ยาแก้ไอเด็ก เป็นยาที่คุณพ่อคุณแม่มักใช้บรรเทาอาการไอเมื่อลูกน้อยไอติดต่อกันหลายวันหรือดูแลเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น เพราะเกรงว่าอาการไออาจส่งผลต่อร่างกาย ยิ่งไอมาก ๆ อาจไปรบกวนการเรียนรู้ การใช้ชีวิต และการพักผ่อนของเด็ก ในขณะเดียวกัน หากใช้ยาแก้ไอเด็กไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน
อาการไอในเด็กส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน อย่างโรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคครูป (Croup) และโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ อย่างโรคภูมิแพ้และโรคหิด หรืออาจมาจากสาเหตุอื่นได้เหมือนกัน ดังนั้น เพื่อการใช้ยารักษาอย่างตรงจุดและลดความเสี่ยงของผลข้างเคียง คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของยาแก้ไอเด็ก เพราะยาแก้ไอมีอยู่หลายชนิดและรักษาอาการไอที่แตกต่างกันออกไป
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับยาแก้ไอเด็ก
เพื่อบรรเทาอาการไอของลูกน้อยอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย การทำความเข้าใจการใช้ยาแก้ไอในเด็กอาจช่วยคุณพ่อคุณแม่เลือกซื้อและเลือกใช้ยาแก้ไอเด็กได้ถูกต้องมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องต่อไปนี้
1. ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ในเด็กเล็กเสมอ
ทารกและเด็กเล็กเป็นช่วงวัยที่ระบบต่าง ๆ ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงอาจทำให้ระบบในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ การได้รับยาหรือสารต่าง ๆ ที่ร่างกายไม่คุ้นชินอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี และอาจเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงจากยา ดังนั้น ก่อนใช้ยาแก้ไอเด็กหรือยาชนิดอื่น ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม
2. สังเกตลักษณะอาการไอ
อาการไอแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ อาการไอแห้งและอาการไอมีเสมหะ ซึ่งสาเหตุของอาการไอทั้งสองลักษณะนี้อาจเหมือนหรือต่างกันก็ได้ ส่วนใหญ่อาการไอในเด็กมักมาจากโรคหวัด แต่ก็อาจเป็นอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ โรคภูมิแพ้ โรคหืด โรคไอกรน (Whooping Cough) และการเจ็บป่วยอื่น ๆ ซึ่งโรคเหล่านี้อาจมีอาการเฉพาะอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน อย่างโรคไข้หวัดใหญ่อาจทำให้้เด็กมีอาการตัวร้อน หนาวสั่น ปวดตามร่างกายร่วมด้วย
นอกจากนี้ เสียงไออาจมีความแตกต่างกันไปตามโรค โดยโรคบางโรคอาจทำให้เสียงไอดูแหบแห้ง ส่วนบางโรคเมื่อฟังเสียงไอจะรู้ได้ว่ามีเสมหะภายในลำคอ ดังนั้น การแจ้งแพทย์เกี่ยวกับลักษณะอาการไอและอาการอื่น ๆ อาจช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้แม่นยำ รักษาได้อย่างตรงจุด และช่วยให้แพทย์สามารถจ่ายยาแก้ไอชนิดที่เหมาะสม ร่วมกับยาอื่น ๆ เพื่อรักษาโรคต้นเหตุ
3. หาข้อมูลเกี่ยวกับชนิดและผลข้างเคียงของยาแก้ไอเด็ก
ยาแก้ไอทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ แบ่งออกได้ 2 ชนิดหลัก คือ
- ยากดอาการไอ (Antitussive/Cough suppressant) มักใช้ระงับอาการไอแห้งหรืออาการไอที่ไม่มีเสมหะ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กดประสาทและระงับอาการไอ ยาแก้ไอกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ และอ่อนเพลีย
