มือชาข้างเดียวเป็นอาการที่มือมีความรู้สึกน้อยลง หรืออาจมีความรู้สึกปวดแปลบ ๆ เหมือนถูกเข็มทิ่มทั่วทั้งมือ รวมถึงมืออาจจะไวต่อสัมผัสต่าง ๆ ทำให้เจ็บแปลบเมื่อถูกจับหรือโดนสิ่งของ มือชาข้างเดียวอาจเกิดจากสาเหตุที่ไม่น่ากังวล แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพบางอย่างได้เช่นกัน
มือชาข้างเดียวหรืออาการมือชา อาจเกิดจากสาเหตุทั่วไป เช่น การนอนผิดท่า หรือการนอนทับแขนเป็นเวลานาน ซึ่งทำให้เส้นประสาทถูกกดทับและเลือดไม่ไหลเวียนจนเกิดอาการชาที่มือกับแขน แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากสาเหตุที่รุนแรงกว่า เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาท ไขสันหลัง และการไหลเวียนของเลือด ซึ่งการทราบสาเหตุและอาการต่าง ๆ จะช่วยให้ระมัดระวังปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องและช่วยให้ได้รับการตรวจรักษาเร็วขึ้น
สาเหตุที่ทำให้มือชาข้างเดียว
มือชาข้างเดียวอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
1. เส้นประสาทหรือหลอดเลือดบริเวณแขนถูกกดทับ
เส้นประสาทหรือหลอดเลือดบริเวณมือหรือแขนอาจถูกกดทับจากการนั่งแล้วเอามือเท้าคางกับโต๊ะ หรือการนอนทับแขนเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยและไม่รุนแรงของอาการมือชาข้างเดียว เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวและจะหายไปเองเมื่อเปลี่ยนท่านั่งหรือท่านอน
2. ขาดวิตามินบี 12
การขาดวิตามินบี 12 เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้ทั่วไปในอาการมือชาและมือชาข้างเดียว เนื่องจากวิตามินบี 12 มีส่วนสำคัญในการทำงานของระบบประสาทและสมอง โดยนอกจากอาการมือชาข้างเดียว ยังอาจมีอาการชาที่เท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง และไม่อยากอาหารด้วย ส่วนสาเหตุที่ทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 12 อาจมาจาก อายุ พันธุกรรม หรือโรคกระเพาะอาหารและโรคแพ้ภูมิตัวเอง
3. ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy)
ระบบประสาทส่วนปลายคือระบบประสาทที่กระจายอยู่ทั่วร่างกายและมีหน้าที่รับคำสั่งจากสมองเพื่อควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทั้งยังมีหน้าที่ส่งข้อมูลสิ่งต่าง ๆ ที่ร่างกายสัมผัสกลับไปยังสมองเพื่อให้ประมวลผลออกมาเป็นความรู้สึกด้วย
เมื่อระบบประสาทส่วนปลายที่มีหน้าที่ส่งข้อมูลไปยังสมองเกิดอักเสบจึงทำให้เกิดอาการชาที่มือ รวมถึงอาการชาแปลบ ๆ อาการอ่อนไหวต่อสัมผัส และกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมไปถึงอาจทำให้มือชาข้างเดียว
ภาวะปลายประสาทอักเสบสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การขาดวิตามิน การดื่มแอลกอฮอล์มากไป โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคเบาหวาน โรคทางพันธุกรรม เนื้องอก และโรคอื่น ๆ โดยอาการที่สังเกตได้นอกจากอาการชา เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมากหรือน้อยไป ท้องผูก หรือท้องเสีย
4. กลุ่มอาการประสาทมือชา (Carpal Tunnel Syndrome)
