ลูกโตก่อนวัย ความผิดปกติที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

ลูกโตก่อนวัย (Precocious Puberty) คือภาวะที่เด็กเริ่มเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยเมื่อเด็กหญิงเข้าสู่วัยรุ่นก่อนอายุ 8 ปี และเด็กชายเข้าสู่วัยรุ่นก่อนอายุ 9 ปี โดยสังเกตได้จากการที่เด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสิวขึ้น มีกลิ่นตัว มีขนรักแร้และขนที่อวัยวะเพศ ผู้ชายจะมีหนวดเคราและเสียงแตกหนุ่ม ส่วนผู้หญิงจะเริ่มมีหน้าอกและประจำเดือน

โดยทั่วไป เด็กผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นเมื่ออายุระหว่าง 8–13 ปี และเด็กผู้ชายอายุจะเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นเมื่ออายุ 9–14 ปี เด็กที่มีภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยจะมีระยะเวลาเติบโตในวัยเด็กสั้นและเข้าสู่วัยรุ่นเร็ว ส่งผลให้หยุดเจริญเติบโตเร็วกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อร่างกายแล้ว ลูกโตก่อนวัยยังอาจมีผลต่อสภาพจิตใจและการใช้ชีวิต เช่น หงุดหงิดง่าย เก็บตัว ซึมเศร้า ถูกกลั่นแกล้งและคุกคามทางเพศ 

ลูกโตก่อนวัย ความผิดปกติที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

บทความนี้จะชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีรักษาเมื่อลูกโตก่อนวัย เพื่อให้ลูกเติบโตได้อย่างสมวัยและป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา

ลูกโตก่อนวัยเกิดจากอะไร

ความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนเพศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกโตก่อนวัย โดยอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

กลุ่มอาการที่เกิดจากการสร้างฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (Central Precocious Puberty)

ลูกโตก่อนวัยอาจเกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือสมองส่วนไฮโปทาลามัส ซึ่งผลิตฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิ่ง (Gonadotropin-Releasing Hormone: GnRH) และกระตุ้นให้เกิดการการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิง และฮอร์โมนทสทอสเทอโรน (Testosterone) ในเพศชายไวกว่าเด็กปกติ

สาเหตุอาจเกิดจากเนื้องอกที่สมองและไขสันหลัง ความผิดปกติของสมองแต่กำเนิด อย่างภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ โรคทางพันธุกรรมเกี่ยวกับสมองบางประเภท และการได้รับบาดเจ็บที่สมองและไขสันหลัง

กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของการผลิตฮอร์โมนเพศ (Peripheral Precocious Puberty) 

กลุ่มนี้เป็นความผิดปกติของรังไข่ อัณฑะ และต่อมหมวกไตที่สร้างฮอร์โมนเพศออกมาก่อนวัยโดยตรง โดยที่สมองและต่อมใต้สมองไม่ได้กระตุ้นให้สร้างฮอร์โมน 

กลุ่มอาการประเภทนี้พบได้น้อยกว่าประเภทแรก โดยอาจเกิดจากกลุ่มอาการผิดปกติที่เกิดจากต่อมหมวกไตโดยกำเนิด (Congenital Adrenal Hyperplasia) โรค McCune-Albright Syndrome ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม และการได้รับฮอร์โมนจากยา อาหารเสริม ครีม หรือขี้ผึ้งทาผิวที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจนและเทสทอสเทอโรนมากเกินไป

ทั้งนี้ ลูกโตก่อนวัยอาจพบในเด็กเพศหญิงมากกว่าเพศชาย รวมทั้งเด็กที่พ่อหรือแม่มีภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย เด็กที่เป็นโรคอ้วน และเด็กที่ได้รับการรักษาเนื้องอกและมะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยการฉายแสงที่สมองหรือไขสันหลัง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยได้มากกว่าเด็กปกติ

ลูกโตก่อนวัยรักษาได้อย่างไร

หากสังเกตว่าลูกมีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย ซึ่งแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อดูการเจริญเติบโตว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ และตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น เช่น ตรวจระดับฮอร์โมน ตรวจเลือด เอกซเรย์ และอาจตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI) 

เมื่อพบว่ามีภาวะลูกโตก่อนวัย แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น

  • หากเด็กมีโรคหรือภาวะผิดปกติ เช่น มีเนื้องอกที่เป็นสาเหตุทำให้ลูกโตก่อนวัย แพทย์จะให้ผ่าตัดเนื้องอกออก
  • ฉีดยายับยั้งการหลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (GnRH Analogue Therapy) ซึ่งจะช่วยชะลอการเติบโตและพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก โดยอาจฉีดทุก 1–3 เดือนและอาจต้องได้รับยานี้ต่อเนื่องหลายปีจนถึงอายุที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น 
  • ฝังยายับยั้งฮอร์โมนใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขนด้านใน ซึ่งยามีอายุประมาณ 1 ปี 

หากได้รับการวินิจฉัยว่าลูกโตก่อนวัยจริง จัดเป็นภาวะที่ควรได้รับการรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็ก เด็กจะหยุดสูงเร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน และเด็กผู้หญิงอาจมีร่างกายเป็นสาวก่อนวัย ซึ่งเด็กอาจรู้สึกกังวลกับรูปร่างของตัวเอง บางคนอาจถูกเพื่อนล้อและกลั่นแกล้ง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจและพฤติกรรม เช่น ผลการเรียนแย่ลง ซึมเศร้า และเก็บตัว 

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ลูกโตก่อนวัยมักเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจลดความเสี่ยงของภาวะนี้ได้โดยให้เด็กหลีกเลี่ยงการรับประทานยา อาหารเสริม หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจนและเทสทอสเทอโรน และควบคุมน้ำหนักตัวของเด็กให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หากสังเกตว่าลูกมีลักษณะของภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย ควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาต่อไป