ความหมาย รังแค
รังแค (Dandruff) เป็นภาวะเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับหนังศีรษะและพบได้บ่อยกับคนทุกเพศทุกวัย ก่อให้เกิดอาการคัน หนังศีรษะแห้ง และมีลักษณะเป็นสะเก็ดสีขาว แบน และบางที่เส้นผมหรือหนังศีรษะ โดยมักจะพบเห็นและสังเกตสะเก็ดขาวนี้ได้บริเวณบ่าที่ร่วงหล่นลงมาจากศีรษะ
อย่างไรก็ตาม รังแคไม่ใช่โรคติดต่อและไม่เป็นอันตราย และส่วนใหญ่สามารถรักษาและควบคุมอาการได้ไม่ยาก
อาการของรังแค
รังแคมีอาการที่สำคัญ ได้แก่
- มีสะเก็ดสีขาวหรือเหลือง ลักษณะเป็นแผ่นแบนและบางมันวาว มักพบบริเวณหนังศีรษะ เส้นผม หรือไหล่
- มีอาการคันศีรษะ หนังศีรษะมัน แดงหรือเป็นสะเก็ด
- มักจะพบว่าเป็นมากในช่วงฤดูหนาวและอาการจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์ ?
โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีรังแคไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เพราะสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง แต่หากรักษาด้วยตนเองแล้วไม่ดีขึ้น หรือพบว่าหนังศีรษะมีอาการแดงหรือบวม ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคผิวหนังอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) หรือภาวะอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกับรังแค ในกรณีนี้ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์โรคผิวหนัง
สาเหตุของรังแค
โดยปกติผิวหนังของคนเราจะมีการสร้างและผลัดเซลล์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งรังแคจะเกิดขึ้นเมื่อวงจรการสร้างและผลัดเซลล์ผิวดังกล่าวเร็วกว่าปกติ ทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วก่อตัวเป็นแผ่นและเป็นสะเก็ด โดยอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- โรคผิวหนังอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) เป็นภาวะที่ทำให้ผิวหนังมัน แดง และเป็นสะเก็ด สามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณในร่างกายที่มีต่อมน้ำมัน รวมไปถึง คิ้ว ขาหนีบ รักแร้ หรือบริเวณข้างจมูก และสำหรับภาวะผิวหนังอักเสบที่เกิดในเด็กจะเรียกว่า ภาวะผิวหนังอักเสบในเด็กทารก (Cradle Cap)
- เชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ปกติเชื้อราชนิดนี้จะอาศัยอยู่ที่หนังศีรษะอยู่แล้ว แต่หากมีจำนวนมากเกินไปจะทำให้เกิดการสร้างและผลัดเซลล์ผิวหนังที่เร็วกว่าปกติ ซึ่งทำให้เกิดรังแค และปัจจัยที่ทำให้เชื้อราชนิดนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ได้แก่ อายุ ฮอร์โมนและความเครียด
- เชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea Capitis) หรือกลากบนหนังศีรษะ เป็นภาวะที่เชื้อราได้กระจายตัวลึกลงไปยังรูขุมขน ก่อให้เกิดอาการคันที่หนังศีรษะและอาจทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ทำให้เกิดอาการคันและผิวหนังตกสะเก็ด ซึ่งคล้ายกันกับรังแคแต่จะมีความรุนแรงกว่า
- ภาวะผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) เป็นภาวะทางผิวหนังที่พบได้บ่อย สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ โดยทำให้ผิวแห้ง แดง ตกสะเก็ด และคัน
- ผิวหนังอักเสบจากการแพ้ เป็นอาการหรือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับศีรษะ เช่น ที่เป่าผม สเปรย์ เจลหรือมูสจัดแต่งทรงผม
- สระผมน้อยเกินไป หากไม่ได้สระผมเป็นประจำ อาจทำให้น้ำมันและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วก่อตัวจนทำให้เกิดเป็นรังแคได้ โดยเฉพาะหากมีความเครียดหรือสัมผัสกับอากาศหนาวเย็น ก็อาจทำให้เป็นมากขึ้นได้
