มะเร็งตับอ่อน

ความหมาย มะเร็งตับอ่อน

มะเร็งตับอ่อน เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นภายในเนื้อเยื่อของตับอ่อน ซึ่งเป็นอวัยวะที่ผลิตน้ำย่อยและหลั่งฮอร์โมนที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างอินซูลินและกลูคากอน ในช่วงแรกผู้ป่วยอาจไม่พบอาการหรือความผิดปกติใด ๆ แต่หากมะเร็งลุกลาม อาจทำให้มีอาการปวดท้อง น้ำหนักลดลง หรือมีอาการดีซ่านได้

1784 มะเร็งตับอ่อน rs

อาการของมะเร็งตับอ่อน

ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนมักไม่แสดงอาการใด ๆ ในระยะแรกเริ่ม แต่หากมะเร็งลุกลามอาจทำให้มีอาการผิดปกติ ดังต่อไปนี้

  • ปวดท้อง หรือปวดท้องร้าวไปถึงหลังแบบเป็น ๆ หาย ๆ และมักมีอาการหนักขึ้นหลังรับประทานอาหารหรือตอนนอน
  • น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการดีซ่าน ผิวและตาเป็นสีเหลือง หรืออาจมีปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด และคันตามผิวหนัง
  • เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องผูก หรือท้องเสีย
  • มีลิ่มเลือด
  • อาจมีอาการของโรคเบาหวาน เนื่องจากเนื้องอกที่เกิดขึ้นทำให้ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ตามปกติ

ทั้งนี้ หากพบว่าน้ำหนักตัวลดลงแบบไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการอ่อนเพลีย ปวดท้อง มีอาการดีซ่าน รวมถึงอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพราะอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งตับอ่อนหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้

สาเหตุของมะเร็งตับอ่อน

ในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่ามะเร็งตับอ่อนเกิดจากสาเหตุใด แต่มีหลายปัจจัยที่ทำให้สารพันธุกรรมเกิดการกลายพันธุ์จนส่งผลให้เซลล์เพิ่มจำนวนจนอย่างผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งก่อตัวขึ้นเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง

โดยปัจจัยที่อาจทำให้เกิดมะเร็งตับอ่อนซึ่งพบได้บ่อย คือ

  • อายุ โรคมะเร็งตับอ่อนมักตรวจพบได้ในผู้ที่มีอายุมาก
  • กรรมพันธุ์ ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน มีพ่อ แม่ หรือลูกเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนด้วย
  • โรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนได้มากกว่าคนทั่วไป
  • โรคอ้วน และขาดการออกกำลังกาย จากการศึกษาพบว่าผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือผู้ที่ไม่ค่อยขยับร่างกายทำกิจกรรมต่าง ๆ นั้น มีแนวโน้มเกิดโรคมะเร็งตับอ่อนได้มากขึ้น
  • โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง และซีสต์ในตับอ่อนบางประเภท ผู้ป่วยโรคดังกล่าวจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับอ่อนได้มากขึ้น
  • การสูบบุหรี่ ยิ่งสูบบุหรี่มากเท่าไรก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากเท่านั้น เพราะประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่สูบบุหรี่ รวมถึงผู้ที่เคี้ยวใบยาสูบ มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งตับอ่อน แต่หากเลิกสูบมาแล้ว 10 ปี ความเสี่ยงของโรคนี้ก็อาจลดลงเท่ากับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนได้

การวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อน

แพทย์จะสอบถามถึงข้อมูลสุขภาพทั่วไป อาการที่เกิดขึ้น และตรวจร่างกาย หากสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งตับอ่อน แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan หรือการตรวจความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี (PET Scan) เพื่อจำลองภาพของตับอ่อน รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ ภายในช่องท้อง

นอกจากนี้ อาจมีการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่

  • การตรวจเลือด อาจทำทั้งก่อนและหลังการรักษา เพื่อตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งที่หลั่งออกมาจากเซลล์มะเร็งในตับอ่อน
  • การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง โดยส่งท่อเข้าไปตามทางเดินอาหารจนถึงกระเพาะ เพื่อเก็บภาพของตับอ่อน
  • การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน โดยฉีดสีเข้าไปในน้ำดีและบริเวณท่อในตับอ่อน เพื่อแสดงตำแหน่งของเนื้องอกที่อาจอุดตันทางเดินน้ำดี
  • การผ่าตัดผ่านกล้อง เพื่อให้แพทย์ได้เห็นภาพอวัยวะภายในร่างกาย และเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย
  • การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ โดยเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อของตับอ่อนจากก้อนเนื้องอกที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็ง

หากวินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อน แพทย์จะประเมินระยะการแพร่กระจายของมะเร็ง เพื่อกำหนดแนวทางรักษาที่จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยมากที่สุด โดยมะเร็งตับอ่อนแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังต่อไปนี้

ระยะที่ 1 มะเร็งลุกลามภายในตับอ่อน หรืออาจเริ่มแพร่กระจายไปยังลำไส้เล็กส่วนที่อยู่ติดกัน

ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะบริเวณใกล้เคียง เช่น กระเพาะอาหาร ม้าม หรือลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง

ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่ไกลออกไป ซึ่งอวัยวะที่พบการแพร่กระจายของมะเร็งตับอ่อนได้บ่อย คือ ตับ

การรักษามะเร็งตับอ่อน

มะเร็งตับอ่อนเป็นโรคที่รักษาได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมักแสดงอาการเมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่หรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายแล้ว ซึ่งทางเลือกในการรักษามะเร็งตับอ่อนมีหลายวิธี ได้แก่

การผ่าตัด สามารถทำได้หลายวิธี โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พบก้อนมะเร็ง เช่น

  • การผ่าตัดแบบ Pancreaticoduodenectomy เป็นการตัดตับอ่อนส่วนต้นออก รวมทั้งลำไส้เล็กส่วนต้น ถุงน้ำดี หรือท่อน้ำดี และในบางกรณีอาจต้องผ่าตัดนำกระเพาะอาหารบางส่วนหรือต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงออกไปด้วยเช่นกัน
  • การผ่าตัดแบบ Distal Pancreatectomy เป็นการตัดตับอ่อนส่วนกลางและท้ายออก และอาจต้องผ่าตัดม้ามออกไปด้วย
  • การผ่าตัดแบบ Total Pancreatectomy เป็นการตัดตับอ่อนออกทั้งหมด ซึ่งหลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่จำเป็นต้องรับอินซูลินและเอนไซม์ทดแทนไปตลอดชีวิต

การทำเคมีบำบัด เป็นการฉีดยาเข้าทางเส้นเลือด รับประทานยา หรือใช้ร่วมกันทั้ง 2 วิธีเพื่อช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง ทั้งนี้ แพทย์อาจรักษาโดยใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว ใช้ร่วมกับการฉายแสงก่อนผ่าตัด ใช้หลังผ่าตัดเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ หรืออาจใช้ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในกรณีที่เกิดการลุกลามแล้ว

การฉายแสง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยผู้ป่วยอาจเข้ารับการฉายแสงก่อนหรือหลังการผ่าตัด หรืออาจใช้ร่วมกับการทำเคมีบำบัดในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับการรักษาได้ด้วยการผ่าตัด

การดูแลประคับประคองอาการ ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นจากโรคหรือเป็นผลข้างเคียงจากการรักษารูปแบบต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยลดอาการปวด รวมถึงอาการอื่น ๆ แล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งตับอ่อน

หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นจนไปกดทับอวัยวะข้างเคียง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา ดังนี้

  • น้ำหนักตัวลดลง ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เนื่องจากก้อนมะเร็งไปกดทับลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง หรืออาจเกิดจากตับอ่อนผลิตน้ำย่อยได้น้อยลง ส่งผลให้ร่างกายย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารได้น้อยลงไปด้วย
  • มีอาการดีซ่าน หากก้อนมะเร็งไปปิดกั้นท่อน้ำดีในตับ อาจทำให้เกิดอาการดีซ่าน เช่น ผิวและตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม หรืออุจจาระมีสีซีด เป็นต้น
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง เนื่องจากก้อนมะเร็งไปกดทับเส้นประสาทในช่องท้อง
  • ลำไส้อุดตัน ในกรณีที่ก้อนมะเร็งลุกลามหรือกดทับลำไส้เล็กส่วนต้น จะทำให้อาหารไม่สามารถเคลื่อนเข้าสู่ลำไส้ส่วนปลายได้

การป้องกันมะเร็งตับอ่อน

โรคมะเร็งตับอ่อนนั้นยังไม่มีวิธีการป้องกันที่แน่ชัด แต่อาจลดความเสี่ยงของมะเร็งชนิดนี้ได้ด้วยการดูแลสุขภาพตนเองให้ดี และปฏิบัติตามแนวทางลดความเสี่ยง ดังต่อไปนี้

  • เลิกสูบบุหรี่ ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์หรือโทรติดต่อศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ที่เบอร์ 1600 เพื่อขอคำแนะนำในการเลิกสูบบุหรี่
  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดปัญหาต่อตับอ่อนได้ ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับอ่อนได้ เช่น การเกิดโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

ควบคุมน้ำหนัก และเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอร่วมกับรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้และธัญพืช รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมันและอาหารที่มีไขมันสูงด้วย