ยาสวนอุจจาระ (Enema)

ยาสวนอุจจาระ (Enema)

ยาสวนอุจจาระ (Enema) เป็นของเหลวที่ใช้สวนเข้าทางรูทวารเพื่อช่วยในการขับถ่าย โดยยาสวนอุจจาระมักนำมาใช้ในการรักษาอาการท้องผูกที่ไม่ดีขึ้นหลังจากใช้วิธีรักษาอื่น ทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ก่อนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่หรือเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ อีกทั้งยังอาจนำมาใช้เพื่อให้ยาที่ลำไส้ใหญ่โดยตรงผ่านทางรูทวาร

ยาสวนอุจจาระอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ ยาสวนอุจจาระแบบคลีนซิ่ง (Cleansing enemas) ซึ่งเป็นยาสวนทวารที่ออกฤทธิ์ทำให้ขับถ่ายทันทีหลังจากที่ใช้ และยาสวนทวารแบบรีเทนชัน (Retention enemas) ซึ่งเป็นยาสวนอุจจาระที่ต้องกลั้นไว้สักพักหลังจากฉีดยาเข้ารูทวารเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ภายในลำไส้ใหญ่ และช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระออกมา

Enema

ปริมาณการใช้ยาสวนอุจจาระ

ยาสวนอุจจาระแต่ละชนิดอาจมีตัวยาที่แตกต่างกัน โดยภายในยาสวนทวาร 1 หลอด มักมีปริมาณที่แตกต่างกันและสามารถใช้ได้เพียง 1 ครั้ง ดังนั้น ก่อนการใช้ยาควรศึกษาฉลากบนบรรจุภัณฑ์ทุกครั้ง

ตัวอย่างปริมาณการใช้ยาสวนอุจจาระ เช่น

1. ยาโซเดียมฟอสเฟต (Sodium phosphate)

รูปแบบยา : ยาน้ำสำหรับสวนทวาร

โซเดียมฟอสเฟตเป็นยาสวนอุจจาระที่ออกฤทธิ์โดยการดูดซึมน้ำเข้าไปในลำไส้ใหญ่เพื่อให้อุจจาระง่ายขึ้น 

โดยควรใช้ยาสวนอุจจาระโซเดียมฟอสเฟต 1 หลอด วันละ 1 ครั้ง โดยเริ่มจากนอนตะแคงซ้ายแล้วยกเข่าขวาขึ้นไปที่หน้าอก จากนั้นสอดปลายหลอดยาสวนเข้ารูทวารอย่างเบามือ ค่อย ๆ บีบยาเข้าไปจนหมดหลอดและดึงหลอดยาออก ค้างท่าเดิมและกลั้นยาไว้สักพักแต่ไม่ควรเกิน 10 นาที โดยกลั้นยาไว้จนกว่าจะรู้สึกอยากขับถ่าย ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้เวลาประมาณ 1–5 นาที 

2. ยาบิซาโคดิล (Bisacodyl)

รูปแบบยา : ยาน้ำสำหรับสวนทวาร

ยาบิซาโคดิลจะช่วยกระตุ้นการทำงานลำไส้ และส่งผลให้อุจจาระเคลื่อนที่และเกิดการขับถ่ายในที่สุด

โดยควรใช้ยาสวนอุจจาระบิซาโคดิล 1 หลอด วันละ 1 ครั้ง โดยเริ่มจากนอนตะแคงซ้ายแล้วยกเข่าขวาขึ้นไปที่หน้าอก จากนั้นสอดปลายหลอดยาสวนเข้าทางรูทวารอย่างเบามือ ค่อย ๆ บีบยาเข้าไปจนหมดหลอดและดึงหลอดยาออก ค้างท่าเดิมและกลั้นยาไว้ประมาณ 15–20 นาที หรือจนกว่าจะรู้สึกอยากขับถ่าย 

3. น้ำมันแร่

รูปแบบยา : ยาน้ำสำหรับสวนทวาร

น้ำมันแร่เป็นยาสวนอุจจาระที่จะช่วยหล่อลื่นลำไส้ และส่งผลให้อุจจาระเคลื่อนที่และขับถ่ายง่ายขึ้น

โดยควรใช้น้ำมันแร่ 1 หลอด วันละ 1 ครั้ง เริ่มจากนอนตะแคงซ้ายและยกเข่าขวาขึ้นไปที่หน้าอก จากนั้นสอดปลายหลอดยาสวนเข้าทางรูทวารอย่างเบามือ ค่อย ๆ บีบยาเข้าไปจนหมดหลอดและดึงหลอดยาออก ค้างท่าเดิมและกลั้นยาไว้ โดยอาจเริ่มรู้สึกอยากขับถ่ายหลังจากใช้ยาประมาณ 2–15 นาที

คำเตือนและข้อควรระวังจากการใช้ยาสวนอุจจาระ 

การใช้ยาสวนอุจจาระอย่างปลอดภัย ผู้ใช้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้ง หากมีประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ยา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากเคยมีประวัติป่วยเป็นโรคใด ๆ เพราะการใช้ยาสวนอุจจาระอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและภาวะเกลือแร่ขาดสมดุล ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของร่างกายบางอย่างได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยา วิตามิน สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดใดอยู่ เพราะยาสวนอุจจาระอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อยาบางชนิดได้
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาสวนอุจจาระทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย
  • ควรใช้ยาสวนอุจจาระตามขนาดและปริมาณที่ฉลากยาระบุ หรือตามปริมาณที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ เพราะการใช้ยาสวนอุจจาระมากเกินไปหรือบ่อยเกินไปอาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อร่างกาย เช่น ท้องผูกเรื้อรัง ลำไส้ทะลุ ภาวะขาดน้ำ เกลือแร่ขาดสมดุล การติดเชื้อ มีเลือดออกจากทวารหนัก

ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ของเหลวอื่น ๆ เช่น กาแฟ แอลกอฮอล์ ในการสวนอุจจาระ เพราะของเหลวเหล่านี้อาจไม่ปลอดภัยและอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสวนอุจจาระ 

ยาสวนอุจจาระอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น

ทั้งนี้ หากเกิดผลข้างเคียงของยาสวนอุจจาระอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมในการใช้ยาสวนอุจจาระอย่างปลอดภัย