วีเนียร์ (Dental Veneer) คือวิธีการทางทันตกรรมเพื่อความสวยงามรูปแบบหนึ่งที่ใช้วัสดุเคลือบผิวฟันเพื่อแก้ปัญหาฟันบิ่น ฟันแตก ปัญหาสีฟันที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการฟอกสีฟัน หรือฟันที่มีรูปร่างผิดปกติ การทำวีเนียร์เป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่ต้องการปรับสภาพผิวฟันเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้รอยยิ้มและมักทำเฉพาะบริเวณฟันหน้า
อย่างไรก็ตาม การทำวีเนียร์โดยใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการรับสารเคมีที่เป็นอันตรายเข้าสู่ร่างกาย จึงควรทำภายใต้การดูแลของทันตแพทย์เท่านั้น
วีเนียร์เป็นการนำแผ่นวัสดุที่ออกแบบขึ้นเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของฟันแต่ละซี่โดยเฉพาะ จากนั้นแพทย์จะนำไปปิดบริเวณผิวหน้าฟันอย่างถาวร เพื่อให้ฟันมีลักษณะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและมีเฉดสีสว่างได้ตามต้องการ โดยส่วนมาก วัสดุเคลือบผิวฟันมักทำจากคอมโพสิทและเซรามิก ซึ่งแต่ละวัสดุก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน หากสงสัยว่าการทำวีเนียร์มีขั้นตอนอย่างไร รวมถึงมีข้อควรระวังใดที่ควรทราบ สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้
วีเนียร์ช่วยแก้ปัญหาอะไร?
โดยทั่วไป วีเนียร์มักใช้รักษาและปรับสภาพผิวฟันเฉพาะบริเวณฟันหน้าให้สวยงามและสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากกรณีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ปัญหาสีฟันผิดปกติหรือสีไม่สม่ำเสมอจากสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการฟอกสีฟัน เช่น การรักษารากฟัน คราบบนผิวฟันจากผลข้างเคียงของยาเตตราไซคลิน (Tetracycline) หรือยาอื่น ๆ และการได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป
- ฟันห่าง บิ่น แตก หรือหัก
- ฟันซ้อน เรียงตัวผิดปกติ หรือมีรูปทรงผิดปกติ
- ฟันสั้น หรือฟันซี่เล็กกว่าปกติ
ประเภทของวีเนียร์
การทำวีเนียร์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามรูปแบบและขั้นตอนการทำ โดยการทำวีเนียร์แบบดั้งเดิม (Traditional Dental Veneers) เป็นวิธีที่ทันตแพทย์จะกรอผิวชั้นเคลือบฟัน (Enamel) บางส่วนออกก่อนการติดแผ่นวีเนียร์ เพื่อให้วัสดุวีเนียร์ยึดเกาะบนผิวฟันได้ดีขึ้น จึงมักมีการฉีดยาชาให้ก่อนการกรอผิวฟัน เพื่อลดความรู้สึกเจ็บหรือเสียวฟันขณะทำ
อย่างไรก็ตาม การทำวีเนียร์แบบดั้งเดิมมีขั้นตอนการทำที่ซับซ้อน และทำให้คนไข้สูญเสียผิวฟันและเนื้อฟันไปอย่างถาวรในการกรอผิวชั้นเคลือบฟัน จึงได้มีการพัฒนาวิธีการทำวีเนียร์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า No-Prep Veneer หรือการทำวีเนียร์แบบกรอผิวฟันออกเล็กน้อย ซึ่งมีข้อดีคือย่นระยะเวลาและขั้นตอนการทำ มีอาการเสียวฟันน้อยกว่าและมักไม่จำเป็นต้องใช้ยาชา
นอกจากนี้ ยังสามารถถอดเปลี่ยนแผ่นวัสดุวีเนียร์ได้ในภายหลัง แต่การทำวีเนียร์ประเภทนี้อาจอยู่ไม่คงทนเท่าการทำวีเนียร์แบบดั้งเดิม และไม่เหมาะกับผู้ที่มีคราบสีเข้มติดแน่นบนผิวฟัน หรือสภาพฟันเสียหายอย่างรุนแรง
