ยาดม
ยาดม คือ ยาน้ำสำหรับสูดดมบรรเทาอาการคัดจมูก เวียนหัว เป็นลม หรือทารักษาอาการคัน บวม แดงจากแมลงกัดต่อย ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ ยาน้ำแอมโมเนีย และยาน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด เช่น การบูร เมนทอล เมทิลซาลิซีเลต เป็นต้น
เกี่ยวกับยาดม
กลุ่มยา | ยาดม |
ประเภทยา | ยาที่หาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | ใช้สูดดมบรรเทาอาการคัดจมูก เวียนหัว เป็นลม ใช้ทารักษาอาการคัน บวม แดงจากแมลงกัดต่อยหรือการสัมผัสพืชบางชนิด |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ และเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป |
รูปแบบของยา | ยาน้ำผสมน้ำมันหอมระเหย ยาน้ำแอมโมเนีย ยาน้ำผสมน้ำมันหอมระเหย ยาน้ำแอมโมเนีย |
คำเตือนในการใช้ยาดม
- ห้ามเก็บหรือทิ้งบรรจุภัณฑ์ยาน้ำแอมโมเนียใกล้แหล่งกำเนิดความร้อนหรือประกายไฟ เพราะยาอาจติดไฟได้
- ห้ามใช้ยาดมติดต่อกันเป็นเวลานาน และไม่ควรสูดดมยาที่ผสมเมทิลซาลิซีเลต เพราะอาจทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดการระคายเคืองได้
- ห้ามทายาดมบริเวณผิวหนังที่บอบบางหรือมีแผลเปิด และห้ามให้ยาเข้าตา เพราะอาจทำให้ตาระคายเคืองหรือแสบร้อนได้ หากยาสัมผัสกับผิวหนังบริเวณดังกล่าวหรือยาเข้าตา ให้ผู้ป่วยล้างบริเวณนั้นด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 20 นาที โดยห้ามถูหรือทาขี้ผึ้ง แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที
- ห้ามรับประทานยาดม หากกลืนยาโดยอุบัติเหตุให้ดื่มน้ำมาก ๆ แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที
- ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดม
- ไม่ควรใช้ยาดมในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หรือต้องใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
- ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคประจำตัวอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาดม
- ห้ามใช้ยาดมหากแพ้น้ำมันหอมระเหยหรือแอมโมเนีย หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง โรคตา โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดม
- ผู้ที่หน้ามืดหรือหมดสติบ่อย ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคหัวใจ ต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาสาเหตุของการหมดสติ
- ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หากอาการเจ็บป่วยไม่ทุเลาลงหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นหลังจากใช้ยาดม
- ผู้ป่วยอาจติดการสูดยาดมเป็นนิสัยได้หากใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะส่วนผสมบางชนิดโดยเฉพาะการบูรและเมนทอลอาจมีผลต่อระบบประสาท
ปริมาณการใช้ยาดม
- ใช้สำลีชุบยาเล็กน้อยแล้วสูดดม หรือสูดดมยาจากบรรจุภัณฑ์โดยตรง เพื่อบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก เวียนหัว
- ใช้สูดดมช้า ๆ เพื่อรักษาอาการหน้ามืดจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้น หรือใช้สำลีชุบยาน้ำแอมโมเนียเพื่อให้ผู้ป่วยที่เป็นลมสูดดมช้า ๆ จนกว่าจะรู้สึกตัว โดยถือสำลีให้ห่างจากจมูกของผู้ป่วยประมาณ 4 นิ้ว
- ใช้ทาบาง ๆ บริเวณผิวหนัง เพื่อรักษาอาการคัน บวม แดงจากแมลงกัดต่อยหรือการสัมผัสพืชบางชนิด
การใช้ยาดม
- ผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังรับประทานยารักษาโรคอื่น ๆ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเสมอ
- สำหรับการสูดดมยาดม ให้ใช้สำลีหรือผ้าเช็ดหน้าชุบยาน้ำผสมน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในแท่งยาดมแล้วสูดดม หรือสูดดมยาจากบรรจุภัณฑ์โดยตรง โดยถือยาให้ห่างจากจมูกเล็กน้อย
- หากต้องการสูดดมยาอย่างต่อเนื่อง ให้ทายาน้ำผสมน้ำมันหอมระเหยปริมาณเล็กน้อยบริเวณจมูก ลำคอ และหน้าอก แต่ไม่ควรทายาในปริมาณมาก หรือสอดแท่งยาดมในรูจมูกเพื่อสูดดมตลอดทั้งวัน เพราะอาจทำให้เยื่อบุโพรงจมูกระคายเคืองได้
- ควรเช็ดบรรจุภัณฑ์ให้สะอาดและปิดฝาให้มิดชิด ไม่ควรใช้ยาดมของผู้อื่น เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อบางชนิดได้
- ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากมือเด็กและแสงแดด และหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุของยา
- ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากมีอาการป่วยรุนแรง เพราะยาดมใช้รักษาอาการได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาดม
ยาดมอาจทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดการระคายเคืองได้ โดยเฉพาะหากผู้ป่วยใช้ผิดวิธี และผู้ที่สูดดมยาน้ำแอมโมเนียอาจไอหรือน้ำตาไหลเล็กน้อยได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น เวียนหัว ปวดหัว ปวดตา มองไม่ชัด อาเจียน ท้องเสีย รวมทั้งมีอาการแพ้ เช่น มีผื่นคัน และมีอาการบวมบริเวณใบหน้าหรือลำคอ หายใจลำบาก เป็นต้น