ยาโมเมทาโซน (Mometasone)

ยาโมเมทาโซน (Mometasone)

Mometasone (โมเมทาโซน) เป็นยารักษากลุ่มอาการภูมิแพ้และโรคผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน อาการแพ้ หรือผื่นคัน อาการจากโรคภูมิแพ้อากาศ ริดสีดวงจมูก และโรคหืด ตัวยาจะออกฤทธิ์ลดอาการอักเสบ บวมแดง และคัน ทำให้อาการทุเลาลงได้ ทั้งนี้ แพทย์อาจนำยามาใช้ในการรักษาหรือป้องกันปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจ

ยาโมเมทาโซน (Mometasone)

เกี่ยวกับยา Mometasone

กลุ่มยา ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาหรือป้องกันโรคผิวหนัง โรคภูมิแพ้อากาศ โรคริดสีดวงจมูก และโรคหืด
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยาทา ยาพ่นทางจมูก ยาสูดพ่นทางปาก
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ ดังนั้น ผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ สงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียก่อนการใช้ยา

คำเตือนในการใช้ยา Mometasone

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยานี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบหรือเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง อาทิ ยาสเตียรอยด์อื่น ๆ ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อรา ยาต้านเศร้า หรือยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาการติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา Mometasone หากผู้ป่วยมีประวัติทางสุขภาพ เช่น การติดเชื้อเรื้อรัง ต้อหิน ต้อกระจก โรคเริมที่ตา วัณโรค มีแผลในจมูก เคยได้รับการผ่าตัดจมูกหรือได้รับบาดเจ็บที่จมูกมาก่อน มีปัญหาการไหลเวียนของเลือด โรคเบาหวาน และปัญหาภูมิคุ้มกันร่างกาย เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยา Mometasone ชนิดทาในการรักษาผื่นผ้าอ้อม รวมถึงปัญหาสุขภาพใด ๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือผ่านการพิจารณาจากแพทย์
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยาชนิดทา เพราะยาสเตียรอยด์ที่ซึมผ่านผิวหนังอาจไปกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดหรือในปัสสาวะ
  • หลีกเลี่ยงการทายาบนผิวหนังบริเวณใบหน้า ใต้วงแขน หรือขาหนีบ เว้นแต่เป็นคำสั่งจากแพทย์ ในกรณีที่ยาเข้าตาให้ชำระล้างด้วยน้ำสะอาด
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคติดต่ออย่างโรคอีสุกอีใส โรคหัด หรือไข้หวัด ขณะใช้ยาสเตียรอยด์ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
  • หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ ขณะที่ใช้ยา Mometasone ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ  
  • ผู้ป่วยเด็กอาจต้องไปพบแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของส่วนสูง เนื่องจากการใช้ยานี้ในระยะยาวอาจชะลอการเจริญเติบโตของเด็กได้
  • ไม่อนุญาตให้ใช้ยา Mometasone ชนิดทาในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และชนิดพ่นจมูกในการรักษาอาการแพ้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หรือป้องกันอาการแพ้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี  
  • การใช้ยานี้ในเด็กควรอยู่ภายใต้คำสั่งและคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น เนื่องจากตัวยาอาจซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ในปริมาณมากและก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมา อีกทั้งยังอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย หากใช้ยาติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์ 

ปริมาณการใช้ยา Mometasone

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

โรคภูมิแพ้อากาศ

ตัวอย่างการใช้ยา Mometasone เพื่อรักษาโรคภูมิแพ้อากาศ

ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 12 ปี ใช้ยาที่มีความเข้มข้น 0.05 เปอร์เซ็นต์ ในปริมาณ 100 ไมโครกรัม พ่นจมูกแต่ละข้าง วันละ 1 ครั้ง หากจำเป็นให้เพิ่มปริมาณยาได้ถึง 200 ไมโครกรัม 

เด็กอายุ 3–11 ปี ใช้ยาปริมาณ 50 ไมโครกรัม พ่นจมูกแต่ละข้าง วันละ 1 ครั้ง 

ริดสีดวงจมูก

ตัวอย่างการใช้ยา Mometasone เพื่อรักษาริดสีดวงจมูก

ผู้ใหญ่ ใช้ยาปริมาณ 100 ไมโครกรัม พ่นจมูกแต่ละข้าง วันละ 1 ครั้ง หากจำเป็นให้ปรับเป็นวันละ 2 ครั้ง หลังใช้ยามาแล้ว 5–6 สัปดาห์

โรคผิวหนังที่ตอบสนองต่อยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์

ตัวอย่างการใช้ยา Mometasone เพื่อรักษาโรคผิวหนัง

ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 12 ปี ใช้ยาทาชนิดขี้ผึ้งหรือครีมที่มีความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ ทาบาง ๆ บริเวณผิวหนังที่มีอาการ วันละ 1 ครั้ง สำหรับชนิดโลชั่นที่มีความเข้มข้นเดียวกันให้หยดประมาณ 2–3 หยดบริเวณที่มีอาการ แล้วถูเบา ๆ จนกว่าจะซึมเข้าสู่ผิวหนัง 

