ยาแก้คันผิวหนัง และวิธีบรรเทาอาการคันด้วยตนเอง

หลายคนอาจแก้อาการคันโดยการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่อ่อนโยน เพื่อเติมความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังและลดอาการคัน แต่หากไม่ได้ผลก็อาจต้องรับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อการรักษาในระยะยาว ซึ่งการใช้ยาแก้คันผิวหนังก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยแก้ปัญหานี้ให้หมดไป 

โดยทั่วไป อาการคันเป็นการระคายเคืองที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เราจึงอยากแกะเกาผิวหนังอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการเกาซ้ำ ๆ อาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นหนาขึ้น มีเลือดออก และเกิดการติดเชื้อตามมา ทั้งนี้ อาการคันเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะโรคผิวหนังอักเสบ โรคภูมิแพ้ แมลงกัดต่อย การติดเชื้อราหรือแบคทีเรีย หรือการใช้ยาบางชนิด ยิ่งไปกว่านั้น คนที่มีปัญหาผิวแห้งอาจทำให้อาการคันแย่ลงได้ 

ยาแก้คันผิวหนัง

ยาแก้คันผิวหนังที่ควรรู้

แพทย์จะพิจารณาให้ใช้ยาทาภายนอกในรูปแบบครีมและโลชั่น หรือยาชนิดรับประทาน ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันของผู้ป่วยแต่ละคน โดยมีตัวอย่างยา ดังนี้

ยาครีมหรือขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ 

ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นยาสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาอาการคันและแดงตามผิวหนัง เช่น ยาเบต้าเมทาโซน ยาไฮโดรคอร์ติโซน ยาไตรแอมซิโนโลน เป็นต้น ทั้งนี้ ก่อนทายาอาจใช้สำลีชุบน้ำวางบริเวณที่มีอาการคันก่อน เพื่อช่วยให้ยาซึมลงผิวหนังได้ดีขึ้น

ยาครีมหรือขี้ผึ้งที่ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์

ยายับยั้งในกลุ่มต้านแคลซินูริน (Calcineurin Inhibitors) อย่างยาทาโครลิมัสหรือยาพิเมโครลิมัส และยาระงับอาการคันอย่างยาแคปไซซินก็อาจนำมาใช้บรรเทาอาการคันตามผิวหนังได้เช่นกัน 

ยาชนิดรับประทาน

สำหรับผู้ที่มีอาการคันจากโรคภูมิแพ้อาจเลือกใช้ยาต้านฮิสตามีน อย่างยาไดเฟนไฮดรามีนและไฮดรอกซีซีน แต่ยานี้มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน จึงมักเหมาะกับผู้ป่วยที่อาการคันผิวหนังรบกวนเวลานอน นอกจากนี้ ยาต้านเศร้าในกลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors: SSRI) อย่างยาฟลูออกซิทีนและยาเซอร์ทราลีน อาจช่วยจัดการกับอาการคันเรื้อรังบางประเภทได้เช่นกัน

วิธีแก้อาการคันที่ผิวหนังด้วยตนเอง 

ในเบื้องต้น ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการคันให้ทุเลาลงได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการคัน การระคายเคือง หรืออาการแพ้ เช่น สร้อยคอ เสื้อผ้าขนสัตว์ การอาบน้ำร้อน อากาศร้อน โลชั่นหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบางชนิด เป็นต้น
  • กรณีอาการคันที่ไม่ใช่เกิดจากผิวแห้ง อาจเลือกใช้ครีม โลชั่น หรือเจลที่ช่วยบรรเทาอาการคันและทำให้ผิวเย็นลง เช่น คาลาไมน์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเมนทอล เป็นต้น
  • อาบน้ำโดยใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่ขัดผิวแรงจนเกินไป และไม่ลืมเติมความชุ่มชื้นให้แก่ผิวทุกวันด้วยมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ปราศจากน้ำหอมและส่วนผสมที่เป็นต้นเหตุของอาการแพ้ 
  • ทำกิจกรรมลดความเครียด อย่างการนั่งสมาธิหรือเล่นโยคะ เพราะความเครียดที่มากขึ้นอาจทำให้อาการคันแย่ลง
  • ใช้แผ่นประคบเย็นชนิดเปียก ผ้าขนหนูเปียก หรือน้ำแข็งประคบบริเวณที่มีอาการคัน
  • ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นภายในห้อง
  • เลือกสวมเสื้อผ้าที่เบาบางเพื่อช่วยให้อากาศทะลุผ่านง่าย ผิวหนังจึงเย็นขึ้นและอาจช่วยลดอาการคันได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาผิวหนังเมื่อมีอาการคันให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดรอยถลอกหรือการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง

อย่างไรก็ตาม หากยาแก้คันและวิธีบรรเทาอาการด้วยตนเองเหล่านี้ใช้ไม่ได้ผล อาการคันคงอยู่นานกว่า 2 สัปดาห์ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและรบกวนการนอนหลับ หรือพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง การขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป ปัสสาวะบ่อยขึ้น หรือมีไข้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาที่ตรงจุด