ยาแก้ปวดประจำเดือน กับวิธีเลือกใช้ยาอย่างปลอดภัย

เชื่อว่าสาว ๆ หลายคนคงพกยาแก้ปวดประจำเดือนติดกระเป๋าไว้ให้อุ่นใจเสมอ เพราะอาจต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด ความไม่สบายกายและใจเป็นประจำแทบทุกเดือน การเรียนรู้การใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อร่างกายมากยิ่งขึ้น

ปกติแล้ว อาการปวดประจำเดือนเป็นอาการปวดบีบ ปวดตุบ ๆ หรือปวดเกร็งบริเวณท้องน้อยในช่วงไม่กี่วันก่อนมีประจำเดือนหรือในระหว่างที่มีประจำเดือน และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ ปวดหลังส่วนล่าง คลื่นไส้ ท้องเสีย หรือปวดศีรษะ 

ยาแก้ปวดประจำเดือน กับวิธีเลือกใช้ยาอย่างปลอดภัย

โดยสาเหตุมาจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้หลอดเลือดในบริเวณดังกล่าวถูกกดทับ จึงขาดออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมดลูก และเกิดอาการปวดตามมา นอกจากนี้ ในช่วงที่มีประจำเดือน ร่างกายจะผลิตสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ออกมา ทำให้เกิดการอักเสบและกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวมากกว่าปกติด้วย 

ข้อควรรู้ในการเลือกใช้ยาแก้ปวดประจำเดือน

โดยทั่วไป หากมีอาการปวดประจำเดือนไม่รุนแรงอาจบรรเทาอาการได้โดยประคบอุ่น อาบน้ำอุ่น ออกกำลังกายเบา ๆ ด้วยการเดิน ปั่นจักรยาน ทำกิจกรรมผ่อนคลายอย่างการเล่นโยคะ นอกจากนี้ หลายคนมักจะเลือกรับประทานยาแก้ปวดประจำเดือน โดยในท้องตลาดเองก็มีตัวยาหลากชนิดและหลากยี่ห้อให้เลือกใช้ ซึ่งจะมีตัวอย่างยาและรายละเอียดต่อไปนี้

1. ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)

ยากลุ่มเอ็นเสดหรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบและยับยั้งการผลิตสารโพรสตาแกลนดินซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก ทำให้อาการปวดลดน้อยลง โดยตัวอย่างยาในกลุ่มเอ็นเสด ได้แก่ ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) ยาเมเฟนามิคแอซิด (Mefenamic Acid) หรือยาเซเลโคซิบ (Celecoxib)  

ปกติแล้ว ยาในกลุ่มนี้มักได้ผลดีหากรับประทานก่อนการมีประจำเดือน ในกรณีที่รับประทานยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มเอ็นเสดแล้วไม่ได้ผล ก็ควรเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่นในกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากยาแต่ละตัวอาจให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละคน ซึ่งสิ่งที่ควรทราบเบื้องต้นในการใช้ยากลุ่มนี้อย่างเหมาะสม เช่น

  • ปริมาณการใช้ยา : ยาแต่ละตัวมีปริมาณการใช้ยาที่แตกต่างกัน ผู้ใช้ควรอ่านฉลากยาอย่างถี่ถ้วนหรือปรึกษาและขอคำแนะนำจากเภสัชกรก่อนการใช้ยา
  • ประวัติทางสุขภาพที่ควรระวัง : ผู้ที่มีอาการแพ้ยาในกลุ่มเอ็นเสด มีแผลในระบบทางเดินอาหาร โรคตับหรือโรคไตอย่างรุนแรง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคหอบหืด สตรีมีครรภ์ ผู้ให้นมบุตร และเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา  
  • ผลข้างเคียง : การใช้ยากลุ่มเอ็นเสดปริมาณสูงในระยะยาวอาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงได้ง่าย เช่น อาหารไม่ย่อย เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม อาการแพ้ยา รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับตับ ไต หัวใจหรือการไหลเวียนของเลือดด้วย แต่มักพบได้น้อยมาก 

2. ยาแก้ปวดอื่น ๆ

นอกจากยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสดแล้ว ผู้ที่ปวดประจำเดือนยังสามารถรับประทานยาสามัญประจำบ้านที่รู้จักกันดีอย่างยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ได้เช่นกัน ทว่าควรเรียนรู้รายละเอียดเบื้องต้นและการใช้ยาอย่างถูกวิธี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยขณะใช้ยามากที่สุดด้วย อาทิ

  • ปริมาณการใช้ยา : การใช้ยาพาราเซตามอลขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ใช้ยา ซึ่งสามารถศึกษาได้จากฉลากบรรจุภัณฑ์ยาหรือปรึกษาจากเภสัชกร ทั้งนี้ ผู้ใช้ควรรับประทานยาห่างกันทุก 4–6 ชั่วโมง ครั้งละไม่เกิน 500–1,000 มิลลิกรัม วันละไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัม เพราะอาจเสี่ยงต่อการใช้ยาเกินขนาดและตับถูกทำลาย    
  • ประวัติทางสุขภาพที่ควรระวัง : ผู้ที่มีอาการแพ้ยาพาราเซตามอล โรคตับ มีประวัติโรคพิษสุราเรื้อรัง รวมถึงสตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการใช้ยา 
  • ผลข้างเคียง : ยาพาราเซตามอลมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ยา โดยอาการรุนแรงที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว เช่น มีไข้ต่ำร่วมกับคลื่นไส้ ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร ปัสสาวะเป็นสีเข้ม อุจจาระสีคล้ายดินโคลน ดีซ่าน เป็นต้น  

อาการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน แต่ถ้าดูแลตัวเองและรับประทานยาแก้ปวดประจำเดือนแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น อาการปวดประจำเดือนแย่ลงหรือเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต มีไข้ร่วมกับปวดประจำเดือน หรือประจำเดือนมาผิดปกติก็ควรไปพบแพทย์หรือสูตินรีแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะสัญญาณดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติอื่น ๆ ได้ อาทิ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก หรือซีสต์