ยาคุมฉุกเฉิน (Emergency Contraceptive Pill)

ยาคุมฉุกเฉิน (Emergency Contraceptive Pill)

ยาคุมฉุกเฉิน หรือยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency Contraceptive Pill) เป็นยาป้องกันการตั้งครรภ์หลังการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้คุมกำเนิด หรือเกิดความผิดพลาดจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น ถุงยางอนามัยฉีกขาด ฝ่ายหญิงลืมรับประทานยาคุมกำเนิด หรือการถูกข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หลังมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน 

ยาคุมฉุกเฉินจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์หากรับประทานทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือภายใน 72 ชั่วโมง (3 วัน) โดยตัวยาจะช่วยป้องกันการตกไข่ และอาจช่วยยับยั้งการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิกับอสุจิแล้วในเยื่อบุโพรงมดลูก แต่ยาคุมกำเนิดไม่สามารถยับยั้งไข่ที่ฝังตัวไปแล้ว หรือช่วยให้ผู้ที่ตั้งครรภ์แท้งบุตรได้ และยังไม่พบว่าก่อให้เกิดความพิการต่อทารกในครรภ์

ยาคุมฉุกเฉิน

ยาคุมฉุกเฉินมีทั้งชนิดฮอร์โมนรวม คือฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogens) ผสมกับฮอร์โมนกลุ่มโพรเจสติน (Progestins) และชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสติน ซึ่งยาคุมกำเนิดฉุกเฉินนิยมใช้ในประเทศไทยคือ ชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสติน ซึ่งในปัจจุบันมี 2 แบบ คือ ยาคุมฉุกเฉินขนาด 1.5 มิลลิกรัม และยาคุมฉุกเฉินขนาด 0.75 มิลลิกรัม

เกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน

กลุ่มยา ยาคุมกำเนิด
ประเภทยา ยาที่หาซื้อได้เอง
สรรพคุณ ป้องกันการตั้งครรภ์ กลุ่มผู้ป่วย ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category X ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือในสตรีที่อาจตั้งครรภ์ เพราะจากการศึกษาในมนุษย์และสัตว์แสดงให้เห็นว่า ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์มนุษย์และตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ หรือพบหลักฐานยืนยันว่า เกิดความเสี่ยงที่อันตรายต่อทารกในครรภ์ การใช้ยามีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติสูงกว่าประโยชน์ที่อาจได้รับอย่างชัดเจน
การใช้ยาในผู้ให้นมบุตร ยานี้ถูกขับออกทางน้ำนมได้ แต่จากการศึกษายังไม่พบผลข้างเคียงของการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสตินต่อกระทบต่อสุขภาพของผู้ให้นมบุตรและทารกที่ดื่มนมแม่
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ด

คำเตือนของการใช้ยาคุมฉุกเฉิน

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยาคุมฉุกเฉิน ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาคุมฉุกเฉิน 
  • หากตนเองมีประวัติทางสุขภาพ โดยเฉพาะมีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนการใช้ยาคุมฉุกเฉิน 
  • ยาคุมฉุกเฉินอาจทำให้ผู้หญิงบางรายมีประจำเดือนมากะปริบกะปรอย มาล่าช้า หรือมาก่อนกำหนด หากประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนด 7 วัน ควรตรวจการตั้งครรภ์
  • การรับประทานยาคุมฉุกเฉินอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • ยาคุมฉุกเฉินควรใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น หากมีความจำเป็นต้องคุมกำเนิดในระยะยาวควรเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น หรือปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ
  • ยาคุมฉุกเฉินอาจทำให้เวียนศีรษะ จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ขับขี่ยานพาหนะ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาในช่วงที่มีการใช้ยา เพราะอาจมีอาการเวียนศีรษะมากขึ้น

ปริมาณการใช้ยาคุมฉุกเฉิน

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาคุมฉุกเฉินจะขึ้นอยู่กับชนิดของยา ผู้ใช้ยาควรอ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์ยาหรือปรึกษาเภสัชกรก่อนรับประทาน โดยชนิดที่นิยมใช้คือยาคุมฉุกเฉินที่มีตัวยาลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ซึ่งมีปริมาณการใช้ที่แนะนำ ดังนี้

ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 แผง มี 2 เม็ด ปริมาณ 0.75 มิลลิกรัม 

รับประทาน 1 เม็ดทันที หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วรับประทานอีก 1 เม็ด ใน 12 ชั่วโมงถัดมา ภายใน 72 ชั่วโมง (3 วัน) หลังการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน

ยาคุมฉุกเฉินแบบแผงมี 1 เม็ด ปริมาณ 1.5 มิลลิกรัม 

รับประทานทันที หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ภายใน 72 ชั่วโมง (3 วัน) หลังการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน

การใช้ยาคุมฉุกเฉิน

การใช้ยาคุมฉุกเฉินควรอ่านฉลากยาหรือปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ ผู้หญิงควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันทีหลังการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน เพื่อประสิทธิผลสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ 

แต่ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินเพื่อคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่อง เพราะยาคุมฉุกเฉินมีประสิทธิภาพป้องกันการตั้งครรภ์ได้ไม่ดีเท่าการคุมกำเนิดประเภทอื่น การใช้ยาคุมฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นการสะสมฮอร์โมนในร่างกายมากเกินความจำเป็น และอาจส่งผลเสียต่อร่างกายหรือก่อให้เกิดอาการป่วยต่าง ๆ ตามมา 

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยไมเกรน หรือมีอาการป่วยเกี่ยวกับหัวใจ ตับ และผู้ที่กำลังให้นมบุตรก็สามารถใช้ยาคุมฉุกเฉินได้เช่นกัน

ในกรณีที่ผู้ใช้ยาอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร เพราะอาจจำเป็นต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินซ้ำอีกครั้ง

ปฏิกิริยาระหว่างยาคุมฉุกเฉินกับยาอื่น

ยาคุมฉุกเฉินอาจทำปฏิกิริยากับยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง อาหารเสริม หรือสมุนไพรบางชนิดจนเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง หากกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน

การใช้ยาคุมฉุกเฉินมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เรื้อรังหรือเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่อาจพบอาการข้างเคียงเล็กน้อยในระยะสั้น ๆ เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดหน้าอก รู้สึกป่วย ร่างกายอ่อนล้า ประจำเดือนมาผิดปกติหรือมีเลือดไหลก่อนถึงรอบประจำเดือน

ส่วนกลุ่มอาการผลข้างเคียงที่พบได้น้อยมาก เช่น หน้ามืด วิงเวียน คลื่นไส้ และอาเจียน แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น หรือประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนดเกินกว่า 7 วัน ควรตรวจการตั้งครรภ์ และรีบไปปรึกษาแพทย์