อาการกรดไหลย้อนขึ้นคอ (Laryngopharyngeal Reflux) เกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหารจนถึงบริเวณลำคอ โดยอาการที่มักพบได้ เช่น เจ็บคอ เสียงแหบ ไอเรื้อรัง รู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ในลำคอ หรือบางคนอาจไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ก็ได้เช่นกัน
ภาวะกรดไหลย้อนขึ้นคอเกิดได้กับทุกกลุ่มอายุ และหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเส้นเสียงบวม เส้นเสียงเกิดแผล และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกล่องเสียง
อาการกรดไหลย้อนขึ้นคอเกิดจากอะไร
ปกติแล้วบริเวณปลายหลอดอาหารทั้งด้านบนและด้านล่างจะมีหูรูดอยู่ เพื่อช่วยป้องกันอาหารและกรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไป
อาการกรดไหลย้อนขึ้นคอจะเกิดขึ้นในลักษณะคล้ายกับภาวะกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) หรือก็คือจะเกิดขึ้นเมื่อหูรูดดังกล่าวทำงานผิดปกติไป ส่งผลให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหาร
แต่กรณีของอาการกรดไหลย้อนขึ้นคอ กรดจากกระเพาะอาหารจะไหลจากหลอดอาหารขึ้นสูงต่อไปจนถึงบริเวณกล่องเสียง หรือบางคนอาจกระทบถึงบางส่วนของทางเดินหายใจด้วย
วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการกรดไหลย้อนขึ้นคอ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนขึ้นคอให้ดีขึ้นได้ โดยทำได้หลายวิธีดังนี้
หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด
คนที่มีอาการกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิดที่มักไปกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น
- อาหารที่มีรสเผ็ด อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดสูง เช่น ผักผลไม้รสเปรี้ยวและน้ำผลไม้ ชีส อาหารโปรตีนสูง และอาหารที่มีโซเดียมสูง เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณลำคอและกล่องเสียงเกิดการระคายเคืองได้
- น้ำอัดลมที่มักส่งผลให้เกิดอาการเรอบ่อย และอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กรดไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารได้
- เครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของหูรูดของหลอดอาหารได้
- อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีช็อกโกแลต หรือมินท์เป็นส่วนผสม เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
ไม่รับประทานอาหารปริมาณมากในมื้อเดียว
การรับประทานอาหารปริมาณมากในมื้อเดียวอาจส่งผลให้หูรูดของหลอดอาหารได้รับแรงกดทับมากขึ้น จึงควรลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง แต่รับประทานให้ถี่ขึ้นแทน และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย ยกของหนัก และทำกิจกรรมที่ต้องโน้มตัวไปข้างหน้าหลังจากรับประทานอาหาร
ปรับการนอนให้เหมาะสม
ไม่ควรรับประทานอาหารก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2–3 ชั่วโมง และเมื่อเข้านอนควรยกช่วงบนของลำตัวให้สูงขึ้นจากพื้นลาด โดยใช้ของแข็งยันใต้ส่วนหัวของเตียงนอนหรือฟูกให้สูงประมาณ 0.5–1 นิ้ว และค่อย ๆ ปรับให้สูงขึ้น ตามความเหมาะสมต่อสรีระแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการนอนหมอนสูง เนื่องจากการใช้หมอนอาจส่งผลให้แค่ช่วงบนของร่างกายเท่านั้นที่ถูกยก และลำตัวเกิดการพับงอ ซึ่งอาจทำให้บริเวณช่องท้องได้รับแรงกดมากขึ้นจนทำให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปได้
ปรับการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสม
หลีกเลี่ยงการขากเสมหะ และการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะบริเวณช่วงเอว ลองเคี้ยวหมากฝรั่งเพื่อช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลายที่อาจช่วยลดความเป็นกรด หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่อาจกระตุ้นกระบวนการหลั่งกรดของร่างกายได้ และควรควบคุมน้ำหนักตัว
การใช้ยา
หากลองทำตามวิธีในข้างต้นแล้วพบว่าอาการยังไม่ดีขึ้น การรับประทานยาก็เป็นอีกวิธีที่อาจช่วยได้ แต่ก่อนใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรเลือกชนิดของยาที่เหมาะสมต่ออาการของแต่ละคน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
ตัวอย่างกลุ่มยาที่แพทย์หรือเภสัชกรอาจใช้ เช่น ยาลดกรด ยากลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors: PPIs) ยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ปิดกั้นตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 (H2 Blockers) และยาซูคราลเฟต (Sucralfate)
ส่วนใหญ่แล้วอาการกรดไหลย้อนขึ้นคอมักมีอาการดีขึ้นได้หลังจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานยา แต่ก็มีบางกรณีเช่นกันที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ ดังนั้น หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น หรือแย่ลงหลังจากลองปฏิบัติตามวิธีที่กล่าวไปแล้ว ผู้ป่วยควรหาเวลาไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม