มือเย็น

ความหมาย มือเย็น

มือเย็น (Cold hands) เป็นอาการที่พบได้โดยทั่วไป มักเกิดจากการสัมผัสกับอุณหภูมิที่ต่ำกว่าปกติ เช่น การสัมผัสกับน้ำเย็น การอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็น อย่างห้องที่มีเครื่องปรับอากาศหรือเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวที่อุณหภูมิต่ำลง เป็นต้น แต่ในบางครั้งอาการมือเย็นก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่างได้

แม้ว่าส่วนใหญ่อาการมือเย็นมักไม่เป็นอันตรายและหายได้เอง หรือหายได้ด้วยการใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อรักษาความอบอุ่นของมือ แต่หากเกิดในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ อย่างผู้สูงอายุ ทารก เด็ก หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด

Gloved,Hands,Holding,Cup,Of,Coffee.(selective,Focus)

อาการมือเย็น

อาการมือเย็นมักเกิดความรู้สึกเย็นที่บริเวณปลายนิ้วมือและมือ โดยมักรู้สึกได้ถึงความเย็นเมื่อสัมผัสกับส่วนอื่นของร่างกายที่มีอุณหภูมิสูงกว่า หากอยู่ในสถานที่เย็นจัดอาจทำให้รู้สึกว่ามือชา มือแข็ง มือสั่น ขยับนิ้วได้ยากขึ้น และสีของผิวหนังบริเวณมือดูซีดลงหรือเปลี่ยนเป็นสีม่วง

หากอาการมือเย็นมีสาเหตุมาจากโรคหรือปัญหาสุขภาพ อาจพบอาการอื่น ๆ อย่างอาการปวดมือ นิ้วบวม มือบวม มือชา ผิวหนังและเล็บเปลี่ยนเป็นสีขาวซีดหรือม่วง ผิวหนังตึงหรือด้านกว่าปกติ หรืออาการอื่นๆ  แม้ว่าส่วนใหญ่อาการมือเย็นมักไม่เป็นอันตรายและหายได้เอง แต่ถ้าเกิดอาการดังกล่าวต่อเนื่องกันนาน เกิดขึ้นบ่อย เป็นติดต่อกันาน มีอาการผิดปกติอื่น ๆ หรืออาการรุนแรงจนส่งต่อผลต่อชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างเหมาะสม

สาเหตุของอาการมือเย็น

สาเหตุหลักของอาการมือเย็นมาจากการสูบฉีดเลือดไปยังบริเวณมือและปลายนิ้วลดลง เพราะเดิมทีเลือดที่ไหลเวียนภายในร่างกายจะอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม เมื่อหัวใจสูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ อย่างคงที่ก็จะช่วยรักษาอุณหภูมิของอวัยวะนั้น ๆ ได้

ดังนั้นเมื่อเลือดไหลเวียนไปที่มือน้อยลงจึงทำให้มือเย็นขึ้น โดยสาเหตุที่ทำให้เลือดสูบฉีดได้น้อยลงอาจเพราะว่ามือและนิ้วมือเป็นอวัยวะส่วนปลายสุดของร่างกายทำให้เลือดสูบฉีดไปถึงได้น้อย ร่วมกับการหดตัวของหลอดเลือดบริเวณฝ่ามือและนิ้วมือที่เกิดจากการสัมผัสกับความหนาวเย็นเป็นเวลานาน นอกจากนี้ความรู้สึกเย็นบริเวณมืออาจเป็นผลมาจากเส้นประสาทบริเวณมือเสียหายได้เช่นกัน

โรคและปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจทำให้หลอดเลือดหดตัว ลดประสิทธิภาพการสูบฉีดเลือด และสร้างความเสียหายให้กับเส้นประสาทบริเวณมือได้ เช่น

โรคเรเนาด์ (Raynaud Disease)

เป็นโรคที่ส่งผลให้หลอดเลือดหดตัวมากกว่าปกติเมื่อสัมผัสกับความเย็นหรือความเครียด พบได้น้อย โดยส่วนใหญ่ อาการของโรคไม่ร้ายแรง แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายได้เช่นกัน โรคเรเนาด์อาจเกิดขึ้นเอง เป็นผลมาจากโรคอื่น เช่น กลุ่มโรคข้ออักเสบ โรคภูมิแพ้ตนเอง (Lupus) ภาวะหนังแข็ง (Scleroderma) โรคเบอร์เกอร์ (Buerger's Disease) รวมถึงการบาดเจ็บและการเคลื่อนไหวมือในรูปแบบเดิมซ้ำ ๆ ในผู้ที่ประกอบอาชีพบางอย่าง