กลุ่มอาการประสาทมือชา เกิดจากการที่เส้นประสาทมีเดียนที่มีหน้าที่ส่งความรู้สึกมายังนิ้วมือถูกกดทับ ซึ่งมีสาเหตุจากการใช้งานมือหรือนิ้วเป็นประจำ เช่น การพิมพ์ การเล่นดนตรี หรือการทำงานต่าง ๆ ทำให้เนื้อเยื่ออักเสบภายในจนเส้นประสาทถูกกดทับ และมีอาการชาที่นิ้วก่อนจะค่อย ๆ ลามมายังมือ
กลุ่มอาการประสาทมือชาอาจทำให้รู้สึกเสียวแปลบ หรือเจ็บนิ้วมือเวลาถือของต่าง ๆ ไปจนถึงอาจทำให้มืออ่อนแรงจนทำของหล่นได้ ทั้งนี้ กลุ่มอาการประสาทมือชาอาจส่งผลให้มือชาข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ รวมถึงยังสามารถเกิดร่วมกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) ได้เช่นกัน
5. ปัญหาบริเวณไขสันหลัง
ไขสันหลังเป็นส่วนสำคัญของระบบประสาท ซึ่งมีหน้าที่รับส่งสัญญาณจากสมองสู่ร่างกายทำให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ ขึ้น เมื่อเส้นประสาทบริเวณนี้ถูกกดทับ อักเสบ หรือบาดเจ็บจึงทำให้สัญญาณส่งไปไม่ถึงสมอง และเกิดอาการมือชาหรือส่วนอื่นของร่างกาย รวมถึงอาจทำให้มือชาข้างเดียว
ปัญหาที่อาจเกิดบริเวณไขสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้น โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ กระดูกคอเสื่อม และเนื้องอกในกระดูกสันหลัง
6. โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งเป็นหนึ่งในโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune Diseases) ซึ่งส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อในสมองหรือไขสันหลังที่มีระบบประสาทส่วนกลางอยู่ โดยปกติแล้วโรคนี้จะทำให้เกิดอาการชาแค่ซีกเดียวของร่างกาย จึงทำให้เกิดอาการมือชาข้างเดียวได้ ส่วนอาการอื่นที่บ่งบอกถึงโรคนี้ เช่น สูญเสียการมองเห็น เห็นภาพซ้อน อ่อนล้า ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ พูดไม่ชัด
7. โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
มือชาข้างเดียวอาจมีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมองได้ เนื่องจากเป็นโรคที่มักทำให้ร่างกายมีอาการชาซีกเดียว โดยโรคหลอดเลือดสมองเกิดจากเส้นเลือดสมองแตกหรือถูกอุดกั้น จนเลือดและออกซิเจนที่ส่งไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ซึ่งนอกจากอาการชาแล้ว โรคหลอดเลือดสมองยังอาจทำให้พูดลำบาก มีปัญหาในการมองเห็น หน้าเบี้ยวข้างเดียว โดยหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที
8. เนื้องอกในสมอง
เนื้องอกในสมองอาจทำให้เกิดความผิดปกติหลายอย่างกับร่างกาย เนื่องจากเนื้องอกรุกล้ำเนื้อเยื่อส่วนอื่นของสมอง สร้างแรงดันภายในกระโหลก และทำให้มีเลือดออกในสมองได้ อาการทั่วไปของเนื้องอกในสมอง เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ทรงตัวไม่อยู่ นิสัยหรือพฤติกรรมเปลี่ยน ส่วนอาการมือชาข้างเดียวอาจเกิดจากมีเนื้องอกในสมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum) ที่มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและประสาทสัมผัส
9. โรคเรื้อน (Leprosy)
