ยาต้านเชื้อรา (Antifungal Drug)

ยาต้านเชื้อรา (Antifungal Drug)

ยาต้านเชื้อรา (Antifungal Drug) เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อราชนิดต่าง ๆ ทั้งภายในและนอกร่างกาย เช่น เชื้อราที่หนังศีรษะหรือผิวหนัง อย่างน้ำกัดเท้า กลาก สังคัง เชื้อราที่เล็บ เชื้อราในช่องคลอด รวมถึงการติดเชื้อราที่รุนแรง อย่างเชื้อราในระบบทางเดินหายใจหรือเชื้อราที่เยื่อหุ้มสมอง 

โดยยาต้านเชื้อราจะออกฤทธิ์กำจัดหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ในปัจจุบันยาต้านเชื้อราแบ่งได้หลายชนิด มีกลไกการออกฤทธิ์และรูปแบบยาต่างกันไป เช่น ยารับประทาน ยาทา ยาเหน็บ ยาฉีด หรือแชมพู ซึ่งผู้ป่วยจะได้ใช้ตัวยาและรูปแบบยาแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ติดเชื้อ เชื้อราที่เป็นต้นเหตุ ความรุนแรงของโรค สุขภาพของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

Antifungal Drug

ตัวอย่างยาต้านเชื้อราที่พบได้บ่อยก็เช่น ยากลุ่มเอโซล (Azoles) อย่างยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)  ยาไบโฟนาโซล (ฺBifonazole) หรือยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ยากลุ่มโพลีอีน (Polyenes) อย่างยาไนสแตติน (Nystatin) ยากลุ่มอัลลิลามีน (Allylamines) อย่างยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) หรือยากลุ่มอื่น ๆ อย่างยากริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin)  

คำเตือนในการใช้ยาต้านเชื้อรา

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางสุขภาพ โรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา หรือส่วนประกอบของยาต้านเชื้อรา เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการรักษาและสุขภาพได้ 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะอาจทำปฏิกิริยากับยาในกลุ่มนี้ ส่งผลให้ตัวยามีประสิทธิภาพลดลง หรือเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น
  • หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อราหรือไม่แน่ใจว่าเกิดการติดเชื้อราจริงหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเลือกซื้อยามาใช้เอง เพราะการใช้ยาผิดประเภทอาจส่งผลให้อาการแย่ลงได้ 
  • ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการเลือกใช้ยาต้านเชื้อราในเด็ก เนื่องจากเด็กเล็กต้องระมัดระวังอย่างมากในการใช้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน แต่สามารถใช้ยาชนิดทาได้
  • ผู้ป่วยสูงอายุควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาชนิดรับประทาน เพราะอาจส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้  
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็น ความเสี่ยง และความปลอดภัยก่อนการใช้ยาต้านเชื้อรา และควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและทารกให้ได้มากที่สุด
  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด หากผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตาม เช่น ลืมใช้ยาบ่อย ๆ หยุดยาใช้ด้วยตนเอง หรือปรับปริมาณยาด้วยตนเอง อาจเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาได้ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านเชื้อรา

ยาต้านเชื้อราอาจก่อให้เกิดอาการที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตัวยาและปริมาณการใช้ยาของผู้ป่วย ในเบื้องต้นอาจรู้สึกไม่สบายท้อง ปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสีย ผื่นคัน แสบหรือแดงที่ผิวหนัง 

ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรง แต่มักพบได้น้อยมาก เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะเป็นสีเข้ม อุจจาระเป็นสีซีด รวมถึงสัญญาณของการแพ้ยาอย่างหายใจลำบาก อาการบวมที่ใบหน้า ลำคอ หรือลิ้น และผิวลอกหรือพุพอง ซึ่งควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว 

หากผู้ป่วยพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติใด ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หรือใช้ยาต้านเชื้อราแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเพื่อปรับแผนการรักษาให้เหมาะสมมากขึ้น