โรคเบาหวาน 

ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายของเส้นประสาทตามส่วนต่าง ๆ รวมถึงบริเวณมือและปลายนิ้วจึงอาจพบกับอาการมือเย็นได้ อีกทั้งระบบไหลเวียนเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานยังทำงานได้น้อยกว่าคนทั่วไปจึงไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปยังบริเวณมือได้เพียงพอและทำให้อุณหภูมิบริเวณมือลดลง นอกจากนี้โรคเบาหวานอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจที่อาจส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดและการหดขยายของหลอดเลือดด้วยเช่นกัน

ภาวะเลือดจาง (Anemia) 

ภาวะเลือดจางมักเกิดจากร่างกายขาดธาตุเหล็ก ส่วนสาเหตุที่ทำให้มือเย็นก็เพราะว่าธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin)ในเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีหน้าที่นำออกซิเจนจากปอดไปยังเซลล์ตามอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงมือ เมื่อขาดธาตุเหล็ก เม็ดเลือดแดงจึงไม่สมบูรณ์และทำงานบกพร่อง ส่งผลให้อวัยวะบางส่วนไม่สามารถรักษาอุณหภูมิที่เหมาะสมได้

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral Arterial Disease: PAD)

เป็นโรคที่เกิดจากสะสมของพลัค (Plaque) ภายในผนังหลอดเลือดแดงส่วนปลาย ทำให้หลอดเลือดแดงตีบ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปได้น้อยจึงอาจเสี่ยงต่ออาการมือเย็น PAD อาจพบได้ราว 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อายุ 50 ขึ้นไป

ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) 

ภาวะนี้จะส่งผลต่อระบบเผาผลาญและอุณหภูมิภายในร่างกายทำให้รู้สึกหนาวเย็น และทำให้เกิดอาการมือเย็นได้ด้วย ภาวะนี้พบได้บ่อยในกลุ่มคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป

ภาวะขาดวิตามินบี 12 

การขาดวิตามินบี 12 ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทจึงอาจทำให้เกิดอาการมือเท้าเย็น มือชา และอาจเป็นสาเหตุของโรคเลือดจางได้

นอกจากนี้ พฤติกรรมและปัจจัยบางอย่างก็อาจเป็นสาเหตุของอาการมือเย็นได้ เช่น

  • การสูบบุหรี่ เพราะสารเคมีในบุหรี่ส่งผลให้หลอดเลือดภายในร่างกายหดตัวลง รวมถึงหลอดเลือดบริเวณมือและเท้า ผู้ที่สูบบุหรี่จึงอาจมีอาการมือเย็นได้
  • ความเครียดและความวิตกกังวลอาจทำให้เกิดอาการมือเย็นได้เช่นกัน
  • ทารกและเด็กเล็ก เนื่องจากร่างกายของเด็กยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จึงทำให้การควบคุมอุณหภูมิร่างกายทำได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งผิวหนังของเด็กที่บางกว่าผู้ใหญ่และชั้นไขมันที่น้อยกว่าจึงอาจทำให้ร่างกายสูญเสียความอบอุ่นได้ง่าย
  • ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มคนที่อวัยวะและระบบต่าง ๆ ทำงานได้น้อยลง จึงทำให้ร่างกายรับมือกับความหนาวเย็นได้น้อยกว่าช่วงวัยอื่น

การวินิจฉัยอาการมือเย็น

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจสอบถามอาการที่พบ ระยะเวลาที่เกิด รวมถึงโรคประจำตัว ยาที่ใช้ ประวัติการบาดเจ็บ และพฤติกรรมที่อาจเสี่ยงต่ออาการมือเย็น โดยแพทย์อาจตรวจร่างกายหรือตรวจลักษณะภายนอกของมือก่อนแล้วจึงตรวจเพิ่มเติมด้วยขั้นตอนต่อไปนี้

  • ตรวจการตอบสนองต่อความเย็น (Cold Stimulation Test) แพทย์จะใช้อุปกรณ์วัดการตอบสนองติดไว้กับนิ้วมือ จากนั้นจะให้ผู้ป่วยจุ่มนิ้วและแช่ลงไปในถังน้ำแข็งเพื่อดูการตอบสนองต่อความเย็นของผิวหนังและเนื้อเยื่อบริเวณมือ รวมทั้งเวลาที่ร่างกายใช้ในการปรับอุณหภูมิให้กลับมาปกติ
  • ตรวจหาภาวะหนังแข็ง เพราะภาวะดังกล่าวทำให้เกิดอาการมือเย็นได้เช่นกัน โดยแพทย์จะหยดสารทางการแพทย์ลงบนเล็บ และส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะดังกล่าว
  • ตรวจเลือด เพื่อหาร่องรอยของปัญหาสุขภาพที่อาจทำให้เกิดอาการมือเย็น เช่น โรคเบาหวาน ภาวะเลือดจาง และภาวะขาดวิตามินบี 12

แพทย์อาจใช้ผลตรวจร่างกาย ผลการตรวจจากขั้นตอนเฉพาะ และประวัติของผู้ป่วยเพื่อตัดโรคที่ไม่เกี่ยวข้องออกและวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการมือเย็น

การรักษาอาการมือเย็น

วิธีรักษาอาการมือเย็นอาจแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ ดังนี้

การดูแลตนเอง

หากสาเหตุของอาการมือเย็นมาปัจจัยภายนอก การดูแลตนเองอย่างเหมาะสมอาจเพียงพอที่จะลดอาการดังกล่าวได้ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการมาจากโรค แพทย์อาจแนะนำให้ดูแลตนเองควบคู่ไปด้วยกัน ซึ่งวิธีดูแลตนเองจากอาการมือเย็นมีดังนี้

  • นวดหรือถูมือไปมาเพื่อให้เกิดความอุ่น
  • สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด สวมถุงมือเพื่อรักษาความอบอุ่น
  • ปรับอุณหภูมิในที่พักอาศัยให้เหมาะสม
  • งดสูบบุหรี่และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ทำกิจกรรมเพื่อลดความเครียด
  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ

การใช้ยา

หากแพทย์พบโรคที่เป็นสาเหตุของอาการมือเย็น แพทย์อาจสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วย รวมถึงการรักษาอื่นเพื่อรักษาโรคนั้น ๆ ในบางกรณีแพทย์อาจสั่งจ่ายยาที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดที่มักใช้ในผู้ป่วยภาวะความดันโลหิต เพื่อให้เลือดสูบฉีดไปยังมือได้ดีขึ้น ได้แก่ ยาต้านแคลเซียม (Calcium Channel Blockers) ยาแอลฟาบล็อกเกอร์ (Alpha Blockers) และยาลดความดันกลุ่ม ACE (Angiotensin Converting Enzyme)

นอกจากนี้หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือผู้ป่วยมีอาการเส้นประสาทและเนื้อเยื่อเสียหายจากสาเหตุบางอย่างจนทำให้เกิดอาการมือเย็น แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อรักษาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนของอาการมือเย็น

โดยส่วนใหญ่อาการมือเย็นที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคอาจไม่พบภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่ผู้ป่วยที่มีอาการมาจากปัญหาสุขภาพอาจพบภาวะแทรกซ้อนแตกต่างกันไปตามโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยโรคเรเนาด์อาจพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง อย่างเกิดแผลตามผิวหนังและเกิดเนื้อตายเน่า (Gangrene) ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจพบแผลบริเวณมือและนิ้ว ซึ่งแผลมักหายช้าและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

การป้องกันอาการมือเย็น

อาการมือเย็นมือเย็นอาจป้องกันได้ด้วยการรักษาอุณหภูมิร่างกายด้วยการสวมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ สวมถุงมือ เคลื่อนไหวบ่อย ๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ ดื่มเครื่องดื่มร้อน งดสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ควรดูแลผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการมือเย็น อย่างผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัวมากกว่าคนทั่วไป

เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดอาการมือเย็น ควรรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และทำกิจกรรมลดความเครียดอยู่เสมอ