วัสดุที่นิยมนำมาใช้ทำวีเนียร์ มี 2 ชนิด วัสดุแต่ละชนิดมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ซึ่งทันตแพทย์จะเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสม โดยพิจารณาจากปัญหาของคนไข้ ดังนี้
- คอมโพสิทวีเนียร์ (Composite Resin Veneers) เป็นวัสดุเดียวกับที่ใช้อุดฟัน มีข้อดีคือไม่ต้องกรอผิวฟันออกไปมากนัก ราคาไม่สูง สามารถแก้ไขได้ง่ายหากเกิดความเสียหายหลังการทำ และอาจใช้ระยะเวลาในการทำที่สั้นกว่า แต่มีข้อเสียคือการยึดเกาะและความทนทานน้อยกว่าวัสดุเซรามิก จึงอาจสึกกร่อน เปลี่ยนสี และแตกหักได้ง่ายกว่าการใช้วัสดุเซรามิก
- พอร์ซเลนวีเนียร์ (Porcelain Veneers) ทำจากวัสดุเซรามิกที่มีความแข็งแรงและเงางามใกล้เคียงกับฟันตามธรรมชาติ ทำให้ติดทนได้นาน สึกกร่อนได้ยาก และมักไม่เป็นคราบหรือเปลี่ยนสีหลังการทำ แต่จะมีราคาสูงกว่าคอมโพสิทวีเนียร์
ขั้นตอนการทำวีเนียร์
โดยทั่วไปทันตแพทย์มักนัดให้คนไข้มาพบประมาณ 3 ครั้ง เพื่อตรวจวิเคราะห์สภาพฟัน พิมพ์แบบฟันเพื่อผลิตวีเนียร์ และติดแผ่นวีเนียร์ลงบนฟัน ดังนี้
การตรวจวิเคราะห์สภาพฟันและวางแผนการรักษา
ในการนัดหมายครั้งแรก ทันตแพทย์จะตรวจสภาพฟันเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและข้อจำกัดของผู้เข้ารับการทำวีเนียร์ และพิจารณาวิธีการรักษาอย่างเหมาะสมตามปัญหาที่พบ เช่น ฟันบิ่น ฟันห่าง หรือสีฟันไม่สม่ำเสมอประกอบกับพิจารณาตามความต้องการของผู้ทำ ในขั้นตอนนี้แพทย์อาจให้เอกซเรย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยสุขภาพฟันโดยรวม หากพบว่ามีฟันผุ มีปัญหาเกี่ยวกับโรคเหงือกหรือรากฟัน อาจไม่สามารถทำวีเนียร์ได้
การพิมพ์แบบฟันเพื่อผลิตวีเนียร์
แพทย์จะนัดให้คนไข้มาพบอีกครั้งเพื่อตกแต่งผิวฟัน โดยใช้อุปกรณ์กรอผิวชั้นเคลือบฟันออกเล็กน้อย ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร เพื่อปรับแต่งรูปฟันให้เหมาะต่อการใส่วัสดุ และพิมพ์แบบฟันของคนไข้เพื่อนำส่งห้องแล็ปผลิตวีเนียร์ ซึ่งจะใช้เวลาผลิตประมาณ 2–4 สัปดาห์
การติดวีเนียร์
แพทย์จะนัดหมายให้มาพบเพื่อติดวีเนียร์ โดยเริ่มจากการวางวีเนียร์ทาบลงบนฟันทีละซี่ เพื่อตรวจความสม่ำเสมอของสีและขนาดของฟัน หากพบว่าวีเนียร์มีขนาดหรือรูปร่างไม่พอดีกับฟัน อาจใช้อุปกรณ์ตัดแต่งเพิ่มเติมตามความเหมาะสมก่อนการติดวีเนียร์ ก่อนเริ่มขั้นตอน ทันตแพทย์จะทำความสะอาดฟันของคนไข้เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกที่อาจสะสมและเป็นสาเหตุของฟันผุได้หลังการติดวีเนียร์
จากนั้น แพทย์จะใช้อุปกรณ์กรอผิวชั้นเคลือบฟันแต่ละซี่ เพื่อให้แผ่นวีเนียร์ติดกับผิวฟันจริงได้ดีขึ้น และใช้วัสดุซีเมนต์ (Cement) ทางทันตกรรมทาลงบนแผ่นวีเนียร์ และติดลงบนฟันทีละซี่ จากนั้นจึงฉายแสงยูวี (UV) เพื่อให้ซีเมนต์แข็งตัวและยึดเกาะกับผิวฟันได้อย่างรวดเร็ว หากมีซีเมนต์ส่วนเกินบนผิวฟัน แพทย์จะใช้เครื่องมือกรอออก และจะตรวจสอบความสมบูรณ์ของการติดวีเนียร์โดยตรวจจากการสบฟัน หรืออาจปรับแต่งเพิ่มเติมอีกครั้งตามความเหมาะสม
ขั้นตอนการติดวีเนียร์ลงบนฟันมักใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยอาจมีการใช้ยาชาในขั้นตอนการกรอผิวฟัน ผู้เข้ารับการทำสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังการติดวีเนียร์เสร็จ ทั้งนี้ ทันตแพทย์จะนัดให้กลับมาพบเพื่อตรวจสภาพเหงือกและฟันอีกครั้งหลังการติดวีเนียร์ประมาณ 2–3 สัปดาห์
