รองเท้าส้นสูง ความสวยที่อยู่บนความเสี่ยง

รองเท้าส้นสูงนับเป็นของคู่ใจของใครหลายคน เพราะช่วยเสริมบุคลิกภาพให้ดูดีและมีความมั่นใจมากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ที่สวมใส่ได้เช่นกัน การทราบถึงความเสี่ยงจากการใส่ส้นสูง ตลอดจนเทคนิคการเลือกรองเท้าและการดูแลเท้าอย่างเหมาะสม จะช่วยดูแลสุขภาพ และอาจทำให้สวมใส่รองเท้าส้นสูงได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น

1480 รองเท้าส้นสูง Resized

รองเท้าส้นสูงส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร ?

โดยทั่วไป รองเท้าส้นสูงสำหรับผู้หญิงจะมีความสูงประมาณ 1.7 นิ้ว และสำหรับผู้ชายจะสูงประมาณ 1 นิ้ว ซึ่งผู้ที่สวมใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำทั้งหญิงและชายมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวต่ออวัยวะต่าง ๆ ได้ ดังนี้

  • เท้า การสวมใส่รองเท้าที่มีส้นสูง 3 นิ้ว ทำให้เกิดการลงน้ำหนักบริเวณเนินปลายเท้ามากกว่าการสวมรองเท้าส้นเตี้ยถึง 7 เท่า ส่งผลให้มีอาการปวดเท้า ปวดส้นเท้า ข้ออักเสบ และอาจทำให้ปมเส้นประสาทนิ้วเท้าอักเสบได้
  • นิ้วเท้า การสวมใส่รองเท้าส้นสูงที่มีหน้ารองเท้าแคบเป็นประจำอาจทำให้หัวแม่เท้าถูกบีบให้เอียงเข้าด้านใน ส่งผลให้ข้อกระดูกของนิ้วหัวแม่เท้าบวมและแดง ซึ่งหากมีอาการปวดอย่างรุนแรงร่วมด้วย อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด
  • เอ็นร้อยหวาย เป็นเส้นเอ็นที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรงที่สุดในร่างกาย เชื่อมต่อระหว่างกล้ามเนื้อน่องกับกระดูกส้นเท้า มีหน้าที่ช่วยในการเดิน การวิ่ง และการกระโดด ซึ่งการสวมใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำจะทำให้เอ็นร้อยหวายตึงหรือหดตัวได้ ส่งผลให้ยืดขาหรือเดินลำบาก แม้แต่ในขณะที่เดินด้วยเท้าเปล่าหรือสวมใส่รองเท้าส้นเตี้ยก็ตาม
  • หัวเข่า การสวมใส่รองเท้าส้นสูงจะทำให้เกิดการลงน้ำหนักไปที่เนินปลายเท้ามากขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อหน้าหัวเข่าด้านนอกทำงานต่างจากขณะใส่รองเท้าส้นเตี้ย โดยกระดูกสะบ้าจะเคลื่อนตัวไปด้านหน้าจนเกิดมุมของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยรักษาการทรงตัวของร่างกาย ทำให้แนวของข้อเข่าเบี่ยงเบนไปจากปกติ เมื่อเวลาผ่านไปอาจส่งผลให้เข่าเสื่อมลงเรื่อย ๆ ได้
  • สะโพก เป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของขาในท่าทางต่าง ๆ ทั้งการเดิน การวิ่ง และการกระโดด เมื่อสวมใส่รองเท้าส้นสูง กระดูกสะโพกจะเคลื่อนไปด้านหน้า และต้องรับน้ำหนักมากขึ้นเพื่อแบ่งเบาน้ำหนักจากบริเวณเนินปลายเท้า ทำให้ผู้ที่สวมใส่มีอาการปวดที่ต้นขา ก้น และขาหนีบ นอกจากนี้ ตำแหน่งของสะโพกที่ผิดไปจากปกติอาจส่งผลเสียต่อกระดูกสันหลังและทำให้มีอาการปวดคอได้
  • หลัง เมื่อใส่รองเท้าส้นสูง กระดูกสะโพกและหัวเข่าจะเคลื่อนที่ไปด้านหน้าเพื่อแบ่งเบาน้ำหนักจากเนินปลายเท้า ส่งผลให้กระดูกเอวเคลื่อนไปด้านหลัง ซึ่งแม้จะทำให้รูปร่างส่วนสะโพกดูสวยกว่าขณะสวมใส่รองเท้าส้นเตี้ย แต่ในระยะยาว ท่าทางที่ผิดปกติดังกล่าวจะทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง กล้ามเนื้อหลังหดเกร็ง และเป็นโรคข้ออักเสบตามมาได้

รองเท้าส้นสูงส่งผลต่อการเดินได้อย่างไร ?

