อาการอาหารเป็นพิษเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการกินอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งอาการต่าง ๆ อาจแตกต่างกันไปตามเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย โดยอาการอาหารเป็นพิษมักไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต และอาจดีขึ้นได้เมื่อได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
อาหารเป็นพิษเป็นอาการป่วยที่เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส พยาธิ เชื้อรา สารเคมี หรือสารพิษ ซึ่งการปนเปื้อนในอาหารอาจเกิดได้จากการไม่ล้างมือก่อนทำอาหารหรือกินอาหาร หรือการกินอาหารลักษณะต่าง ๆ เช่น อาหารที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุก อาหารหมดอายุ ผักหรือผลไม้ที่ยังไม่ได้ล้างเพื่อกำจัดสารพิษ
รู้จักอาการอาหารเป็นพิษ
อาการอาหารเป็นพิษมักเกิดขึ้นหลังจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนประมาณ 4–24 ชั่วโมง ซึ่งอาการอาหารเป็นพิษที่พบได้อาจมีดังนี้
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ปวดเกร็งท้อง
- ท้องเสีย ถ่ายเหลว
- มีไข้ อ่อนเพลีย
ในบางกรณี อาการอาหารเป็นพิษอาจส่งผลต่อระบบประสาท ซึ่งอาจทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น ตาพร่ามัว กลืนลำบาก ปวดศีรษะ รู้สึกชาที่ผิวหนัง เสียงพูดเปลี่ยนไป และขยับแขนขาลำบาก โดยอาการเหล่านี้เป็นอาการรุนแรงและอันตราย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเหมาะสมต่อไป
อาการอาหารเป็นพิษที่ควรไปพบแพทย์
หากเกิดอาการอาหารเป็นพิษ สามารถดูแลตนเองได้ด้วยวิธีรักษาอาหารเป็นพิษต่าง ๆ เช่น การพักผ่อน การดื่มน้ำหรือเกลือแร่ โอ อาร์ เอสเยอะ ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หรือการกินยารักษา เช่น ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth subsalicylate) เพื่อรักษาอาการท้องเสียและอาการคลื่นไส้ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์หากอาการอาหารเป็นพิษมีความรุนแรง เช่น
- ถ่ายเป็นเลือด
- ท้องเสียนานเกิน 3 วัน
- มีไข้สูงเกินกว่า 38.9 องศาเซลเซียส
- อาเจียนติดต่อกันหลายครั้ง
- มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะไม่บ่อย ปากแห้ง คอแห้ง เวียนศีรษะเมื่อลุกขึ้นยืน
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการอาหารเป็นพิษกลับมาเป็นซ้ำ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร เช่น ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ล้างผักและผลไม้ก่อนกินทุกครั้ง ทำความสะอาดอุปกรณ์การทำอาหารและภาชนะใส่อาหารให้สะอาด เก็บอาหารอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ ควรสังเกตอาหารก่อนกินทุกครั้ง และไม่ควรกินอาหารเหล่านั้น หากอาหารไม่ผ่านการปรุงสุก ปนเปื้อนสิ่งแปลกปลอม มีราขึ้น หรือหมดอายุ