รักษาสิวให้ผิวใส เลือกวิธีที่ใช่สำหรับผิว

สิวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การรักษาสิวด้วยวิธีต่าง ๆ จึงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคนขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของสิว หากมีอาการไม่รุนแรง การดูแลรักษาความสะอาดและใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวทั่วไปอาจช่วยรักษาสิวให้หายได้ แต่หากเป็นสิวรุนแรง การรักษาอาจยากขึ้นและใช้ระยะเวลานาน

สิวเกิดจากการที่สิ่งสกปรก น้ำมัน หรือเซลล์ผิวที่ตายแล้วอุดตันอยู่ในรูขุมขน ทำให้เกิดการอักเสบของผิว และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณนั้นได้ การรักษาสิวจึงเน้นที่การกำจัดเชื้อแบคทีเรียและน้ำมันส่วนเกินที่ทำให้เกิดสิวขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาสิวมักพบบ่อยในวัยรุ่น แต่ผู้ใหญ่หลายคนอาจพบปัญหาสิวเช่นกัน บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลการรักษาสิวด้วยวิธีต่าง ๆ ให้ได้ผลมาฝากกัน

treatment for acne

เลือกวิธีรักษาสิวที่เหมาะกับผิวคุณ

โดยทั่วไป การรักษาสิวอาจแบ่งตามระดับความรุนแรงได้ 3 ระดับ ดังนี้

การรักษาสิวระดับเล็กน้อย 

ผู้ที่มีสิวเล็กน้อยจะมีสิวตุ่มนูน (Papules) และสิวหัวหนอง (Pustules) ขนาดเล็กและมีจำนวนไม่มากขึ้นบนใบหน้า สิวในระยะนี้ยังไม่รุนแรงมากนัก ปัจจัยสำคัญคือการรักษาความสะอาดของใบหน้าและเส้นผมไม่ให้มีน้ำมันส่วนเกินหรือสิ่งสกปรกที่อาจทำให้เกิดสิวด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ล้างหน้าให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและก่อนนอน หรือหลังจากทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่อ่อนโยนต่อผิวและหลีกเลี่ยงการขัดถูหน้าแรง ๆ
  • ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวชนิดไม่มีน้ำมันหรือไม่มีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า โดยเฉพาะการแกะหรือบีบสิว เนื่องจากยิ่งเร่งการอักเสบของสิวหรือทำให้สิวอุดตันเพิ่มขึ้นได้
  • เปลี่ยนปลอกหมอนและเครื่องนอนอื่น ๆ ทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่นหรือเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดสิว

นอกจากนี้อาจใช้ยาทารักษาสิวชนิดครีม เจล หรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิค (Salicylic Acid) เรตินอยด์ หรือยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) และอีริโทรมัยซิน (Erythromycin) เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังร่วมกับเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)  และแดพโซน (Dapsone) เพื่อรักษาอาการอักเสบของผิวหนัง โดยทาบาง ๆ บนผิวหนังบริเวณที่เป็นสิววันละ 2 ครั้ง หรือใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร

การรักษาสิวระดับปานกลางถึงค่อนข้างรุนแรง 

สิวในระดับปานกลาง เป็นระดับที่มีสิวตุ่มนูนและสิวหัวหนองจำนวนมากขึ้นบนใบหน้า และอาจพบสิวอักเสบก้อนลึก (Nodules) ด้วย การรักษาสิวในขั้นนี้มักใช้ยาทารักษาสิวเช่นเดียวกับการรักษาของผู้มีสิวเล็กน้อย แต่แพทย์อาจสั่งจ่ายยาชนิดรับประทานเพิ่มเติมในกรณีที่อาการยังไม่ดีขึ้นหลังใช้ยาทารักษาสิว ได้แก่ยาดังต่อไปนี้

  • ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) และยากลุ่มแมคโครไลด์ (Macrolide) หลังจากรับประทานยาหมดแล้ว ควรใช้ยาทารักษาสิวอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมและป้องกันการเกิดสิวใหม่
  • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptives) สำหรับเพศหญิง ซึ่งเป็นฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน (Estrogens) ผสมกับฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (Progestins) แต่ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
  • ยาไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) เป็นยาอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ ลดการสร้างน้ำมันบนผิวหนังและช่วยผลัดเซลล์ผิวใหม่ แต่มักใช้ในผู้ที่มีสิวอักเสบในระดับรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาตัวอื่นเท่านั้น

ยาเหล่านี้เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งจะสั่งจ่ายยาหลังจากประเมินอาการและความรุนแรงของสิว ผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อประสิทธิภาพของการรักษาและลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย

การรักษาสิวระดับรุนแรง 

ผู้ที่มีสิวรุนแรงจะพบสิวตุ่มนูน สิวหัวหนอง และสิวอักเสบก้อนลึกจำนวนมากหรือมีขนาดใหญ่ ซึ่งจะรักษาด้วยการรับประทานยาตามที่แพทย์ผิวหนังสั่งจ่ายให้ เช่น ยาไอโซเตรติโนอินและยาปฏิชีวนะ โดยรับประทานติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน หรืออาจได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อรักษาสิวในบางกรณี ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีสิวรุนแรงและมีประจำเดือนผิดปกติ มีขนบนใบหน้าเยอะ หรือมีโรคอ้วน แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจหาปัจจัยที่อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS) หรือความผิดปกติของฮอร์โมนเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ในกรณีที่มีสิวในขั้นรุนแรง ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น     

  • การกดสิว ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาแล้วสิวหัวดำและสิวหัวขาวยังไม่หมดไป โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือช่วยในการกดสิ่งที่อุดตันอยู่ภายในออก
  • การดูดเอาหนองและสิ่งสกปรกในสิวซีสต์ (Cyst) ที่เกิดการติดเชื้อ ซึ่งแพทย์อาจฉีดยาสเตียรอยด์หรือยาปฏิชีวนะบริเวณที่มีสิว เพื่อให้สิวยุบเร็วขึ้นและไม่ทิ้งรอยแผลเป็นบนผิวหนัง 
  • การทำเลเซอร์ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดสิว และช่วยรักษารอยแผลเป็นจากสิว
  • การฉีดสิว ด้วยสเตียรอยด์ เมื่อมีสิวอักเสบก้อนลึกหรือสิวซีสต์ จะช่วยให้สิวยุบตัวอย่างรวดเร็วและลดความเจ็บปวดบริเวณที่เป็นสิว อย่างไรก็ตาม การฉีดยาสเตียรอยด์มีข้อจำกัดในการใช้สำหรับผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคบางอย่างหรือมีปัญหาสุขภาพบางประการ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนรักษาด้วยการฉีดสิว
  • การผลัดเซลล์ผิวโดยใช้กรดที่มีความเข้มข้นสูง (Chemical Peel) และการกรอผิว (Microdermabrasion) ซึ่งจะช่วยผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกที่ตายแล้ว รวมถึงช่วยกำจัดสิวหัวขาวและสิวหัวดำบนผิวหนัง

เคล็ดลับเพื่อผิวใสไร้สิว

การมีผิวใสและสุขภาพดีไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องใส่ใจในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนและไม่มีส่วนผสมที่ทำให้เกิดการอุดตันของผิวตั้งแต่ขั้นตอนการล้างหน้า การบำรุงผิว การทาครีมกันแดด และการใช้เครื่องสำอาง นอกจากนี้ ควรดูแลสุขภาพโดยรวมด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเป็นเวลา 7-9 ชั่วโมงต่อวัน ผ่อนคลายความเครียดอย่างการทำสมาธิหรือเล่นโยคะ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดการสูบบุหรี่ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสของการเกิดสิวและปัญหาผิวต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ตามหากรักษาสิวด้วยตัวเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ แล้วมีอาการแพ้ เช่น มีผื่นแดงหรือระคายเคือง ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา ซึ่งแพทย์ผิวหนังจะวินิจฉัยสาเหตุของสิวและแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมกับอาการและความรุนแรงของสิว ช่วยแก้ปัญหาผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