ลาเวนเดอร์ เป็นดอกไม้สีม่วงที่หลายคนคุ้นเคยกันดี นอกจากสามารถสกัดกลิ่นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อย่างการทำน้ำหอม หรือผสมในอาหารเพื่อปรุงแต่งกลิ่นให้น่ารับประทานแล้ว ดอกลาเวนเดอร์และสารสกัดที่ได้จากดอกไม้ชนิดนี้อาจมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบำบัดรักษาโรคบางชนิดได้ด้วย
น้ำมันหอมระเหยจากดอกลาเวนเดอร์และชาจากดอกลาเวนเดอร์นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนนิยมใช้และบริโภค เพราะเชื่อว่าอาจมีคุณสมบัติในการบำบัดหรือรักษาอาการป่วยและความผิดปกติบางชนิด ดังนี้
อโรมาเธอราพี
อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) หรือสุคนธบำบัด คือ การใช้น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดพืชที่มีกลิ่นหอมเพื่อบำบัดอาการป่วย หลายคนเชื่อว่าน้ำมันหอมระเหยจากดอกลาเวนเดอร์อาจช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียดและความวิตกกังวล รวมถึงอาจช่วยลดอาการปวดเล็กน้อยได้ โดยมีงานวิจัยพบว่า การทาสารสกัดจากดอกลาเวนเดอร์ควบคู่กับสารสกัดจากต้นเสจและสารสกัดจากดอกกุหลาบ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีงานวิจัยที่ศึกษาคุณสมบัติของลาเวนเดอร์ในด้านนี้อยู่ไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องรอวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติมในอนาคต และแม้การใช้สารสกัดจากดอกลาเวนเดอร์จะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงได้น้อย แต่ผู้บริโภคควรใช้สารสกัดชนิดนี้ด้วยความระมัดระวัง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการใช้สารสกัดที่เข้มข้นเกินไป และเก็บให้มิดชิดในที่ที่เด็กเอื้อมไม่ถึง
ปัญหาหนังศีรษะ
คนบางพื้นที่เชื่อว่าสารสกัดจากดอกลาเวนเดอร์อาจมีสรรพคุณช่วยรักษารังแคได้ โดยการผสมน้ำมันหอมระเหยจากดอกลาเวนเดอร์ประมาณ 15 หยดกับน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันอัลมอนด์ 2 ช้อนโต๊ะ แล้วนำไปอุ่นในไมโครเวฟ จากนั้นชโลมน้ำมันให้ทั่วหนังศีรษะและผมที่เปียกหมาด ๆ นวดช้า ๆ แล้วคลุมผมทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดให้สระผมด้วยแชมพูและล้างออกให้สะอาด
ในทางการแพทย์ คาดว่าสารสกัดจากดอกลาเวนเดอร์อาจมีคุณสมบัติช่วยรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไปทำลายรูขุมขน จึงส่งผลให้ผมหรือขนตามร่างกายหลุดร่วงเป็นหย่อม ๆ โดยมีงานวิจัยหนึ่งพบว่าผู้ป่วยบางรายที่ทาน้ำมันหอมระเหยจากดอกลาเวนเดอร์ ต้นไทม์ ต้นโรสแมรี่ และต้นซีดาร์วูด ในจุดที่ผมหรือขนร่วง จะค่อย ๆ มีผมหรือขนงอกขึ้นมาใหม่ภายใน 7 เดือน
อย่างไรก็ตาม น้ำมันหอมระเหยที่ใช้ในการทดลองข้างต้นประกอบด้วยสารสกัดจากพืชหลายชนิด จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าประสิทธิภาพในการรักษาโรคดังกล่าวเป็นผลมาจากสารสกัดชนิดใด ส่วนการใช้น้ำมันหอมระเหยในบางพื้นที่ก็เป็นภูมิปัญญาชุมชนที่ยังไม่มีการพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างแน่ชัด ดังนั้น หากต้องการใช้ประโยชน์จากลาเวนเดอร์ในด้านนี้ ควรศึกษาข้อมูลให้ดี อ่านฉลากและคำแนะนำของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้
ปัญหาผิวหนัง
น้ำมันหอมระเหยจากดอกลาเวนเดอร์มีฤทธิ์เป็นยาต้านการอักเสบตามธรรมชาติ หากทาลงบนผิวหนังอาจช่วยบรรเทาอาการคันหรือบวมแดงได้ รวมถึงอาจช่วยรักษาสิว ผื่นผิวหนังอักเสบ ผิวไหม้แดด หรือผื่นผ้าอ้อมด้วย โดยมีงานวิจัยที่ใช้ลาเวนเดอร์ในการรักษาหนูที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง พบว่าผื่นที่ผิวหนังดูยุบลงหลังทาน้ำมันลาเวนเดอร์ติดต่อกัน 21 วัน
แม้ลาเวนเดอร์อาจดูมีประสิทธิภาพในด้านนี้ แต่งานวิจัยสนับสนุนคุณสมบัติของดอกลาเวนเดอร์ในการรักษาอาการทางผิวหนังยังมีไม่มากนัก และเป็นเพียงการทดลองกับสัตว์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องค้นคว้าทดลองเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต แต่หากต้องการใช้วิธีดังกล่าวกับผิวหนังของตนบ้าง ผู้ใช้ควรผสมน้ำมันหอมระเหยจากดอกลาเวนเดอร์กับน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันอัลมอนด์ เพื่อเจือจางความเข้มข้นก่อนทาลงบนผิว และปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด
ปัญหาการนอนหลับ
