ลูกพูดช้ามักทำให้พ่อแม่กังวลใจ เพราะลูกมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้ากว่าช่วงอายุที่ควรจะเป็น และไม่สามารถพูดคำหรือประโยคที่เข้าใจได้ เด็กแต่ละคนอาจมีพัฒนาการด้านการพูดที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปเด็กมักเริ่มพูดเมื่ออายุประมาณ 1–2 ปี และสามารถพูดเป็นประโยคได้เมื่ออายุประมาณ 3 ปี
ลูกพูดช้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเลี้ยงดูที่ปล่อยปละละเลย ความบกพร่องทางการได้ยิน ความบกพร่องทางการเรียนรู้ ความผิดปกติของปากและเพดานปาก โรคทางพันธุกรรม และออทิสติก โดยบทความนี้จะชวนพ่อแม่สังเกตอาการที่บ่งบอกว่าลูกพูดช้า รวมทั้งแนะนำการดูแลรักษาที่เหมาะสม
อาการแบบใดที่จัดว่าลูกพูดช้า
ปัญหาการสื่อสารในเด็กมี 2 รูปแบบ คือเด็กที่ไม่สามารถเปล่งเสียงพูดได้อย่างถูกต้อง หรือไม่สามารถพูดได้อย่างราบรื่น (Speech Delay) และเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า (Language Delay) ซึ่งเด็กอาจใช้คำไม่ถูกบริบทหรือไม่สอดคล้องกับความหมาย ไม่สามารถสื่อสารเป็นประโยคที่เข้าใจได้ และไม่สามารถทำตามคำสั่ง ทำให้มีปัญหาในการสื่อสารกับผู้อื่น จึงส่งผลกระทบต่อการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวัน
การจะทราบว่าลูกพูดช้าหรือไม่ พ่อแม่อาจสังเกตพัฒนาการของลูกตามช่วงอายุ ซึ่งโดยทั่วไปเด็กที่มีพัฒนาการด้านการพูดตามปกติจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
อายุ 0–1 ปี
เด็กจะเริ่มสนใจคนที่มาคุยด้วย และส่งเสียงอ้อแอ้เมื่ออายุประมาณ 1–4 เดือน จากนั้นจะเริ่มตอบสนองต่อเสียงเรียก เริ่มเปล่งเสียงเป็นคำสั้น ๆ เช่น หม่ำ ๆ ปะป๊า หม่าม๊า เริ่มแสดงท่าทางในการสื่อสาร และทำตามคำสั่งง่าย ๆ เช่น โบกมือลา เมื่ออายุได้ประมาณ 1 ปี
อายุ 1–2 ปี
เด็กในช่วงวัยนี้จะเริ่มเลียนเสียงคำที่ผู้ใหญ่พูด ใช้ระดับเสียงในการสื่อสาร เช่น ตะโกนเสียงดังขึ้นเมื่อต้องการสิ่งของ เริ่มพูดเป็นคำที่มี 2 พยางค์ เช่น ไม่ไป กินข้าว เริ่มรู้คำศัพท์มากขึ้น สามารถใช้คำง่าย ๆ อธิบายภาพในหนังสือ ส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย และรู้จักเสียงร้องของสัตว์
อายุ 2–3 ปี
สามารถใช้คำศัพท์บอกความแตกต่างของรูปร่าง สี และขนาด เริ่มพูดเป็นประโยคสั้น ๆ ที่มีประธาน กริยา กรรม เช่น หนูหิวข้าว ซึ่งบางครั้งอาจเรียงคำไม่ถูกหลักภาษา นอกจากนี้ เด็กจะเริ่มพูดเป็นประโยคตามที่พ่อแม่พูด และสามารถร้องเพลงเด็กได้
หากลูกมีอาการผิดปกติในการพูดต่าง ๆ เหล่านี้ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
- เมื่ออายุได้ 1 ปี ลูกไม่หันตามเสียง ไม่มีท่าทีว่าจะพูด ไม่เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ และไม่มีภาษาทางกายที่แสดงว่าเข้าใจคำสั่ง เช่น โบกมือ ชี้นิ้ว
- เมื่ออายุได้ 1–1.5 ปี ลูกยังไม่เข้าใจคำสั่ง ไม่เลียนเสียงคำที่ได้ยิน ใช้ท่าทางในการสื่อสารมากกว่าการพูด
- เมื่ออายุได้ 1.5–2 ปี ลูกยังไม่พูด หรือพูดไม่หยุดแต่พูดคนละเรื่องกับที่พ่อแม่ชวนคุย
- เมื่ออายุ 2 ปี ลูกเปล่งเสียงได้แต่พูดคำซ้ำไปมา ไม่สามารถบอกความต้องการ ไม่สามารถพูดคำที่มี 2 พยางค์หรือวลีสั้น ๆ และไม่สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้
- เมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไป ไม่เรียกชื่อสิ่งของที่ต้องการ โดยอาจใช้การชี้บอกแทน ยังไม่พูดเป็นประโยค และไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้เท่าเด็กในวัยเดียวกัน