- ผิวและหนังศีรษะแห้ง หนังศีรษะแห้งอาจทำให้มีเกล็ดผิวหนังคล้ายรังแค แต่จะมีขนาดเล็กและมีความมันน้อยกว่า และโดยปกติจะไม่ทำให้เกิดอาการแดงหรืออักเสบ นอกจากนั้นจะพบว่าผิวหนังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น แขนและขา ก็จะแห้งเช่นกัน
ปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเป็นรังแคเพิ่มขึ้น
- เพศและอายุ รังแคสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่โดยทั่วไปมักจะเกิดกับวัยหนุ่มสาวจนไปถึงวัยกลางคน แต่สำหรับบางรายสามารถเป็นได้ตลอดชีวิต นอกจากนั้น จากการวิจัยพบว่าเพศชายมีโอกาสเป็นรังแคได้มากกว่าเพศหญิง โดยมีฮอร์โมนเพศชายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดรังแค
- มีน้ำมันที่เส้นผมและหนังศีรษะมาก เชื้อรามาลาสซีเซียสามารถเติบโตได้จากน้ำมันบนหนังศีรษะ เมื่อเชื้อราชนิดนี้มีมากกว่าปกติก็จะทำให้เกิดรังแค
- โรคบางชนิด เช่น โรคพาร์กินสัน ทำให้มีโอกาสเกิดโรคผิวหนังอักเสบและรังแค แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด รวมไปถึงการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือภาวะที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ก็อาจทำให้เกิดรังแคได้เช่นกัน
- ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดรังแค ได้แก่
- กรรมพันธุ์
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง เผ็ด หรือมีเกลือมาก
- การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น กรดไขมัน และวิตามินบี
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
- ความเครียด
การวินิจฉัยรังแค
การวินิจฉัยรังแค สามารถทำได้โดยแพทย์โรคผิวหนัง ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยได้จากการตรวจดูที่เส้นผมหรือหนังศีรษะ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะทางผิวหนัง เช่น ภาวะผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) หรือโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ซึ่งเป็นภาวะที่มีความรุนแรงกว่ารังแคทั่วไป หรือผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ขจัดรังแคมาใช้เองและไม่ทำให้อาการดีขึ้น ควรจะได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์โรคผิวหนัง ซึ่งแพทย์จะสามารถตรวจหาสาเหตุ พร้อมให้คำแนะนำและให้การรักษาที่เหมาะสมได้
การรักษารังแค
การรักษาด้วยตนเอง
การรักษารังแคสามารถทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งสามารถซื้อแชมพูขจัดรังแคจากร้านขายยาหรือร้านค้าทั่วไป โดยใช้แชมพูที่มีส่วนประกอบดังต่อไปนี้
- ซีลีเนียม (Selenium) จะช่วยชะลอการผลัดเซลล์ผิวและช่วยลดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia)
- ซิงค์ไพริไทออน (Zinc Pyrithione) สามารถช่วยลดเชื้อราบนหนังศีรษะที่เป็นต้นเหตุให้เกิดรังแคและผิวหนังอักเสบได้
- ยาคีโตโคนาโซล มีฤทธิ์ต้านเชื้อราได้หลายชนิด ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อกำจัดเชื้อราบนหนังศีรษะที่เป็นต้นเหตุให้เกิดรังแคได้
- น้ำมันดิน (Coal tar) เป็นผลพลอยได้ที่มาจากกระบวนการผลิตถ่านหิน ซึ่งถูกนำมาใช้ช่วยรักษาภาวะทางผิวหนัง เช่น รังแค ผิวหนังอักเสบ และโรคสะเก็ดเงิน โดยมีฤทธิ์ในการชะลอการผลัดเซลล์ผิวไม่ให้เร็วเกินไป
