ยาแก้ร้อนใน ตัวช่วยคู่ใจรักษาแผลในปาก

ยาแก้ร้อนในเป็นตัวช่วยที่หลายคนนึกถึงเมื่อเกิดแผลร้อนในหรือแผลในช่องปาก โดยยาแก้ร้อนในจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและแสบร้อนจากแผลร้อนใน ลดขนาดของแผล และช่วยให้แผลสมานได้เร็วขึ้น ยาแก้ร้อนในส่วนใหญ่ที่คนไทยคุ้นเคยมักจะเป็นยาทาสำหรับป้ายแผลในปาก ซึ่งในความเป็นจริงยังมียาแก้ร้อนในรูปแบบอื่นให้เลือกใช้ด้วย 

แผลร้อนในหรือแผลในปากเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบได้บ่อย แผลมักมีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นหลุม พบได้ในบริเวณริมฝีปากด้านใน ลิ้น กระพุ้งแก้ม และเหงือก อาจมีขนาดใหญ่ขึ้น ลึกขึ้น และเกิดขึ้นหลายจุดพร้อมกันได้ ทำให้อาจเป็นอุปสรรคในการกินอาหารและการพูดคุยในชีวิตประจำวัน ตามปกติอาจใช้เวลาราว 1–2 สัปดาห์ในการฟื้นฟูให้หายดี บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับยาแก้ร้อนใน ซึ่งเป็นตัวช่วยที่สามารถบรรเทาอาการกวนใจเหล่านี้ได้มาให้ทุกคนได้อ่านกัน

ยาแก้ร้อนใน

สาเหตุของแผลร้อนใน

การเข้าใจสาเหตุของแผลร้อนในเบื้องต้นอาจช่วยให้คุณสามารถใช้ยาแก้ร้อนในได้อย่างมีประสิทธิภาพและดูแลตนเองได้ดีมากขึ้น โดยสาเหตุและปัจจัยของการเกิดแผลร้อนในที่พบได้บ่อย เช่น   

  • การบาดเจ็บจากการแปรงฟันแรงเกินไป การใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็ง ผลข้างเคียงจากการทำทันตกรรม การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ การดื่มน้ำร้อนจัด และการกัดลิ้น ริมฝีปาก หรือกระพุ้งแก้มโดยไม่ตั้งใจ
  • การระคายเคืองและอักเสบจากส่วนประกอบในยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก โดยเฉพาะสารเอสแอลเอส (SLS: Sodium Lauryl Sulfate) หรืออาจเกิดจากภาวะไวต่ออาหาร (Food Sensitive) ที่พบได้ในบางคน ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการตอบสนองต่ออาหารบางชนิดมากกว่าปกติ แต่ไม่ใช่อาการแพ้อาหาร ส่วนมากมักเป็นอาหารในกลุ่มช็อกโกแลต กาแฟ สตรอเบอร์รี่ ไข่ ถั่ว อาหารที่มีรสเผ็ดร้อนและรสเปรี้ยว 
  • ภาวะขาดสารอาหารประเภทวิตามินบี 12 โฟเลท สังกะสี และเหล็ก
  • การติดเชื้อภายในช่องปาก อย่างการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. Pylori: Helicobacter Pylori) ภายในช่องปาก ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกันกับเชื้อที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร คนที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารและเกิดแผลร้อนในก็อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากเชื้อชนิดนี้ แต่การติดเชื้อภายในช่องปากจากเชื้อโรคชนิดอื่นก็สามารถกระตุ้นให้เกิดแผลภายในปากได้เช่นกัน
  • ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเซลิแอค (Celiac disease) หรือโรคแพ้กลูเตน กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวนหรือ IBS โรคเบเซ็ท (Behcet's Disease) ภาวะติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์
  • ปัจจัยอื่น เช่น พันธุกรรม ความเครียด ภาวะอารมณ์ด้านลบ การพักผ่อนไม่เพียงพอ และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงก่อนมีประจำเดือน เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่ แผลร้อนในมักไม่เป็นอันตรายและรักษาได้ด้วยการใช้ยาแก้ร้อนในร่วมกับการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม แต่หากเกิดแผลเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ แผลมีขนาดใหญ่ขึ้น ลึกขึ้น กินข้าวและดื่มน้ำไม่ได้ เกิดแผลบริเวณริมฝีปาก รอบปาก เป็นไข้ หรือเกิดอาการผิดปกติอื่นขึ้น ควรไปพบแพทย์

ชนิดของยาแก้ร้อนในและวิธีใช้ให้มีประสิทธิภาพ

มาดูกันว่ายาแก้ร้อนในจะมีรูปแบบและวิธีการใช้อย่างไรบ้าง

1. ยาทาแก้ร้อนใน

เป็นยาแก้ร้อนในที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี ตัวยามักอยู่ในรูปแบบของขี้ผึ้ง เจล และครีม ซึ่งตัวยาในยาทาแก้ร้อนในแบ่งออกได้หลายชนิด ดังนี้