ลูกพูดช้าเกิดจากอะไร
ลูกพูดช้าอาจเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ได้กระตุ้นพัฒนาการในการพูด เช่น ไม่ชวนลูกพูดคุยและทำกิจกรรม โดยมักให้ลูกดูโทรทัศน์และเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น ทอดทิ้งและทารุณกรรม รวมทั้งความผิดปกติต่าง ๆ ดังนี้
- ความผิดปกติของพัฒนาการทางด้านการพูดและภาษา ที่อาจเกิดจากการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งทำให้การทำงานของสมองผิดปกติ และอาจทำให้เกิดปัญหาในการเรียนรู้
- ความผิดปกติภายในปากและเพดานปาก เช่น ภาวะลิ้นติด (Tongue-tie) โรคปากแหว่งเพดานโหว่
- การได้ยินผิดปกติ และการสูญเสียการได้ยิน (Hearing loss)
- ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น สมองพิการ กล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular Dystrophy) การได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง
- ความบกพร่องทางสติปัญญา และออทิสติก
- ภาวะไม่พูดบางสถานการณ์ (Selective Mutism) ซึ่งเด็กจะไม่ยอมพูดเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกวิตกกังวล เช่น โรงเรียน ที่สาธารณะ
ลูกพูดช้าทำอย่างไรดี
หากสังเกตว่าลูกพูดช้ากว่าช่วงวัย ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติและรับการรักษา การไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลต่อความคิด การเรียนรู้ สภาวะจิตใจ พฤติกรรม และการใช้ชีวิตไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งวิธีการรักษาจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ลูกพูดช้า
- การแก้ไขและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการพูด นักแก้ไขการพูด (Speech-Language Pathologist) หรือนักจิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychologist) จะใช้รูปภาพ หนังสือ หรือให้เด็กทำกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา และฝึกการออกเสียงที่ถูกต้อง
- รักษาโรคประจำตัวที่ทำให้ลูกพูดช้า เช่น ใส่เครื่องช่วยฟังหรือผ่าตัดหูชั้นในเทียมในเด็กที่มีปัญหาทางการได้ยิน หรือผ่าตัดเพื่อรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ควบคู่ไปกับการฝึกพัฒนาการให้เด็ก ทั้งนี้ ความผิดปกติบางอย่างอาจไม่สามารถรักษาให้สามารถพูดได้เหมือนเด็กทั่วไป แต่การรักษาจะช่วยให้สามารถสื่อสารได้ในระดับหนึ่ง
พ่อแม่ควรพูดกับลูกบ่อย ๆ ชวนลูกอ่านหนังสือนิทาน ร้องเพลง ทายคำศัพท์จากภาพ และให้ลูกเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการการด้านการสื่อสารได้ดี และไม่ควรให้ลูกใช้เวลากับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรทัศน์และโทรศัพท์มือถือนานเกินไป รวมทั้งตั้งใจฟังเมื่อลูกพูด ให้เวลาลูกคิดและตอบคำถามโดยไม่พูดแทรกหรือตำหนิเมื่อลูกพูดผิด
ลูกพูดช้าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งการพูดช้าอาจไม่ได้เป็นปัญหาเสมอไป หากลูกมีการรับรู้ภาษาตามวัย เข้าใจและทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ พ่อแม่ควรสังเกตพฤติกรรมและชวนลูกทำกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการด้านการพูดบ่อย ๆ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการพูดของลูกหรือพบว่าลูกมีความผิดปกติ ควรพาไปพบกุมารแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุแต่เนิ่น ๆ และรับการรักษาอย่างเหมาะสม