ยารักษากรดไหลย้อน ตัวช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อน

ยารักษากรดไหลย้อนเป็นตัวเลือกที่หลายคนนิยมนำมาใช้รักษาและบรรเทาอาการจากกรดไหลย้อน ซึ่งมักก่อให้เกิดปัญหากวนใจอย่างแสบร้อนกลางอก เจ็บหน้าอก จุกแน่นลิ้นปี่ อาหารไม่ย่อย หรือเรอเปรี้ยว โดยเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุ คุณแม่ตั้งครรภ์ วัยทำงานที่มักมีความเคร่งเครียด รวมถึงผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารเป็นชีวิตจิตใจ

เกิร์ด (GERD) หรือกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) เป็นผลจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหาร จนก่อให้เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบบริเวณดังกล่าว ซึ่งพฤติกรรมของเราหรือโรคบางชนิดอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อนง่ายขึ้น เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารแล้วนอนทันที รับประทานอาหารรสจัด เผ็ดจัด หรือไขมันสูง เครียดสะสม หรือมีน้ำหนักตัวมาก

ยารักษากรดไหลย้อน ตัวช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อน

ในเบื้องต้นหากเราปรับพฤติกรรมต้นเหตุก็อาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้ ทว่าหากการปรับพฤติกรรมไม่ได้ผล แพทย์หรือเภสัชกรอาจแนะนำให้ใช้ยารักษากรดไหลย้อนที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาร่วมด้วย เพื่อบรรเทาอาการกรดไหลย้อนที่ไม่รุนแรง บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับยารักษากรดไหลย้อนแต่ละชนิดให้มากขึ้น

ยารักษากรดไหลย้อนมีอะไรบ้าง 

ยารักษากรดไหลย้อนที่จำหน่ายในปัจจุบันจะมีตัวยา คุณสมบัติของยา รูปแบบยา รวมถึงข้อควรระวังและผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป อาทิ

1. ยาลดกรด (Antacids)

ยาลดกรดจัดเป็นยากลุ่มแรก ๆ ที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำให้ใช้บรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกจากกรดไหลย้อน เนื่องจากคุณสมบัติของยามีความเป็นด่าง จึงช่วยปรับสมดุลความเป็นกรดให้มีความเป็นกลางมากขึ้น หรือช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารให้น้อยลงนั่นเอง 

โดยตัวยาจะออกฤทธิ์เร็วภายในไม่กี่นาทีหลังรับประทาน แต่ไม่อาจรักษาหลอดอาหารอักเสบหรือถูกทำลายจากกรดในกระเพาะอาหารได้ ตัวอย่างยาที่พบในยาลดกรดก็เช่น

  • อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminum Hydroxide) 
  • แมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) หรือแมกนีเซียม คาร์บอเนต (Magnesium Carbonate)
  • โซเดียม ไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate)
  • แคลเซียม คาร์บอเนต (Calcium Carbonate)

ยาลดกรดมีจำหน่ายในรูปแบบยาน้ำและยาเม็ด และอาจประกอบด้วยยาหลายชนิดผสมกัน อาทิ ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ผสมกับยาแมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์ หรือยาโซเดียม ไบคาร์บอเนตผสมกับยาแคลเซียม คาร์บอเนต ซึ่งการผสมผสานของยาเหล่านี้จะช่วยให้ยามีประสิทธิภาพในการรักษามากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การใช้ยาลดกรดบางชนิดในปริมาณมากหรือบ่อยครั้งอาจส่งผลให้ท้องเสีย ท้องผูก หรือมีปัญหาเกี่ยวกับไต คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับไตจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

2. ยาลดการหลั่งกรด

ยาลดการหลั่งกรดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปจะมีอยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มยา H2 Blockers เช่น ยาไซเมทิดีน (Cimetidine) หรือยาแรนิทิดีน (Ranitidine) ซึ่งจะช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารได้ยาวนาน 12 ชั่วโมง แต่จะออกฤทธิ์ไม่เร็วเท่ากลุ่มยาลดกรด 

อีกกลุ่มก็คือ ยากลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors) จะช่วยยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร อีกทั้งยังมีส่วนช่วยบรรเทาอาการและฟื้นฟูหลอดอาหาร เนื่องจากยาออกฤทธิ์ได้นาน อาทิ ยาโอเมพราโซล (Omeprazole) แต่แพทย์หรือเภสัชกรอาจแนะนำให้ใช้ในเวลาสั้น ๆ เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพในบางรายที่มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาอื่นร่วมด้วย

3. ยาช่วยเสริมประสิทธิภาพการรักษากรดไหลย้อน

จริง ๆ แล้วมีตัวยารักษากรดไหลย้อนอีกหลายชนิดที่ถูกนำมาผสมกับยาลดกรด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาของยาให้ครอบคลุมอาการของผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น เช่น 

โซเดียม อัลจิเนต (Sodium Alginate) 

โซเดียม อัลจิเนตหรือที่รู้จักในชื่อ กรดแอลจินิก (Alginic Acid) ซึ่งเป็นสารที่สกัดมาจากสาหร่ายทะเล มีส่วนช่วยทั้งลดกรดในกระเพาะอาหาร และบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก เนื่องจากกรดไหลย้อน 

เมื่อตัวยาที่มีลักษณะคล้ายแป้งสัมผัสกับกรดจะพองตัวเป็นชั้นเจลลอยตัวคลุมของเหลวและอาหารในกระเพาะอาหาร เมื่อกระเพาะอาหารบีบตัว ชั้นเจลนี้จะเป็นเหมือนเกราะป้องกันกรดไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหาร และกระเพาะอาหารหรือเยื่อบุหลอดอาหารระคายเคืองจากการสัมผัสกรดนั่นเอง

ทั้งนี้ โซเดียม อัลจิเนตจะออกฤทธิ์ได้ค่อนข้างเร็ว ไม่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และมักถูกใช้เป็นส่วนประกอบร่วมกับยาลดกรด อย่างโซเดียม ไบคาร์บอเนตหรือแคลเซียม คาร์บอเนต เพื่อช่วยให้ยาลดกรดนั้นมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น 

ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของโซเดียม อัลจิเนตจะเหมาะสำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป หากใช้ในรูปแบบยาน้ำจะมีปริมาณแนะนำที่ครั้งละ 10–20 มิลลิลิตร โดยให้รับประทานวันละ 4 ครั้งหลังมื้ออาหารและก่อนนอน 

ไซเมธิโคน (Simethicone) 

ตัวยาจะช่วยขับลม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เนื่องจากแก๊สส่วนเกินในกระเพาะอาหารและลำไส้ ตัวยาจะลดแรงตึงผิวของฟองแก๊สในกระเพาะอาหาร ทำให้ขับออกไปจากร่างกายง่ายขึ้น 

บิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth Subsalicylate) 

ยานี้ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย แสบร้อนกลางอก ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร โดยออกฤทธิ์ลดกรดในกระเพาะอาหาร ลดอาการอักเสบภายในลำไส้ และฆ่าเชื้อโรคต้นเหตุท้องเสียได้บางชนิด

ยารักษากรดไหลย้อนมีหลากหลายชนิดและรูปแบบ และวิธีการใช้ยาอาจแตกต่างกันไป แต่จุดร่วมที่ทำให้การใช้ยามีความปลอดภัยมากขึ้นคือ การอ่านฉลากยาให้ละเอียด และทำตามคำแนะนำบนฉลาก หรือตามที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำ

หากมีข้อสงสัยใด ๆ หรือไม่แน่ใจว่าควรเลือกใช้ยารักษากรดไหลย้อนชนิดใด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ตั้งครรภ์ เด็ก และคนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับไตและหัวใจ

ในกรณีที่ซื้อยารักษากรดไหลย้อนมารับประทานเองนานกว่า 2 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น อาการกรดไหลย้อนเกิดบ่อยครั้งหรือรุนแรง มีปัญหาในการกลืนอาหารหรือยา มีเสียงแหบ ไอเรื้อรังหรือรู้สึกเหมือนมีก้อนที่ลำคอ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และรับการรักษาที่ตรงจุดโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม หากพบอาการเจ็บหน้าอก อาจปวดร้าวไปยังหัวไหล่ ปวดกราม ร่วมกับหายใจไม่อิ่ม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจขาดเลือด มิใช่อาการทั่วไปของกรดไหลย้อน ซึ่งหลายคนมักสับสนกัน โดยเฉพาะในคนสูงอายุ

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 4 ตุลาคม 2565
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ณัฏฐ์พัชร์ ฐิติปุญญา

เอกสารอ้างอิง 

  • National Institute of Health (2018). U.S. National Library of Medicine MedlinePlus. Simethicone.
  • National Institute of Health (2016). U.S. National Library of Medicine MedlinePlus. Bismuth Subsalicylate.
  • ณภัทร สัตยุตม์. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลยมหิดล. รู้รอบตอบชัด สารพัด “ยาลดกรด”.
  • สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ. ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. เกิร์ด (GERD) โรคกรดไหลย้อน.
  • Mayo Clinic. Gastroesophageal Reflux Disease (GERD).
  • Drugs (2022). Alginic Acid.
  • Multum, C. Drugs (2022). Bismuth Subsalicylate.
  • Laube, J. Everyday Health (2021). Treatment Options for GERD.
  • Madell, R. Healthline (2021). Over-The-Counter GERD Treatments: An Overview.
  • MIMS Thailand. Alginic Acid - Oral.
  • Robinson, J. WebMD (2020). When to Call the Doctor About Heartburn or Reflux. 
  • WebMD. Simethicone Capsule - Uses, Side Effects, and More.