การดูแลฟันหลังทำวีเนียร์
หลังการทำวีเนียร์ ผู้เข้ารับการทำอาจรู้สึกว่ามีจุดขรุขระเล็ก ๆ บนผิวฟัน ซึ่งอาจเกิดจากซีเมนต์ส่วนเกินจากการติดวีเนียร์ โดยปกติแล้วมักจะหายไปได้เองหลังการรับประทานอาหารหรือแปรงฟัน แต่หากรู้สึกกังวล อาจไปพบแพทย์และให้แพทย์กรอออกให้
การดูแลสุขภาพฟันให้สะอาดหลังการทำวีเนียร์เป็นสิ่งสำคัญ ควรแปรงฟันให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยใช้ไหมขัดฟันก่อนการแปรงฟัน และใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ระหว่างวัน เพื่อลดเกิดการสะสมของแบคทีเรียหรือสิ่งสกปรกที่อาจทำให้ฟันผุในภายหลัง
การทำวีเนียร์แบบไม่กรอผิวฟันอาจอยู่ได้ประมาณ 5–7 ปี ส่วนการทำวีเนียร์แบบดั้งเดิมอาจอยู่ได้นานถึง 10–15 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาหลังการทำวีเนียร์ ซึ่งวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้อาจช่วยยืดระยะเวลาของวีเนียร์ให้อยู่ได้นานยิ่งขึ้น
- ควรหลีกเลี่ยงการขบเคี้ยวของแข็ง เช่น น้ำแข็ง ปากกา หรือเล็บมือ
- ไม่ควรใช้ฟันหน้าเคี้ยวอาหาร แต่ควรใช้ฟันกราม โดยเฉพาะการเคี้ยวอาหารที่แข็งหรือเหนียว และควรตัดอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนรับประทาน
- ไม่ใช้ฟันเปิดกระป๋องหรือบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ
- หากเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนบริเวณใบหน้า ควรสวมฟันยาง (Mouth Guard) เพื่อป้องกันการแตกหักของฟัน
- หากเป็นผู้ที่นอนกัดฟัน ควรสวมเฝือกสบฟันหรือฟันยางขณะนอนหลับ เพื่อช่วยป้องกันการสึกกร่อนของฟัน
ข้อควรระวังในการทำวีเนียร์
การทำวีเนียร์อาจมีข้อควรระวังหรือข้อควรพิจารณาดังนี้
- วีเนียร์เป็นการรักษาที่ไม่สามารถเปลี่ยนใจได้หลังตัดสินใจทำ โดยเฉพาะเมื่อกรอผิวฟันบางส่วนออกไปแล้ว
- สีของวีเนียร์อาจไม่ตรงกับสีฟันตามธรรมชาติ และหากเลือกสีของวีเนียร์แล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนสีได้หลังการติด จึงควรพิจารณาเลือกสีให้มีความสว่างตามที่ต้องการก่อนการติดวีเนียร์
- วีเนียร์สามารถสึกกร่อน แตกหัก หรือเปลี่ยนสีได้ ขึ้นอยู่กับการดูแลความสะอาดและการใช้ฟันหลังการทำ
- หลังการทำวีเนียร์อาจทำให้รู้สึกเสียวฟันได้ง่ายเมื่อรับประทานอาหารที่เย็นหรือร้อนจัด เนื่องจากสูญเสียการเนื้อฟันในระหว่างการกรอผิวชั้นเคลือบฟัน
- วีเนียร์ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเหงือก ปัญหารากฟัน ฟันผุ ฟันแตก หรือมีหลุมที่ฟันขนาดใหญ่ และแพทย์อาจไม่แนะนำให้ผู้ที่นอนกัดฟันทำวีเนียร์ เนื่องจากมีโอกาสที่ฟันจะแตกหักได้ง่าย
- วีเนียร์มักมีราคาสูง
การทำวีเนียร์ควรอยู่ภายใต้การดูแลของทันตแพทย์ ซึ่งจะช่วยประเมินและวิเคราะห์ปัญหาที่ต้องการแก้ไขและวางแผนการติดวีเนียร์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย คืนรอยยิ้มที่สวยงามและเพิ่มความมั่นใจให้แก่คุณ
นอกจากนี้ หลังการทำวีเนียร์ควรดูแลความสะอาดภายในช่องปากอยู่เสมอ เพื่อป้องกันฟันผุหรือโรคเหงือก ไม่ใช้ฟันหน้ากัดของแข็ง และไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน ซึ่งจะช่วยให้คุณมีสุขภาพเหงือกและฟันที่ดี และยืดอายุของวีเนียร์ให้คงทนได้นาน