ในการก้าวเดินตามปกตินั้น ส่วนแรกของเท้าที่ลงสัมผัสกับพื้น คือ ส้นเท้า ตามด้วยเนินปลายเท้า และเมื่อลงน้ำหนักจนเต็มฝ่าเท้าแล้ว นิ้วเท้าก็จะช่วยให้ก้าวเดินต่อไปได้ แต่การเดินบนรองเท้าส้นสูงตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไปนั้นจะต้องลงน้ำหนักไปที่เนินปลายเท้าและนิ้วเท้ามากกว่าปกติ ส่งผลให้ผู้สวมใส่ก้าวเดินอย่างไม่มั่นคง

แม้การค้นคว้าในปัจจุบันจะยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า การสวมใส่รองเท้าส้นสูงจะก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บได้อย่างไร แต่เป็นไปได้ว่าการก้าวเดินที่ไม่มั่นคงเมื่อใส่ส้นสูงจะทำให้กล้ามเนื้อของขาส่วนล่างทำงานหนักมากกว่าปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บที่เท้าได้ นอกจากนี้ งานวิจัยบางชิ้นยังแสดงให้เห็นว่าการใส่รองเท้าส้นสูงเดินอาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพได้หลายอย่าง ทั้งแผลพุพอง นิ้วหัวแม่เท้าเอียง ข้อเท้าแพลง ปวดหลัง และยังส่งผลกระทบต่อโครงกระดูกทั้งร่างกายได้ด้วย

หญิงตั้งครรภ์ใส่รองเท้าส้นสูงได้หรือไม่ ?

ในระหว่างตั้งครรภ์ ผู้หญิงควรเพิ่มความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและทารกในครรภ์ ดังนั้น การสวมใส่รองเท้าส้นสูงในช่วงนี้อาจไม่เป็นผลดีนัก แม้จะเป็นรองเท้าส้นสูงแบบส้นตึกหรือแบบฐานส้นรองเท้ากว้างก็ตาม เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น รูปร่างและสมดุลของร่างกายที่เปลี่ยนไป รวมถึงเส้นเอ็นที่หย่อนกว่าปกติในช่วงนี้ อาจส่งผลต่อความมั่นคงในการก้าวเดิน ตลอดจนความแข็งแรงของข้อกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้เสี่ยงหกล้มได้ง่าย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้

เทคนิคการดูแลเท้าสำหรับผู้ที่สวมใส่รองเท้าส้นสูง

ผู้ที่สวมใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำสามารถดูแลสุขภาพเท้าและลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ด้วยการปฏิบัติตามแนวทาง ดังต่อไปนี้

  • เลือกรองเท้าที่พอดีกับเท้า โดยไม่จำเป็นต้องเผื่อพื้นที่หลังเท้า เพื่อป้องกันเท้าเลื่อนไปบริเวณด้านหน้ารองเท้า อีกทั้งการสวมใส่รองเท้าที่มีขนาดไม่พอดีหรือใหญ่เกินไปยังทำให้เกิดแรงกดที่นิ้วเท้าจนอาจมีอาการปวดนิ้วเท้าตามมา
  • ใช้แผ่นเสริมรองเท้า ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นซิลิโคนรองเท้าชนิดนิ่ม เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องสวมใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน โดยอาจช่วยลดอาการเจ็บที่บริเวณเนินปลายเท้าได้
  • สลับไปสวมใส่รองเท้าส้นเตี้ยบ้าง ความลาดเอียงของเท้าที่ลดลงอาจช่วยลดแรงกดบริเวณเนินปลายเท้า และยังช่วยให้ทรงตัวได้ดีขึ้น
  • เลือกรองเท้าส้นตึกแทนรองเท้าส้นเข็ม การใส่รองเท้าส้นตึกจะช่วยให้เดินได้อย่างมั่นคงมากกว่าการใส่รองเท้าส้นเข็ม อีกทั้งอาจช่วยลดน้ำหนักที่ลงสู่เนินปลายเท้าและลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับเอ็นร้อยหวายได้ด้วย
  • เลือกรองเท้าหน้ากว้างกว่าปลายเท้า การสวมใส่รองเท้าหน้าแคบเสี่ยงทำให้ผิวหนังด้านและเกิดตาปลา ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทระหว่างกระดูกเท้าและเนินปลายเท้าจนทำให้ปมประสาทนิ้วเท้าอักเสบได้
  • เปลี่ยนระดับความสูงของส้น การสวมใส่รองเท้าส้นสูงที่มีความสูงระดับเดียวกันนาน ๆ อาจส่งผลให้เอ็นร้อยหวายตึง หากสลับหรือเปลี่ยนระดับความสูงของส้นรองเท้าเป็นประจำจะช่วยให้เอ็นร้อยหวายได้ผ่อนคลายและไม่ตึงตัวมากจนเกินไป
  • จำกัดเวลาในการสวมใส่ ควรสวมรองเท้าส้นสูงเพียงประมาณวันละ 3 ชั่วโมง เพื่อลดปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดจากการสวมใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน หรืออาจพกรองเท้าส้นเตี้ยติดตัวไว้สำหรับสลับเปลี่ยนในระหว่างวัน
  • ผ่อนคลายกล้ามเนื้อเท้าและขา ไม่ว่าจะสวมใส่รองเท้าส้นสูงหรือส้นเตี้ยก็ควรนวดเท้าและแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นเป็นประจำ เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเอ็นร้อยหวาย นอกจากนี้ น่องก็เป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสวมใส่รองเท้าส้นสูงด้วย จึงควรหมั่นยืดกล้ามเนื้อน่องโดยยืนย่อเข่าลง 1 ข้าง ในขณะที่ขาอีก 1 ข้างเหยียดตรงไปด้านหลัง แล้วใช้มือทั้ง 2 ข้างยันกำแพงไว้ ทำข้างละ 10 ครั้งสลับกันก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดน่องได้