เด็กอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ปี ใช้ยาทาชนิดขี้ผึ้งหรือครีมที่มีความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ ทาบาง ๆ บริเวณผิวหนังที่มีอาการ วันละ 1 ครั้ง โดยใช้ติดต่อกันไม่เกิน 3 สัปดาห์

โรคหืด

ตัวอย่างการใช้ยา Mometasone เพื่อรักษาโรคหืด 

ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 12 ปี อาการเล็กน้อยถึงปานกลางให้เริ่มใช้ยาสูดชนิดผงแห้งปริมาณ 400 ไมโครกรัม วันละ 1 ครั้งในตอนเย็น สำหรับการให้ขนาดยาต่อเนื่องจะอยู่ที่ปริมาณ 200 ไมโครกรัม วันละ 1–2 ครั้ง หากมีอาการรุนแรงให้เริ่มใช้ยาสูดชนิดผงแห้งปริมาณ 400 ไมโครกรัม วันละ 2 ครั้ง ในกรณีที่ควบคุมอาการได้แล้วให้ปรับเป็นปริมาณยาต่ำสุดที่ใช้ได้ผล  

การใช้ยา Mometasone

วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัยมีดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยไม่ปรับปริมาณยาหรือระยะเวลาในการใช้ยาด้วยตัวเอง หากไม่เข้าใจวิธีใช้ยาหรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา
  • ห้ามรับประทานยา Mometasone ชนิดทาและชนิดพ่นทางจมูก เนื่องจากเป็นยาที่ใช้ภายนอกเท่านั้น รวมทั้งควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการทายาและพ่นยา
  • ผู้ป่วยควรเขย่าขวดยาพ่นจมูกก่อนใช้ทุกครั้ง หากเปิดใช้เป็นครั้งแรกหรือไม่ได้ใช้นานเกินกว่า 1 สัปดาห์ ให้ลองกดจนออกมาเป็นละอองฝอยก่อนเสมอ 
  • ยาโมเมทาโซนอาจใช้เวลา 2 วันไปจนถึง 2 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล ผู้ป่วยบางรายจึงอาจต้องใช้ยาก่อนช่วงที่มีละอองเกสรประมาณ 2–4 สัปดาห์ เพื่อป้องกันอาการแพ้ที่เกิดขึ้นตามช่วงฤดูกาล
  • ไม่ควรใช้ผ้าพันแผลหรือผ้าสะอาดคลุมบริเวณผิวหนังที่มีอาการ เพราะอาจส่งผลให้มียาถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังมากขึ้นได้ 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหลังใช้ยาไปแล้ว 2 สัปดาห์ หรืออาการทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
  • หากผู้ป่วยลืมใช้ยา ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า 
  • หากผู้ป่วยสงสัยว่าตัวเองใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดหรือมีสัญญาณอาการที่รุนแรง เช่น หมดสติหรือหายใจลำบาก ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง โดยให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด รวมทั้งพ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง  

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Mometasone  

การใช้ยา Mometasone แต่ละชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป เช่น ทำให้รู้สึกแสบร้อน เหมือนมีของแหลมทิ่มแทง คัน เป็นสิว หรือเกิดตุ่มหนองบริเวณผิวหนัง จมูกและคอแห้งหรือระคายเคือง เลือดกำเดาไหล มีเสมหะปนเลือด ไอ คัดจมูก ปวดศีรษะ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด หากอาการข้างต้นคงอยู่เป็นเวลานานหรือผู้ป่วยมีอาการแย่ลง ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ดูแลทราบ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีผลข้างเคียงดังต่อไปนี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพราะอาจเป็นอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ 

  • มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน หายใจลำบาก เวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น
  • ผิวหนังระคายเคืองอย่างรุนแรง
  • มองเห็นเป็นภาพเบลอ มองเห็นภาพคล้ายมองผ่านอุโมงค์ เจ็บตา หรือเห็นรัศมีรอบดวงไฟ
  • มีสัญญาณของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เช่น กระหายน้ำมากขึ้น ปัสสาวะบ่อยครั้ง ปากแห้ง ลมหายใจมีกลิ่นผลไม้ เป็นต้น 
  • เลือดกำเดาไหลอย่างรุนแรง หรือมีสารคัดหลั่งภายในจมูกเพิ่มขึ้น 
  • เจ็บหรือรู้สึกไม่สบายจมูก ปวดศีรษะ 
  • มีแผลหรือปื้นสีขาวภายในจมูกที่รักษาไม่หาย
  • หายใจเป็นเสียงหวีด มีปัญหาในการหายใจ
  • รู้สึกสำลักหรือระคายเคืองบริเวณหลังคอ
  • มีปัญหาในการได้ยิน เจ็บหู หูอื้อ หูน้ำหนวก
  • มีปัญหาในการกลืน เจ็บขณะกลืน  

นอกจากนี้ การใช้ยาสเตียรอยด์ทางจมูกในปริมาณมากและระยะยาวอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหากตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แต่จะพบได้น้อยมาก เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเห็นได้ชัดบริเวณใบหน้า หลังส่วนบน และลำตัว แผลหายช้า ประจำเดือนมาไม่ปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เท้าบวม กระหายน้ำ ปัสสาวะมากขึ้น มีปัญหาในการมองเห็น ซึมเศร้า วิตกกังวล ในกรณีที่ผู้ป่วยพบความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป