ไอเป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็ก หากมีอาการไอบ่อย ๆ อาจสร้างความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กได้ โดยเฉพาะเมื่อลูกไอตอนกลางคืนอาจทำให้ลูกตื่นกลางดึกบ่อยครั้งและพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งอาการไอตอนกลางคืนในเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ อย่างโรคหวัด
อาการไอเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ แต่หากเด็กมีอาการไอตอนกลางคืนเป็นเวลานานอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย บทความนี้ได้รวบรวมสาเหตุที่ทำให้ลูกไอตอนกลางคืนและวิธีรับมือไว้ให้แล้ว
ลูกไอตอนกลางคืนเกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการไอตอนกลางคืนในเด็กเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยแต่ละสาเหตุจะทำให้ลักษณะอาการไอแตกต่างกันไป เช่น
-
หวัดและไข้หวัดใหญ่
หวัดและไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบน พบได้บ่อยในเด็กเล็กและเด็กโต เมื่อลูกเป็นหวัดมักจะมีน้ำมูกไหล เจ็บคอ และไอ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน และการนอนราบยังทำให้น้ำมูกบางส่วนไหลลงคอกลายเป็นเสมหะ จึงกระตุ้นให้เด็กเกิดอาการไอตอนกลางคืนได้มากขึ้น
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเช่นกัน แม้อาการในระยะแรกของไข้หวัดใหญ่อาจคล้ายกับโรคหวัด แต่อาการจะรุนแรงกว่าโรคหวัด โดยเด็กมักมีอาการไอร่วมกับอาการอื่น อย่างมีไข้สูง ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามร่างกาย หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นที่เป็นอันตราย เช่น ปอดบวม ภาวะขาดน้ำ การติดเชื้อในช่องหู เป็นต้น พ่อแม่จึงควรสังเกตอาการและดูแลลูกอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไป อาการไอมักดีขึ้นหลังจากไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่หายดีแล้ว
-
โรคหืด (Asthma)
โรคหืดหรือหอบหืดเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผนังหลอดลม ทำให้หลอดลมของผู้ป่วยตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ โดยมักพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากหลอดลมของทารกและเด็กเล็กมีขนาดเล็กและแคบกว่าผู้ใหญ่
เด็กที่เป็นโรคหืดมักมีอาการแน่นหน้าอก หายใจมีเสียง หายใจลำบาก และไอในตอนกลางคืนและตอนเช้า เมื่อสัมผัสอากาศเย็นและสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองอาจยิ่งกระตุ้นให้ลูกไอตอนกลางคืนมากขึ้น เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น และรังแคจากสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
-
การติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus)
ไวรัส RSV คือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ในเด็กและผู้ใหญ่ โดยพบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เด็กมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดาในระยะแรก อย่างมีน้ำมูก ไอ และจาม แต่บางรายอาจเกิดอาการรุนแรงหากไวรัสเข้าสู่ระบบหายใจส่วนล่าง ทำให้มีอาการของโรคหลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) หรือปอดบวมตามมาได้
อาการหลังติดเชื้อไวรัส RSV มักไม่รุนแรง แต่เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 12 เดือนอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องหู โรคหลอดลมฝอยอักเสบ และปอดบวมได้ พ่อแม่จึงควรสังเกตอาการของลูก หากลูกเป็นหวัดแล้วมีอาการไอมีเสมหะเป็นระยะเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ มีไข้สูง หายใจเร็ว หายใจมีเสียง ชายโครงบุ๋มขณะหายใจ ผิวหนังมีสีเขียวคล้ำ ควรไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
-
วัณโรค (Tuberculosis)
วัณโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียมัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือวัณโรคปอด โดยในประเทศไทยเด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนบีซีจี (BCG) ป้องกันวัณโรคเมื่อแรกคลอด แต่อาจมีโอกาสติดเชื้อผ่านการหายใจเอาเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย โดยพบมากในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี
ทั้งนี้ เด็กที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงอาจไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ หลังได้รับเชื้อวัณโรค แต่เชื้อดังกล่าวอาจอยู่ในร่างกายและมีระยะฟักตัวนานประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี และทำให้เกิดอาการในภายหลัง หากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเป็นวัณโรค ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรับยาป้องกันโดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการใด ๆ
- โรคครูป (Croup)
โรคครูปเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่พบมากในเด็ก มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza Virus) จากการสูดเอาละอองฝอยจากการไอและการจามของคนใกล้ชิดเข้าสู่ร่างกาย หรือการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส
เด็กที่เป็นโรคครูปมักมีอาการหายใจลำบาก เสียงแหบ และไอมีเสียงก้องหรือคล้ายเสียงเห่า ซึ่งมักเกิดอาการเหล่านี้ในเวลากลางคืน เด็กส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงและอาการมักดีขึ้นภายใน 5 วัน แต่เด็กที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด มีโรคประจำตัวอย่างโรคหืดและโรคปอด อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ หากอาการของลูกไม่ดีขึ้นภายใน 3–5 วัน พ่อแม่ควรพาไปพบแพทย์
นอกจากนี้ สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ลูกไอตอนกลางคืน อาทิ โรคกรดไหลย้อนในเด็ก การสูดดมสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง อย่างละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง และควันบุหรี่จากคนในครอบครัว
วิธีรับมือเมื่อลูกไอตอนกลางคืน
วิธีรับมือเมื่อลูกไอตอนกลางคืนอาจแตกต่างกันตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ในเบื้องต้นพ่อแม่อาจใช้วิธีต่อไปนี้
- ให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำจากอาการป่วยจากโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ หากเป็นเด็กทารกควรให้ลูกดื่มนมแม่หรือนมผงในปริมาณปกติที่เคยดื่ม
- ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ (Humidifier) ในห้องนอน แต่หากลูกมีอาการของโรคหืด การใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศอาจกระตุ้นให้เกิดอาการไอ
- ทำความสะอาดบ้านด้วยการดูดฝุ่นและถูบ้านทุกวัน โดยเฉพาะห้องนอนของลูก ควรซักทำความสะอาดที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มทุกสัปดาห์ ไม่วางตุ๊กตาและสิ่งของที่ไม่จำเป็นไว้ในห้องนอน เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่นละอองที่อาจทำให้ลูกไอตอนกลางคืน
- ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด โดยเฉพาะวันที่มีลมแรง ซึ่งอาจพัดเอาฝุ่นละอองและเกสรดอกไม้เข้ามาในบ้าน
- คนในครอบครัวไม่ควรสูบบุหรี่ในบ้าน และควรหลีกเลี่ยงการพาลูกไปในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่ และบริเวณเขตสูบบุหรี่
- ไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอาการเจ็บป่วยจากโรคประจำตัว อย่างโรคหอบหืดและวัณโรค โดยรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างครบถ้วน
การรับประทานยาแก้ไอสำหรับเด็กและยาอมแก้เจ็บคออาจช่วยบรรเทาอาการไอตอนกลางคืนได้ ซึ่งพ่อแม่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการซื้อยาให้ลูกรับประทานทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงจากการรับประทานยา
ลูกไอตอนกลางคืนมักเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายได้รับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่ต้องกำจัดออกไป การทราบสาเหตุที่ทำให้ลูกไอตอนกลางคืนจะช่วยให้การดูแลรักษาทำได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม หากลูกมีอาการไอตอนกลางคืนเรื้อรังหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก มีไข้สูง อาเจียนบ่อย ตัวเแดงหรือเขียวคล้ำเมื่อไอ อ่อนเพลีย งอแง หรือมีอาการของภาวะขาดน้ำ ควรไปพบแพทย์ทันที