- ยาขับเสมหะ (Expectorants) และยาละลายเสมหะ (Mucolytics) มักใช้รักษาอาการไอมีเสมหะ ในภาพรวมตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น เพื่อบรรเทาอาการระคายคอจากการมีเสมหะเหนี่ยวข้น ยากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างรู้สึกสับสน มึนงง น้ำลายหลั่งออกมามากกว่าปกติ อ่อนเพลีย และคลื่นไส้อาเจียน
แพทย์และเภสัชกรอาจแนะนำยาสำหรับบรรเทาอาการไอแตกต่างกันไปตามอาการของแต่ละคน นอกจากนี้ หลังจากใช้ยาแก้ไอ หากพบว่าเด็กมีอาการคล้ายอาการแพ้ยา อย่างผื่นแดงคัน ปากบวม หน้าบวม หายใจไม่ออก ไอ เสียงหายใจหวีดแหบ ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
4. ใช้อุปกรณ์ป้อนยาที่เหมาะสม
ยาแก้ไอเด็กส่วนใหญ่มักมาในรูปแบบของยาน้ำ โดยอุปกรณ์ป้อนยามักแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
- ช้อนยา คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ยาที่บรรจุมาพร้อมกับยา เพราะสัดส่วนของช้อนถูกออกแบบมาเพื่อตวงวัดปริมาณยาชนิดนั้นโดยเฉพาะ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ช้อนอื่น ๆ อย่างช้อนกินข้าวหรือช้อนคนกาแฟ เพราะปริมาณยาอาจไม่ตรงตามที่ฉลากกำหนด ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลงและเสี่ยงต่อการได้รับยาเกินขนาด
- ไซรินจ์ (Syringe) หรือไซริงค์ป้อนยาที่คนทั่วไปคุ้นเคยกัน คือกระบอกฉีดยาที่เอาเข็มฉีดยาออก มีหลากหลายไซส์ โดยบนหลอดจะมีหน่วยวัดเป็นออนซ์ (Ounce:Oz) และมิลลิลิตร (Milliliter: mL) ก่อนการให้ยาควรดูหน่วยวัดปริมาตรของเหลวก่อนทุกครั้งว่าตรงตามฉลากยาหรือไม่
เมื่อแพทย์สั่งจ่ายยาแก้ไอเด็กหรือยาอื่น ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรป้อนยาในปริมาณตามที่แพทย์สั่ง เพราะแพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ อาการ น้ำหนักตัว อายุ และปัจจัยอื่น ๆ เพื่อให้ปริมาณยาที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน โดยก่อนป้อนยาทุกครั้ง ควรอ่านฉลากยา ชื่อยา วิธีการใช้ และปริมาณที่ถูกต้องทุกครั้ง และควรล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกครั้งหลังป้อนยา
5. ไปพบแพทย์เมื่ออาการลูกไม่ดีขึ้น
แม้ว่ายาแก้ไอเด็กจะเป็นตัวช่วยที่สะดวกสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แต่หากใช้ติดต่อกันสักระยะแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือพบอาการต่อไปนี้ ควรพาเด็กไปพบแพทย์
- อาการไอไม่ดีขึ้นหลังใช้ยาหรืออาการรุนแรงขึ้น
- ไอติดต่อกันเกิน 3 สัปดาห์
- ทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน ไอหรือไม่สบาย
- พบสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดหูติดต่อกันหลายวัน หรือเป็นไข้ตัวร้อน โดยเฉพาะเมื่อไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการไอร่วมกับอาการต่อไปนี้
- เจ็บหน้าอก เมื่อหายใจเข้าลึก
- ปากและใบหน้าดูซีดหรือเปลี่ยนเป็นสีม่วง
- ดูซึมและเหนื่อยล้าอ่อนเพลียอย่างรุนแรง
- เบื่ออาหาร ไม่ยอมดูดนม
- หายใจไม่ออก และพูดไม่มีเสียง
- อาเจียนติดต่อกัน
- มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และไข้ไม่ลดลงแม้ใช้ยาลดไข้
ในเบื้องต้น หากลูกมีอาการไอไม่รุนแรง โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี คุณพ่อคุณแม่อาจลองใช้วิธีรักษาโดยไม่ใช้ยาก่อน อย่างการให้ลูกดื่มน้ำมากขึ้น กินอาหารอ่อน รสไม่จัด จิบน้ำอุ่นเมื่อไอมีเสมหะ กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ ใช้น้ำมันหอมระเหยทาผิวเพื่อบรรเทาอาการไอ และให้เด็กพักผ่อนอย่างเพียงพอ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม