ยากันชัก
ยากันชัก (Anticonvulsant) เป็นกลุ่มยาที่ใช้ป้องกันหรือระงับอาการชัก ออกฤทธิ์โดยช่วยให้ระบบประสาททำงานเป็นปกติ ใช้รักษาอาการชักและโรคลมบ้าหมู ทั้งยังอาจใช้รักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ด้วย เช่น อาการปวดประสาท และโรคไบโพลาร์ เป็นต้น ซึ่งยาในกลุ่มนี้อาจช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาทถูกทำลาย และมีผลต่อการควบคุมอารมณ์ของผู้ป่วยไบโพลาร์ โดยช่วยให้ผู้ป่วยมีอารมณ์คงที่
สำหรับผู้ที่มีอาการชัก ร่างกายของผู้ป่วยอาจมีการเปลี่ยนแปลงในระดับการส่งสัญญาณไฟฟ้าของระบบประสาทมากเกินไปหรือผิดปกติ ยากันชักอาจมีผลต่อสารสื่อประสาทอย่างกาบา ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการส่งแรงกระตุ้นไฟฟ้าผ่านระบบประสาท และมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว รวมทั้งยากันชักอาจมีผลต่อตัวรับสารสื่อประสาท เช่น กลูตาเมต เป็นต้น และยังอาจช่วยเปลี่ยนช่องทางการส่งสัญญาณไฟฟ้าในเซลล์ประสาทด้วย
ตัวอย่างยาในกลุ่มยากันชัก มีดังนี้
- คาร์บามาซีปีน เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยลดการนำไฟฟ้าที่ผิดปกติของระบบประสาทและสมอง และส่งผลให้เส้นประสาทหยุดตอบสนองแม้ถูกกระตุ้นซ้ำ ๆ ใช้รักษาโรคลมชัก โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า และโรคไบโพลาร์
- เฟนิโทอิน ออกฤทธิ์ช่วยยับยั้งหรือชะลอการทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาท และส่งผลให้สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่สามารถสร้างกระแสประสาทไปกระตุ้นร่างกายให้เกิดอาการชักได้ โดยนำมาใช้รักษาอาการชัก
- กรดวาลโปรอิก เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อเนื้อเยื่อสมอง ใช้เพื่อยับยั้งอาการชัก มักใช้ในการรักษาโรคไบโพลาร์และไมเกรน
นอกจากนี้ ยังมียากันชักกลุ่มใหม่ ซึ่งออกฤทธิ์ในร่างกายได้นานกว่า และทำให้เกิดผลข้างเคียงได้น้อยกว่ายากลุ่มเก่าด้วย เช่น กาบาเพนติน พรีกาบาลิน เป็นต้น
คำเตือนในการใช้ยากันชัก
ตัวอย่างคำเตือนทั่วไปในการใช้ยากันชัก มีดังนี้
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยากลุ่มนี้ หากมีประวัติแพ้ยากันชักชนิดใด ๆ รวมไปถึงประวัติอาการแพ้อื่น ๆ เพราะยานี้อาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ชนิดรุนแรง หรือก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงประวัติทางการแพทย์หรือโรคประจำตัวต่าง ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ เช่น แอสไพริน เป็นต้น
- ปฏิบัติตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา หรือตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ
- ยากันชักบางชนิดอาจมีผลทำลายตับ ไต หรือไปลดปริมาณเกล็ดเลือดได้ ผู้ที่ใช้ยาจึงควรรับการตรวจเลือดเพื่อตรวจดูความผิดปกติอยู่เสมอ และยากันชักบางชนิดอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับตับในระยะยาว ผู้ที่ใช้ยาจึงควรเข้ารับการตรวจร่างกายอยู่เสมอเช่นกัน
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้โดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ เนื่องจากอาจทำให้ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการเกิดความพิการแต่กำเนิดได้
- ไม่ควรเริ่มหรือหยุดใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะสตรีที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดอื่นในขณะที่ใช้ยากลุ่มนี้หากไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่ใช้ยา
- ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ ควบคุมเครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงซึมหลังใช้ยา
ผลข้างเคียงที่เกิดจากยากันชัก
ยากันชักอาจส่งผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ตัวสั่น มีผื่นขึ้น และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยาในกลุ่มนี้อาจส่งผลทำลายตับ ไต ลดจำนวนเกล็ดเลือด ทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพซ้อน และสูญเสียความสามารถในการทำงานประสานกันของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย รวมทั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความคิดหรือพฤติกรรมฆ่าตัวตายอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ยากันชักแต่ละชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูลจากฉลากยาแต่ละชนิดอย่างละเอียดก่อนใช้งาน และใช้ยาแต่ละชนิดอย่างถูกวิธีเสมอ