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ช่วยขจัดเกล็ดผิวหนังส่วนเกินออกก่อนที่จะก่อตัวเป็นสะเก็ดและเป็นรังแค มีข้อเสียคือ อาจทำให้ผิวแห้งและทำให้เกิดสะเก็ดมากขึ้นสำหรับบางราย แต่สามารถใช้ครีมนวดผมหลังจากใช้แชมพูที่มีกรดซาลิไซลิกเป็นส่วนประกอบ เพื่อป้องกันไม่ให้หนังศีรษะแห้งจนเกินไป
ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดรังแค ควรอ่านฉลากให้ละเอียดและหากมีข้อสงสัยควรสอบถามกับเภสัชกรให้เข้าใจ ควรลองใช้แชมพูให้หลากหลายชนิดและใช้เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ทราบว่าชนิดใดเหมาะสมกับตนเองที่สุด เมื่อพบว่าอาการดีขึ้นแล้วก็อาจใช้น้อยครั้งลงได้ แต่ไม่ควรหยุดใช้ทันทีเพราะอาจทำให้เป็นรังแคได้อีกครั้ง
การรักษาโดยแพทย์
โดยปกติไม่จำเป็นต้องรักษาโดยแพทย์ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าเกิดปัญหาต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษา
- ใช้แชมพูขจัดรังแคมาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน และอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลง
- เป็นรังแคอย่างรุนแรงและมีอาการคันศีรษะมาก
- หนังศีรษะแดงหรือบวม
- เป็นผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น กำลังรักษาด้วยเคมีบำบัด เป็นเอชไอวี (HIV) หรือกำลังใช้ยาที่ระงับระบบภูมิคุ้มกัน
แพทย์จะเริ่มต้นรักษาด้วยการวินิจฉัย ตรวจดูสภาพเส้นผมและหนังศีรษะ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดรังแค โดยหากพบว่ามีอาการรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาขจัดรังแคที่มีความเข้มข้นสูงกว่าที่ซื้อใช้เอง เช่น โลชั่น แชมพู ที่มีส่วนประกอบของน้ำมันมะพร้าว กรดซาลิไซลิก ร่วมกับสเตียรอยด์ หรืออาจจำเป็นต้องใช้ยาอื่น ๆ เช่น แชมพูต้านเชื้อรา ยาคอร์ติโซนใช้เฉพาะที่ ยาชนิดโฟม ยาสารละลาย ยาครีมหรือขี้ผึ้ง เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของรังแค
รังแคไม่ได้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหรือเป็นอันตราย แต่อาจทำให้เกิดความรำคาญใจจากอาการคันหนังศีรษะ และเนื่องจากรังแคสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายบริเวณบ่าและไหล่ หรือที่หนังศีรษะ จึงอาจทำให้ผู้ที่เป็นเสียความมั่นใจและทำให้เสียบุคลิกได้ นอกจากนั้น รังแคยังเป็นเป็นภาวะเรื้อรังที่รักษาได้ยากหรือรักษาไม่หายขาดในบางราย
การป้องกันรังแค
การป้องกันรังแคสามารถทำได้ไม่ยาก ด้วยวิธีดูแลตนเองดังต่อไปนี้
- ควรสระผมด้วยแชมพูขจัดรังแคเป็นประจำ แต่ไม่ควรสระผมบ่อยจนเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการระคายเคืองและไม่ให้หนังศีรษะแห้งจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผมและหนังศีรษะที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น แอลกอฮอล์หรือสารฟอกขาว เพราะส่วนผสมดังกล่าวสามารถทำให้หนังศีรษแห้งได้ นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดความมันบนหนังศีรษะ เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรังแค
- ควรออกไปสัมผัสกับแสงแดดเล็กน้อยเป็นประจำทุกวัน เพราะจากการศึกษาพบว่าแสงแดดสามารถช่วยควบคุมการเกิดรังแคได้
- เนื่องจากความเครียดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดรังแคหรือทำให้มีอาการที่แย่ลง และยังส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม ดังนั้นควรหาทางจัดการกับความเครียดด้วยวิธีผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น การฝึกหายใจ โยคะ หรือการทำสมาธิ