โรคเรื้อนเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อ ไมโครแบคทีเรียม เลเปร (Mycobacterium Leprae) ซึ่งติดต่อผ่านทางละอองของเหลวจากการไอหรือจาม โรคเรื้อนสามารถส่งผลต่อผิวหนัง ดวงตา และเส้นประสาท ทำให้เกิดรอยแดงหรือขาวบนผิวหนัง มีแผลที่มือหรือเท้าโดยไม่รู้สึกเจ็บ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และหากอาการรุนแรงก็อาจทำให้สูญเสียการมองเห็น หรือแขนขาพิการได้
ส่วนอาการมือชา แขนชา หรือมือชาข้างเดียว เกิดจากเชื้อแบคทีเรียของโรคที่เข้าไปอยู่บริเวณเส้นประสาท ส่งผลให้เมื่อร่างกายพยายามทำลายเชื้อแบคทีเรีย เส้นประสาทจึงถูกทำลายไปด้วยจนมีอาการชา หรือสูญเสียประสาทสัมผัสไป
10. โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มือชา เนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลออกจากกระแสเลือดได้ตามปกติ ทำให้มีน้ำตาลเหลืออยู่ในกระแสเลือดเป็นเวลานานจนเกิดผลกระทบต่อเส้นประสาท รวมถึงทำให้เกิดภาวะปลายประสาทอักเสบ แต่โดยปกติแล้ว อาการชาจากโรคเบาหวานจะเกิดที่เท้าและขาก่อนลามมายังมือและแขน
11. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
อาการมือชาอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยากันชัก ยารักษาโรคหัวใจ ยาปรับความดัน และยารักษาโรคมะเร็ง โดยยารักษามะเร็งที่ใช้ในการทำเคมีบำบัดมักจะมีผลต่อการทำลายระบบประสาทมาก ทำให้เกิดการชาแบบต่าง ๆ ที่มือและส่วนอื่นของร่างกาย อาการชาจากยารักษามะเร็งสามารถหายเองได้ โดยประสาทสัมผัสต่าง ๆ จะกลับมาหลังผ่านการทำเคมีบำบัด โดยอาจใช้ระยะเวลานานถึง 2 ปี
วิธีรับมือเบื้องต้นเมื่อมือชาข้างเดียว
แม้ว่าการรักษามือชาข้างเดียวจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ แต่ในขั้นต้นเราอาจสามารถรับมือได้เองด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
- พักมือจากการพิมพ์หรือการทำงานที่ใช้ข้อมือและนิ้วมือเป็นประจำ เพื่อป้องกันการอักเสบจนเส้นประสาทถูกกดทับ
- เวลานอนควรระวังไม่ให้นอนทับแขนหรือมือ เพราะอาจกดทับเส้นประสาทได้ และเวลาทำงานควรระวังไม่ให้มีการบิดข้อมือเกินไป เช่น ถ้าทำงานหน้าคอม ควรวางข้อมือให้ตรงและมืออยู่ต่ำกว่าข้อศอก
- กินอาหารที่มีวิตามินบี 12 สูง เช่น ปลาทูสด ปลากะพงขาว เนือไก่ ไข่ รวมถึงอาหารเสริม
- ถ้ามีอาการปวดร่วมกับอาการชา สามารถกินยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล หรือ ยาไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการได้
- ใส่อุปกรณ์พยุงข้อมือเพื่อป้องกันการใช้งานข้อมือที่มากเกินไปจนกดทับเส้นประสาท
- ออกกำลังกายบริหารมือด้วยการสะบัดมือ 1 นาที หมุนข้อมือและกระดกขึ้นลงอย่างละ 20 ครั้ง ยืดข้อมือด้วยการยืดแขน ใช้มือข้างหนึ่งจับหลังมืออีกข้างโดยปลายนิ้วชี้ลงแล้วค่อย ๆ กดมือลงจนรู้สึกตึงข้อมือ ทำค้างไว้ 5 วินาที 10 ครั้ง แล้วเปลี่ยนเป็นจับมือด้านที่หงายขึ้นและทำเหมือนเดิม
มือชาข้างเดียวอาจไม่ใช่อาการอันตรายหากเป็นไม่นานแล้วหายไป แต่หากเป็นอย่างต่อเนื่อง และมีอาการอื่น ๆ เช่น ชาตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เวียนหัว พูดไม่รู้เรื่อง ผื่นขึ้น อั้นอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ได้ เป็นอัมพาต ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจและการรักษาให้ทันท่วงที