อาการไมเกรนที่ผู้ป่วยไมเกรนมักพบได้บ่อยมีหลายแบบ เช่น ปวดศีรษะข้างเดียว คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือหูอื้อ โดยอาการไมเกรนมักเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง และอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตาม อาการไมเกรนอาจบรรเทาให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การกินยา และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
ไมเกรนเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อย โดยสาเหตุอาจเกิดจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด การอดนอน การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การมีประจำเดือน การอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง แสงวูบวาบ หรือมีกลิ่นแรง
ทำความรู้จักอาการไมเกรน
อาการไมเกรนอาจแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่
1. ระยะอาการบอกเหตุ (Prodrome)
อาการในระยะอาการบอกเหตุอาจเกิดขึ้นประมาณ 1–2 วันก่อนเกิดอาการไมเกรนอื่น ๆ โดยผู้ที่มีอาการไมเกรนบางรายอาจมีอาการในระยะอาการบอกเหตุ และบางรายอาจไม่มีอาการในระยะนี้
ตัวอย่างของอาการในระยะบอกเหตุ เช่น รู้สึกไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่น มีอารมณ์แปรปรวน รู้สึกอ่อนเพลีย คลื่นไส้ รู้สึกอยากอาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปัสสาวะบ่อย นอนไม่หลับ หรือหาวบ่อย
2. ระยะอาการเตือน (Aura)
อาการไมเกรนในระยะนี้มักเกี่ยวข้องกับระบบประสาทและการมองเห็น โดยสำหรับบางรายอาจเกิดอาการเตือนขณะมีอาการปวดศีรษะจากไมเกรน หรือบางรายอาจมีอาการนานประมาณ 5–20 นาทีก่อนอาการปวดศีรษะจากไมเกรนจะเริ่มขึ้น
ตัวอย่างของอาการในระยะนี้ เช่น มองเห็นจุดดำ เห็นแสงวูบวาบ หรือเห็นภาพหลอน สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว รู้สึกเหมือนแขนขาหนักขึ้น อ่อนแรงหรือชาบริเวณใบหน้า หรือข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย หูอื้อ พูดลำบาก
3. ระยะที่เกิดอาการปวดศีรษะ (Attack)
อาการปวดศีรษะจากไมเกรนอาจเกิดขึ้นติดต่อกันได้นานถึง 4–72 ชั่วโมง ซึ่งอาการปวดศีรษะจากไมเกรนอาจมีลักษณะดังต่อไปนี้ เช่น ปวดศีรษะข้างเดียวหรือปวดทั้ง 2 ข้าง ปวดศีรษะแบบตุบ ๆ นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น รู้สึกไวต่อแสง เสียง กลิ่น และการสัมผัส คัดจมูก คลื่นไส้ อาเจียน
4. ระยะหลังอาการปวดศีรษะ (Post-drome)
หลังจากเกิดอาการปวดศีรษะ (Attack) แล้ว ผู้ที่มีอาการไมเกรนบางรายอาจมีอาการต่าง ๆ แตกต่างกันไป เช่น ไม่มีสมาธิ รู้สึกอ่อนเพลีย หรืออาจรู้สึกกระปรี้กระเปร่า รู้สึกอยากอาหาร หรือในบางรายอาจเบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจพบว่า หากหมุนหรือขยับศีรษะอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ อาจส่งผลให้อาการปวดศีรษะจากไมเกรนกลับมาเป็นอีกครั้งได้
วิธีรับมืออาการไมเกรนอย่างเหมาะสม
ถึงแม้ว่าอาการไมเกรนยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่การรับมืออย่างเหมาะสมอาจช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ รวมไปถึงอาการไมเกรนในระยะอื่น ๆ ได้ โดยวิธีการรับมืออาการไมเกรนเบื้องต้นอาจทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- กินยาแก้ปวด เช่น ยาอะเซตามิโนเฟน ยาไอบูโพรเฟน หรือยาพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนที่ไม่รุนแรง
- ประคบเย็นบริเวณหน้าผากหรือหลังคอ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะให้ดีขึ้น
- นวดบริเวณหนังศีรษะ โดยใช้ปลายนิ้วออกแรงกดนวดเป็นวงกลมให้ทั่วหนังศีรษะอย่างน้อย 5 นาที อาจช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการปวดศีรษะไมเกรนได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยควรนอนพักผ่อนในห้องที่มืดและเงียบ เพราะอาจช่วยให้อาการนอนไม่หลับดีขึ้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการอาเจียน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
- จัดการกับความเครียดที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการไมเกรนต่าง ๆ
ทั้งนี้ ควรไปพบแพทย์หากอาการไมเกรนเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ หรืออาการไมเกรนเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและนานกว่าปกติ โดยแพทย์อาจทำการรักษาโดยการใช้ยาไมเกรน เช่น ยากลุ่มทริปแทน เพื่อรักษาอาการไมเกรนโดยตรง นอกจากนี้ แพทย์อาจจ่ายยาป้องกันอาการไมเกรน ซึ่งอาจช่วยให้ความรุนแรงและความถี่ในการเกิดอาการไมเกรนลดน้อยลง