  • ชนิดแก้ปวดและแก้อักเสบ
    ยาป้ายปากในกลุ่มนี้มักประกอบด้วยยาเบนโซเคน (Benzocaine) และลิโดเคน (Lidocaine) ที่ออกฤทธิ์ช่วยลดความรู้สึกบริเวณแผล ทำให้ปวดน้อยลง ส่วนฤทธิ์ต้านการอักเสบมาจากยาในกลุ่มสเตียรอยด์ความแรงต่ำ อย่างยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) และฟลูโอซิโนไนด์ (Fluocinonide) ซึ่งช่วยบรรเทาการอักเสบของแผลในปาก แต่ถึงแม้จะเป็นสเตียรอยด์ความแรงต่ำก็ควรใช้ตามที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำ
  • ชนิดฆ่าเชื้อ
    ยาแก้ร้อนในกลุ่มนี้จะผสมยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาแผลร้อนในที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งยาชนิดนี้จำเป็นต้องผ่านการวินิจฉัยและสั่งจ่ายจากแพทย์เท่านั้น

การใช้ยาทาแก้ร้อนเพียงแค่ป้ายยาลงบนแผลภายในปาก เนื้อของตัวยาชนิดทาจะช่วยปกปิดแผลจึงช่วยให้แผลฟื้นฟูได้ดีขึ้น และก่อนการป้ายยาลงบนแผลทุกครั้ง ควรล้างมือให้สะอาดเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ

2. น้ำยาบ้วนปากแก้ร้อนใน

แพทย์จะสั่งจ่ายเมื่อผู้ป่วยมีแผลในปากหลายตำแหน่ง เนื่องจากน้ำยาบ้วนปากแก้ร้อนในมักผสมสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและบรรเทาปวด และบางชนิดอาจมียาฆ่าเชื้อผสมอยู่ด้วย ซึ่งทั้งยาสเตียรอยด์และยาฆ่าเชื้อเป็นยาที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง จึงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

3. ยาอื่น ๆ

ยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAID) อย่างไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และนาพรอกเซน (Naproxen) หรือยาแก้ไข้อย่างพาราเซตามอล ก็สามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดจากแผลในช่องปากได้เช่นกัน แต่จะไม่มีฤทธิ์รักษาแผลร้อนในโดยตรง

4. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

หากสาเหตุของแผลร้อนในมาจากการขาดสารอาหาร แพทย์อาจสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามชนิดของวิตามินหรือแร่ธาตุที่ผู้ป่วยขาดไปเพื่อชดเชยสารอาหารชนิดนั้น ๆ ให้กับร่างกาย ส่วนใหญ่มักเป็นสารอาหารในกลุ่มวิตามินบี และแร่ธาตุ อย่างสังกะสี

เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ยาแก้ร้อนในและความปลอดในการใช้ ควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรเกี่ยวกับอาการที่พบอย่างละเอียด โรคประจำตัว ยาที่ใช้เป็นประจำ และยาที่แพ้ รวมถึงหากกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมลูกก็ควรแจ้งด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ คนที่ใช้ยาแก้ร้อนในชนิดทาหรือยาบ้วนปากผสมสเตียรอยด์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือแพทย์พบว่าแผลร้อนในเกิดจากปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ต้องใช้ยารูปแบบอื่นในการรักษา แพทย์อาจสั่งจ่ายยาชนิดอื่นเพื่อรักษาโรคนั้น ๆ หรือแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแบบอื่นเพิ่มเติม ซึ่งอาจไม่ใช่การรักษาแผลร้อนในโดยตรง

นอกจากนี้ การดูแลตนเองควบคู่กับการใช้ยาแก้ร้อนในอาจช่วยเร่งให้แผลหายได้เร็วและป้องกันกลับมาเป็นแผลซ้ำได้ จึงควรดูแลตนเองด้วยวิธีต่อไปนี้

  • งดอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเผ็ด รสเปรี้ยว และรสเค็ม
  • งดอาหารที่มีเนื้อแข็ง กรอบ และมีผิวขรุขระ
  • งดเครื่องดื่มร้อน น้ำผลไม้รสเปรี้ยว และน้ำอัดลม
  • งดเคี้ยวหมากฝรั่ง
  • กินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
  • รักษาความสะอาดภายในช่องปากอย่างเหมาะสมเป็นประจำ
  • ใช้ยาสีฟันสูตรอ่อนโยน ปราศจากสารก่อระคายเคือง โดยเฉพาะสารเอสแอลเอส
  • ใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม และออกแรงแปรงในการแปรงฟันอย่างเหมาะสม
  • พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม หากเกิดแผลในปากเรื้อรัง อาการไม่ดีขึ้นภายใน 1–2 สัปดาห์ ใช้ยาแก้ร้อนในแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาการรุนแรงขึ้น จำนวนแผลเพิ่มมากขึ้น เกิดแผลบริเวณริมฝีปากด้านนอก หรือพบอาการอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกวิธี