถามประวัติการแพ้ของผู้ป่วย รวมถึงประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว และสังเกตอาการแพ้จากสีของดวงตาและการบวมของเปลือกตา ซึ่งเป็นสัญญาณของภูมิแพ้ขึ้นตา และอาจใช้วิธีทดสอบต่อไปนี้

  • การพลิกเปลือกตาด้านในขึ้น เพื่อตรวจว่ามีตุ่มด้านในเปลือกตาหรือไม่
  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Test) เพื่อทราบถึงสารก่อภูมิแพ้และการตอบสนองของร่างกาย
  • การเก็บเยื่อบุตา (Conjunctival Swabs) หรือการขูดเนื้อเยื่อ เพื่อตรวจสอบเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ชื่อว่าอีโอซิโนฟิล (Eosinophil) ในการตอบสนองต่ออาการแพ้ต่าง ๆ
  • การตรวจเลือด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบการสร้างโปรตีนและสารภูมิต้านทานแอนติบอดี้ (Antibody) ที่จำเป็นต่อการป้องกันสารก่อภูมิแพ้

การรักษาภูมิแพ้ขึ้นตา

การรักษาอาการภูมิแพ้ขึ้นตาประกอบด้วยการดูแลตัวเอง และการใช้ยา ดังนี้

การดูแลตนเอง

ผู้ป่วยภูมิแพ้ขึ้นตา ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ตา เพื่อลดอาการคันและอักเสบ
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ ก่อนสัมผัสดวงตา และใช้หยอดตา 
  • ใช้น้ำสะอาด น้ำตาเทียม หรือน้ำเกลือสำเร็จรูปล้างตา เมื่อมีอาการระคายเคืองจากสารก่อภูมิแพ้ 
  • ประคบเย็นบนดวงตา เพื่อลดอาการคันและการอักเสบ
  • อาบน้ำหลังจากกลับถึงบ้าน และซักเสื้อผ้าให้สะอาดเป็นประจำ เพื่อไม่ให้สารก่อภูมิแพ้ติดตัวหรือเสื้อผ้า
  • ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ และตลับใส่คอนแทคเลนส์อย่างถูกวิธี
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการอยู่ใกล้คนสูบบุหรี่

การใช้ยา

ยาที่ใช้รักษาภูมิแพ้ขึ้นตามีทั้งชนิดที่หาซื้อได้เองและที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ โดยแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม เช่น

  • ยาแก้แพ้ชนิดหยอดตา เช่น คีโตติเฟน (Ketotifen)
  • ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน เช่น ไดเฟนไฮดรามีน เฟกโซเฟนาดีน ลอราทาดีน เซทิริซีน ซึ่งบางชนิดทำให้ง่วงนอน ควรรับประทานก่อนนอนเพื่อลดอาการคันในเวลากลางคืน 
  • ยาระงับการหลั่งสารมาสต์เซลล์ (Mast Cell Stabilizers)  เช่น โครโมลิน (Cromolyn) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการหลั่งสารฮิสตามีนที่ทำให้มีอาการแพ้
  • ยาหยอดตากลุ่ม NSAIDs เช่น คีโตโรแลค (Ketorolac) 
  • ยาหดหลอดเลือด (Decongestant) ช่วยลดอาการบวมแดงของหลอดเลือดในตา แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 3 วัน เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดหยอดตา ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาอื่นแล้วอาการภูมิแพ้ขึ้นตาไม่ดีขึ้น
  • การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (Allergy Immunotherapy) 

ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรหากกำลังตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือมีโรคประจำตัวใดก็ตาม และไม่ควรใช้ยาเกินกว่าที่ฉลากยาระบุ หรือใช้ตามเภสัชกรและแพทย์แนะนำ 

ภาวะแทรกซ้อนของภูมิแพ้ขึ้นตา

ภูมิแพ้ขึ้นตามักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่อาการต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นซ้ำหากร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ และอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่โดยทั่วไป มักไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพรุนแรงในระยะยาว

การป้องกันภูมิแพ้ขึ้นตา

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภูมิแพ้ขึ้นตา ได้แก่

  • ล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปัจจัยที่ก่อให้เกิดการแพ้
  • ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ และซักเครื่องนอนต่าง ๆ เช่น ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ด้วยน้ำร้อนและผงซักฟอก เพื่อป้องกันการสะสมของไรฝุ่นและฝุ่นละอองต่าง ๆ
  • ใช้เครื่องกรองอากาศภายในบ้านหรือสำนักงาน
  • ใช้เครื่องปรับอากาศหรือปิดหน้าต่างในวันที่ลมแรง เพื่อป้องกันฝุ่นและละอองเกสรดอกไม้ปลิวเข้าบ้าน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอม สารเคมี หรือสีย้อม