อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) เป็นโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อย่างเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ และสารพิษต่าง ๆ โดยในช่วงฤดูร้อนจะเป็นช่วงที่พบการเกิดโรคได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้หญิงตั้งครรภ์ ทารกและเด็กเล็ก ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และผู้ป่วยไข้ไทฟอยด์
ผู้ที่ป่วยเป็นอาหารเป็นพิษอาจมีอาการและระดับความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน ตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรงอย่างท้องเสีย อาเจียน ไปจนถึงอาการที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
ในบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับอาหารเป็นพิษมาให้ได้ศึกษากัน ทั้งอาหารที่มักเกิดการปนเปื้อน วิธีการดูแลตัวเองเมื่อป่วยเป็นอาหารเป็นพิษ และสัญญาณที่บ่งบอกว่าต้องรีบไปพบแพทย์
6 อาหารที่มักส่งผลให้เกิดอาหารเป็นพิษ
การปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสารพิษต่าง ๆ อาจพบได้บ่อยในอาหารดังต่อไปนี้
1. เนื้อสัตว์ที่ยังปรุงไม่สุกดี
การรับประทานเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ ทั้งเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อเป็ด หรือเนื้อสัตว์อื่น ๆ เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อย โดยการปนเปื้อนส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในขั้นตอนการเตรียมเนื้อสัตว์
ดังนั้น ในการเตรียมเนื้อสัตว์ อาจจะเลือกล้างเฉพาะบางจุดที่ปนเปื้อนเศษต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่อาหารอื่น ๆ และอุปกรณ์ทำอาหารผ่านทางน้ำ และที่สำคัญควรปรุงเนื้อสัตว์ให้สุกดีก่อนรับประทานทุกครั้ง ตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC)
2. ปลาและสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง
ปลาบางชนิด เช่น ปลาทูน่า หรือปลาแมคเคอเรล มีสารที่มีชื่อว่า ฮีสตีดีน (Histidine) อยู่มาก โดยสารชนิดนี้จะถูกแบคทีเรียเปลี่ยนเป็นสารฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการของอาหารเป็นพิษได้ หากร่างกายมีปริมาณของสารชนิดนี้สูงเกินไป
อีกทั้งหากไม่ได้ถูกแช่เย็นมาในอุณหภูมิที่เหมาะสม ปลาในกลุ่มนี้ยังอาจมีปริมาณแบคทีเรียที่มากขึ้น ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้มีปริมาณสารฮิสตามีนในปลาเพิ่มขึ้นสูง โดยทางการแพทย์จะเรียกผู้ป่วยที่เกิดอาหารเป็นพิษจากการได้รับสารฮิสตามีนจากปลากลุ่มนี้ว่า Scombroid Poisoning หรือ Histamine toxicity
ส่วนสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งอาจส่งผลให้ผู้ที่รับประทานได้รับเชื้อโรคหรือสารพิษได้หลายทาง เช่น อาจปนเปื้อนมากับแหล่งน้ำที่สัตว์เหล่านี้อาศัยอยู่ หรืออาจปนเปื้อนมาจากสาหร่ายบางชนิดที่สัตว์เหล่านี้กินเป็นอาหาร
3. ไข่
แม้ไข่จะเป็นอาหารที่ทุกคนคุ้นเคย และมักมีติดครัวอยู่เสมอ แต่เปลือกไข่ทั้งด้านในและด้านนอกถือเป็นบริเวณที่พบเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ซัลโมเนลลา (Salmonella) ได้มาก แบคทีเรียชนิดนี้ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุพบได้บ่อยซึ่งส่งผลให้ใครหลายคนเกิดอาหารเป็นพิษ ดังนั้น ก่อนรับประทานไข่ทุกครั้งควรปรุงไข่ให้สุกดีก่อน และหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่แบบดิบ ๆ หรือไข่ที่ไม่สุกดี
4. ผักและผลไม้สด
แม้ผักและผลไม้จะอุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ผู้ที่รับประทานอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษได้ หากไม่นำผักผลไม้ไปล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน เนื่องจากผักและผลไม้ถือเป็นอาหารที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นจากน้ำที่ใช้รด ดินที่ใช้ปลูก ไปจนถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ขณะเก็บเกี่ยว
5. ผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ
หากไม่ได้ถูกนำไปฆ่าเชื้อก่อนบริโภค นมและผลิตภัณฑ์จากนม อย่างชีส ไอศกรีม และโยเกิร์ต อาจเป็นแหล่งของเชื้อโรคที่ส่งผลให้ผู้ที่รับประทานเกิดอาการเจ็บป่วยได้
ดังนั้น ก่อนเลือกซื้อนมและผลิตภัณฑ์จากนม ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อ อย่างการพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) สเตอริไลซ์ (Sterilization) หรือยูเอชที (UHT) มาแล้วเสมอ โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากเชื้อโรคที่มักพบในนมที่ยังไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออาจส่งผลให้ทั้งคุณแม่และทารกเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น แท้ง ภาวะตายคลอด หรือคลอดก่อนกำหนด
6. ข้าว
แม้ข้าวจะเป็นอาหารที่เรารับประทานกันเป็นประจำ แต่ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน โดยหากไม่ได้นำข้าวสวยที่เหลือจากการรับประทานไปเก็บไว้ในตู้เย็น ข้าวนั้นก็อาจกลายเป็นแหล่งที่เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้
ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดอาหารเป็นพิษจากการรับประทานข้าว ทุกครั้งที่รับประทานข้าวไม่หมด ควรนำข้าวที่เหลือไปแช่ตู้เย็นเอาไว้ และนำกลับมาอุ่นซ้ำอีกครั้งจนข้าวร้อนอย่างทั่วถึงก่อนจะนำมารับประทาน
นอกจากอาหารที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีอาหารใกล้ตัวเราอีกหลายชนิดที่มักพบการปนเปื้อนเชื้อต่าง ๆ และอาจนำไปสู่อาหารเป็นพิษได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นถั่วงอก ถั่วบางชนิด อาหารหมัก น้ำแข็งที่ไม่สะอาด หรืออาหารกระป๋องที่มีรอยบุบรั่ว
ดังนั้น ก่อนเลือกซื้อและรับประทานอาหารทุกครั้ง ควรตรวจสอบคุณภาพและความสะอาดของอาหารและบรรจุภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อป่วยเป็นอาหารเป็นพิษ
โดยปกติแล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นอาหารเป็นพิษมักจะดีขึ้นได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 24–48 ชั่วโมงโดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ร่างกายกำลังฟื้นตัว ผู้ป่วยอาจลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากอาการอาเจียนและท้องเสียอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดการขาดน้ำ การดื่มน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน โดยผู้ป่วยอาจซื้อผงเกลือแร่สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย อย่างผงโออาร์เอส (Oral Rehydration Salts: ORS) มาผสมดื่มกับน้ำเปล่าเพื่อชดเชยแร่ธาตุต่าง ๆ ที่สูญเสียไป ทั้งนี้ ก่อนเลือกซื้อควรตรวจดูผลิตภัณฑ์ให้ดีหรืออาจปรึกษาเภสัชกรก่อน เพื่อป้องกันการสับสนกับผงเกลือแร่สำหรับนักกีฬาที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ซึ่งอาจส่งผลให้อาการท้องเสียรุนแรงขึ้นได้
- เลือกรับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อนมาแล้ว เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม น้ำซุป และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสดหรืออาหารที่ไม่ได้ผ่านการปรุงให้สุก เช่น สลัด ยำ ส้มตำ หรือผลไม้ต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหาร
- หลีกเลี่ยงการแปรงฟันอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังจากอาเจียน เพื่อป้องกันชั้นเคลือบฟันเกิดการสึกกร่อน เนื่องจากกรดจากกระเพาะที่ไหลออกมาพร้อมกับอาเจียนอาจส่งผลให้ชั้นเคลือบฟันเกิดความเสียหายได้ ซึ่งการแปรงฟันในช่วงนี้จะยิ่งส่งผลให้ชั้นเคลือบฟันเสียหายมากขึ้นหรือเกิดการสึกกร่อนตามมา
- งดรับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อและยาแก้ท้องเสีย เนื่องจากยาฆ่าเชื้อเป็นยาที่ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ส่วนยาแก้ท้องเสีย ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้ท้องเสียในช่วงนี้ เพื่อช่วยให้ร่างกายได้ขับของเสียและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบย่อยอาหารออกไปตามกลไกธรรมชาติของร่างกาย
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
แม้โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจะมีอาการดีขึ้นได้เอง แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตได้เช่นกัน เช่น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ดังนั้น ผู้ที่ป่วยเป็นอาหารเป็นพิษควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบสัญญาณผิดปกติที่มีความรุนแรง เช่น อาเจียนบ่อยผิดปกติ อาเจียนปนเลือด อุจจาระปนเลือด ปวดท้องขั้นรุนแรง ท้องเสียนานเกิน 3 วัน ปากแห้ง อ่อนเพลียขั้นรุนแรง ไข้ขึ้นสูง เวียนศีรษะ กระหายน้ำผิดปกติ ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย มองเห็นภาพเบลอ หรือรู้สึกคล้ายมีเข็มทิ่มที่แขน เป็นต้น