การตรวจภายใน (Per Vaginal Examination / Pelvic Examination) เป็นวิธีตรวจชนิดหนึ่งที่แพทย์จะตรวจดูอวัยวะภายในบริเวณอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง ตั้งแต่อวัยวะเพศหญิง ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ท่อนำรังไข่ รังไข่ กระเพาะปัสสาวะ ไปจนถึงบริเวณทวารหนัก เพื่อหาสิ่งผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของความเจ็บป่วยหรือโรค
การตรวจภายในไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าต้องตรวจบ่อยแค่ไหน แต่โดยทั่วไปทางการแพทย์จะแนะนำให้ตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งสำหรับผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป หรืออาจมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของแต่ละบุคคล ความเสี่ยงที่อาจเป็นโรคต่าง ๆ และดุลยพินิจของแพทย์
ทำไมต้องเข้ารับการตรวจภายใน
ในเบื้องต้น ผู้เข้ารับการตรวจต้องพบแพทย์เพื่อพูดคุยและให้แพทย์ประเมินความเหมาะสมก่อน โดยการตรวจภายจะมักใช้ในหลายกรณี เช่น
- เป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิง เช่น การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear / Pap Test)
- ตรวจหาการติดเชื้อในช่องคลอด เช่น การติดเชื้อราหรือแบคทีเรียในช่องคลอด
- ค้นหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคเริม โรคพยาธิในช่องคลอดจากการติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) หรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV)
- ตรวจและหาสาเหตุของภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ตกขาวผิดปกติ เนื้องอกมดลูก เนื้องอกรังไข่ ภาวะมดลูกหย่อน อาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือบริเวณหลัง
- เป็นการตรวจทั่วไปก่อนการคุมกำเนิดในบางวิธี เพื่อช่วยให้แน่ใจว่าอุปกรณ์มีความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น การใส่ฝาครอบปากมดลูก การใส่ห่วงอนามัย
- ตรวจหาร่องรอยในกรณีการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ตรวจเมื่อเริ่มตั้งครรภ์
- มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็ง
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนการตรวจภายใน
ก่อนการตรวจภายในไม่มีขั้นตอนการเตรียมตัวเป็นพิเศษ เพียงแต่ควรหลีกเลี่ยงการเข้ารับการตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน รวมถึงควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือการใช้ยารักษาภาวะช่องคลอดแห้งและยาเหน็บบริเวณอวัยวะเพศอย่างน้อย 24–48 ชั่วโมงก่อนการตรวจ เนื่องจากปัจจัยดีงกล่าวอาจส่งผลต่อการตรวจได้
นอกจากนี้ แพทย์จะมีการสอบถามและซักประวัติผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินร่วมกับผลตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจจึงควรแจ้งข้อมูลกับแพทย์ตามความเป็นจริง เช่น
- ปัญหาสุขภาพโดยทั่วไป อาการแพ้ ยาที่รับประทาน
- ระยะเวลาในการมีประจำเดือนนานแค่ไหน ประจำเดือนมาครั้งแรกเมื่อไหร่ ประจำเดือนมามากน้อยแค่ไหน มีอาการปวดประจำเดือนหรือไม่
- เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่
- คันบริเวณอวัยวะเพศ อวัยวะเพศมีกลิ่น หรือตกขาวผิดปกติหรือไม่
ขั้นตอนในการตรวจภายใน
การตรวจภายในโดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 5–10 นาที โดยจะประกอบด้วยขั้นตอนในการตรวจหลัก ๆ ได้แก่ การตรวจดูอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกด้วยตาเปล่า (External Visual Exam) การตรวจดูภายในช่องคลอดด้วยเครื่องมือสำหรับตรวจช่องคลอด (Internal Visual Exam) และการตรวจด้วยการใช้มือคลำที่หน้าท้องพร้อมกับการใช้นิ้วสอด (Bimanual Examination) โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ในขั้นแรก ผู้เข้ารับการตรวจต้องปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนทำการตรวจ จากนั้นให้ถอดกางเกงในและเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้
- เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเรียบร้อย แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนลงบนเตียงตรวจที่มีขาหยั่ง และให้ผู้เข้ารับการตรวจแยกหัวเข่าทั้งสองข้างให้กว้าง หรือจัดท่าทางในลักษณะอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจได้สะดวก โดยอาจใช้ผ้าคลุมร่างกายส่วนอื่นในช่วงที่มีการตรวจไว้
- แพทย์จะเริ่มตรวจโดยดูบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกด้วยตาเปล่าว่ามีสภาพเป็นปกติหรือไม่ มีรอยแดง แผล บวม หรืออาการผิดปกติหรือไม่
- จากนั้น แพทย์จะเริ่มใช้เครื่องมือสำหรับตรวจคลอด (Speculum) สอดเข้าไปบริเวณปากช่องคลอด เพื่อขยายช่องคลอดให้กว้างขึ้น ซึ่งในบางราย อาจมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปพร้อมกัน โดยแพทย์ใช้อุปกรณ์ป้ายตัวอย่างของเซลล์บริเวณปากมดลูกบางส่วนออกมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือที่เรียกว่าการตรวจแปปสเมียร์ เมื่อตรวจเสร็จจึงนำอุปกรณ์ทั้งหมดออก
- หลังจากเอาอุปกรณ์ออก แพทย์จะตรวจในขั้นต่อไปด้วยการคลำด้วยนิ้วภายในช่องคลอด เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก โดยแพทย์สวมถุงมือที่เคลือบสารหล่อลื่น และใช้นิ้วมือสอดเข้าไปทางอวัยวะเพศ
- ในระหว่างนี้ แพทย์จะใช้มืออีกข้างจะคลำบริเวณหน้าท้อง เพื่อตรวจดูขนาดและตำแหน่งของมดลูก ตรวจดูก้อนเนื้อ การตอบสนองต่าง ๆ หรือสิ่งผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่ โดยในบางกรณี แพทย์อาจมีการตรวจทางทวารหนักด้วย เพื่อหาก้อนเนื้องอกหรือความผิดปกติของผู้เข้ารับการตรวจ
ทั้งนี้ แพทย์จะมีการแจ้งให้ผู้เข้ารับการตรวจได้ทราบว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นในระหว่างการตรวจแต่ละขั้นตอน
การดูแลและติดตามผลหลังการตรวจภายใน
โดยทั่วไป ผู้เข้ารับการตรวจสามารถทราบผลได้ภายในวันเดียวกันกับวันที่เข้ารับการตรวจ ยกเว้นในกรณีของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแปปสเมียร์ที่อาจต้องรอผลประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะนัดมาฟังผลอีกครั้งหลังจากผลการตรวจวิเคราะห์เสร็จสิ้น และอาจมีการให้ยาในบางราย
หากผลออกมาเป็นปกติก็สามารถกลับบ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องพักฟื้น โดยผู้เข้ารับการตรวจสามารถใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่ตรวจพบสิ่งปกติอื่น ๆ แพทย์อาจต้องทำการตรวจในขั้นตอนต่อไป เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้น
ผลข้างเคียงของการตรวจภายใน
โดยปกติแล้ว การตรวจภายในเป็นการตรวจทางการแพทย์ที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่อาจทำให้ผู้เข้ารับการตรวจบางคนเกิดความรู้สึกเจ็บเล็กน้อยหรือไม่สบายตัวได้บ้าง ในขณะสอดเครื่องมือหรือการคลำของแพทย์ แต่อาการจะหายไปหลังการตรวจเสร็จสิ้น