ลาเวนเดอร์เป็นดอกไม้ที่ถูกนำไปใช้เพื่อบำบัดอาการนอนไม่หลับหรือปัญหาการนอนหลับอื่น ๆ มาเนิ่นนาน บางคนนำดอกลาเวนเดอร์ใส่ไว้ในหมอน หรือหยดน้ำมันหอมระเหยจากดอกลาเวนเดอร์ลงบนหมอน เพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งนักวิจัยบางรายพบว่าสารสกัดจากดอกลาเวนเดอร์อาจช่วยรักษาอาการปวดศีรษะ อาการวิตกกังวล หรืออาการกระสับกระส่ายได้ ดังนั้น การนวดน้ำมันลาเวนเดอร์จึงอาจช่วยให้รู้สึกสงบและบำบัดอาการนอนไม่หลับได้ด้วย
ถึงจะมีงานวิจัยสนับสนุนสรรพคุณในด้านนี้อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มากพอและเป็นเพียงการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก จึงควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในด้านนี้ให้ชัดเจนก่อนนำลาเวนเดอร์มาประยุกต์ใช้จริง
ปัญหาท้องอืดและระบบย่อยอาหารไม่ดี
โพลิฟีนอลเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในพืชหลายชนิดรวมถึงดอกลาเวนเดอร์ด้วย ซึ่งเชื่อว่าสารนี้มีคุณสมบัติช่วยกำจัดแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อลำไส้ นักวิจัยบางส่วนแนะนำให้รับประทานกรีกโยเกิร์ตคู่กับดอกลาเวนเดอร์อบแห้ง เพื่อรักษาอาการท้องอืดและช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้น แต่ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดที่ศึกษาคุณสมบัติของลาเวนเดอร์ในการรักษาอาการท้องอืด จึงจำเป็นต้องรองานทดลองสนับสนุนในอนาคต เพื่อยืนยันถึงประสิทธิผลของลาเวนเดอร์ในด้านนี้ให้แน่ชัด
โรคสมองเสื่อมและผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง
สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกาพบว่า อโรมาเธอราพีหรือสุคนธบำบัดอาจช่วยลดความรุนแรงของผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษามะเร็ง อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยที่กำลังทุกข์ทรมานจากโรคสมองเสื่อมรู้สึกดีมากขึ้น นั่นเป็นเพราะเมื่อดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหย เซลล์ประสาทรับกลิ่นจะส่งข้อมูลไปยังสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์และทำให้รู้สึกผ่อนคลายตามมา โดยลาเวนเดอร์ก็เป็น 1 ในน้ำมันหอมระเหยที่คนนิยมใช้ในการบำบัดแบบอโรมาเธอราพี
แม้คนส่วนใหญ่จะเชื่อว่าอโรมาเธอราพีหรือการดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์อาจช่วยบำบัดหรือรักษาอาการผิดปกติบางชนิดได้ แต่งานวิจัยสนับสนุนประสิทธิผลของลาเวนเดอร์ยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด ดังนั้น จนกว่าจะมีงานวิจัยเพิ่มเติมที่ชัดเจนในอนาคต ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ลาเวนเดอร์ด้วยความระมัดระวังเสมอ
ข้อควรระวังในการใช้ลาเวนเดอร์
ผู้บริโภคควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์ลาเวนเดอร์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากการรับประทานลาเวนเดอร์อย่างชาลาเวนเดอร์ อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ปวดศีรษะ รวมถึงเพิ่มความรู้สึกอยากอาหาร และการทาน้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์ก็อาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้
แม้ลาเวนเดอร์จะไม่เป็นอันตรายและมีความเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อย แต่กลุ่มคนต่อไปนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้หรือรับประทานลาเวนเดอร์ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
- เด็กผู้ชายที่ยังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ น้ำมันหอมระเหยจากดอกลาเวนเดอร์อาจส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกาย และก่อให้เกิดภาวะเต้านมโตในผู้ชาย (Gynecomastia) ซึ่งเด็กที่ป่วยเป็นภาวะนี้จะมีขนาดหน้าอกใหญ่กว่าปกติ แต่ไม่พบผลข้างเคียงด้านความผิดปกติของฮอร์โมนกับเด็กผู้หญิงในวัยเดียวกัน
- หญิงตั้งครรภ์หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตร ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถนำมายืนยันได้ว่า การใช้หรือรับประทานลาเวนเดอร์และผลิตภัณฑ์จากลาเวนเดอร์นั้นจะไม่เป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงที่กำลังให้นมบุตร
- ผู้ที่วางแผนเข้ารับการผ่าตัด ลาเวนเดอร์อาจมีผลทำให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานช้าลง หากใช้ร่วมกับยาชาหรือยาชนิดอื่นที่แพทย์ให้ในระหว่างการผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด อาจส่งผลให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานช้าเกินไปจนเกิดอันตรายได้ จึงควรหยุดใช้หรือหยุดรับประทานผลิตภัณฑ์จากลาเวนเดอร์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด 2 สัปดาห์