รู้หรือไม่ว่า มะเร็งในเด็กถือเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้น ๆ ของเด็กและวัยรุ่นทั่วโลก โดยในแต่ละปีจะมีเด็กอายุ 0-19 ปี ที่ถูกวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งประเภทต่าง ๆ นี่จึงเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพในเด็กที่น่าสนใจ เพราะอาจเกิดขึ้นกับบุตรหลานหรือคนใกล้ตัวคุณได้
อย่างที่ทราบกันดีว่า โรคมะเร็งเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติ เติบโตรวดเร็ว มีขนาดหรือรูปทรงที่ผิดปกติ และทำลายเซลล์ดีรอบข้าง ก่อให้เกิดก้อนเนื้อร้ายตามจุดต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่เข้ารับการรักษา มะเร็งอาจลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ในปัจจุบันสาเหตุของมะเร็งในเด็กส่วนใหญ่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนมากมักเกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้เด็กที่ป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างดาวน์ซินโดรมหรือการติดเชื้อเรื้อรังบางชนิดอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งมากกว่าเด็กปกติ ในขณะที่มีเด็กส่วนน้อยมากที่เป็นมะเร็งจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
มะเร็งในเด็กที่พบได้บ่อย
มะเร็งในเด็ก คือมะเร็งที่พบตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์มารดาจนถึงช่วงอายุไม่เกิน 20 ปี โดยประเภทของมะเร็งในเด็กมักจะแตกต่างจากมะเร็งที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ ซึ่งเฉพาะในประเทศไทยก็มีผู้ป่วยเด็กที่ตรวจเจอเนื้อร้ายประมาณ 1,000 รายแทบทุกปี โดยมะเร็งที่พบได้มากที่สุด ได้แก่
-
มะเร็งเม็ดเลือดขาว
หรือที่เรียกกันว่า ลูคีเมีย พบได้ประมาณ 25-35 เปอร์เซ็นต์ของมะเร็งในเด็กทั้งหมด ถือเป็นมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในหมู่ผู้ป่วยเด็ก เกิดจากไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติขึ้นมาจำนวนมาก ทำให้กระบวนการทำงานของระบบเลือดผิดเพี้ยนไป พบมากโดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมโฟไซท์ (Acute Lymphocytic Leukemia: ALL) และชนิดไมอิลอยด์ (Acute Myelogenous Leukemia: AML)
ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดอาจมีสัญญาณอาการที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนมากมักมีอาการปวดข้อต่อและกระดูก อ่อนแรง เหนื่อยล้า ผิวซีด มีเลือดออกหรือฟกช้ำ มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง มีไข้ น้ำหนักตัวลดลง ติดเชื้อบ่อยครั้ง เลือดกำเดาไหลบ่อย หรือเหงื่ออกมากในตอนกลางคืน
-
เนื้องอกในสมองและไขสันหลัง
มะเร็งประเภทนี้พบได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แบ่งออกเป็นหลายชนิดขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดเนื้องอก ชนิดของเซลล์ที่มีความผิดปกติและความเร็วในการเจริญเติบโตของเนื้องอก ซึ่งแต่ละชนิดจะมีการรักษาที่ต่างกันไป โดยมักมีจุดเริ่มต้นที่สมองส่วนล่างอย่างสมองส่วนซีรีเบลลัมหรือก้านสมอง อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มองเห็นเป็นภาพซ้อนหรือภาพเบลอ เวียนศีรษะ ชัก มีปัญหาในการเดินหรือการหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ
-
มะเร็งนิวโรบลาสโตมา (Neuroblastoma)
นิวโรบลาสโตมาเป็นมะเร็งเซลล์ประสาทชนิดหนึ่ง พบประมาณ 6-7 เปอร์เซ็นต์ในผู้ป่วยมะเร็งเด็ก โดยเฉพาะในวัยทารกและเด็กเล็ก สำหรับเด็กที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไปมักพบได้น้อยมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเกิดมะเร็งขึ้นที่ท้องบริเวณต่อมหมวกไตชั้นในและปมประสาท โดยอาจสังเกตได้จากท้องที่บวมผิดปกติและยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างปวดกระดูกและมีไข้
-
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งชนิดนี้จะเกิดขึ้นกับระบบน้ำเหลืองหรือเนื้อเยื่อน้ำเหลือง และยังส่งผลต่อไขกระดูกและอวัยวะส่วนอื่นด้วย โดยชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหลัก ๆ จะแบ่งออกเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin's Lymphoma: HL) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin's Lymphoma: NHL) ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคอยู่ที่ 3 และ 5 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ สำหรับอาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดเนื้อร้าย ส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดอาการเหนื่อยล้า อ่อนแรง น้ำหนักตัวลดลง มีไข้ เหงื่อออก บวมที่ต่อมน้ำเหลืองโดยเฉพาะบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ
-
มะเร็งไตในเด็ก
พบได้ในไตข้างใดข้างหนึ่ง บางรายอาจเกิดขึ้นในไตทั้งสองข้างแต่ก็มีน้อยมาก ผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้ปกติจะอยู่ในช่วงอายุ 3-4 ปี แต่มักไม่พบในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ โดยมะเร็งไตจะคิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ ของมะเร็งในเด็กทั้งหมด ผู้ป่วยจะมีอาการบวมที่ท้อง คลำเจอก้อนที่ท้อง ร่วมกับอาการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นมีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ หรือทานอาหารได้น้อยลง
-
มะเร็งเแรบโดมัยโอซาร์โคมา (Rhabdomyosarcoma)
เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ตัวอ่อนที่พัฒนาไปสู่เซลล์กล้ามเนื้อลายเนื่องมากจากความผิดปกติของพันธุกรรม พบประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุ 2-5 ปี และยังสามารถพบได้ทุกที่ในร่างกาย ทั้งศีรษะ คอ ขาหนีบ ท้อง เชิงกราน หรือแม้กระทั่งแขนและขา
มะเร็งประเภทนี้มักก่อให้เกิดก้อนเนื้อขึ้นมากดทับอวัยวะในร่างกาย ทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอวัยวะใดถูกกดทับ เช่น อุจจาระได้ยาก ปัสสาวะปนเลือด มีก้อนออกมาจากช่องคลอด ระบบทางเดินหายใจอุดตัน เป็นต้น
-
มะเร็งจอประสาทตาในเด็ก (Retinoblastoma)
พบได้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยคิดเป็น 2-3 เปอร์เซ็นต์ของมะเร็งในเด็กทั้งหมด อาจเกิดขึ้นที่ตาข้างเดียวหรือพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ผู้ปกครองสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติที่ดวงตาได้ เช่น รูม่านตาเป็นสีขาวหรือสีชมพูเวลาเกิดแสงสะท้อนที่ดวงตา ตาวาว ตาเหล่ ปวดตา อาจมีตาอักเสบ ตาแดง ตามัว และสีของม่านตาทั้ง 2 ข้างไม่เหมือนกัน
-
มะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูกมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคในเด็กอยู่ที่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ได้แก่ มะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) ที่พบมากให้หมู่วัยรุ่น และมะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคมา (Ewing Sarcoma) ที่พบมากในเด็กเล็ก โดยอาการของมะเร็งประเภทนี้จะขึ้นอยู่กับชนิด ตำแหน่ง และขนาดของก้อนมะเร็ง ซึ่งความผิดปกติจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ อาจมีอาการปวดกระดูกเป็นส่วนใหญ่ คลำแล้วพบก้อนเนื้อผ่านผิวหนัง มีอาการชา กล้ามเนื้อแขนหรือขาอ่อนแรง หรือบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา
ทั้งนี้ มะเร็งในเด็กส่วนใหญ่อาจรักษาให้หายได้โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะของโรค ชนิดของมะเร็ง รวมถึงอายุและสุขภาพของตัวเด็กเอง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด หรือรังสีรักษาโดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความปลอดภัยของเด็กมากที่สุด แต่การรักษาเหล่านี้ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงร่วมด้วยได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ปกครองจะพยายามดูแลเป็นอย่างดี แต่โรคมะเร็งในเด็กบางครั้งก็ยากที่จะรู้หรือตรวจเจอได้ ดังนั้น หากบุตรหลานมีสัญญาณหรืออาการผิดปกติที่ไม่ยอมหายไป เช่น มีก้อนเนื้อหรือบวมผิดปกติ ผิวซีดหรือหมดแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ ฟกช้ำหรือมีเลือดออกง่าย การเดินผิดปกติ มีไข้ที่หาสาเหตุไม่ได้หรืออาการป่วยที่ไม่หายไป ปวดศีรษะบ่อยร่วมกับอาเจียนในบางครั้ง การมองเห็นเปลี่ยนไปฉับพลัน หรือน้ำหนักตัวลดลงอย่างฉับพลันก็ควรพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน