ลูทีนเป็นสารอาหารในอันดับต้น ๆ ที่เชื่อกันว่ามีส่วนช่วยบำรุงสุขภาพดวงตาและป้องกันโรคตาบางชนิด เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก หรือแม้แต่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อย่างโรคหัวใจ เบาหวานชนิดที่ 2 มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้ แต่คุณประโยชน์เหล่านี้เชื่อถือได้จริงหรือไม่ ทางวิทยาศาสตร์มีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง ?
ลูทีนเป็นสารอาหารในกลุ่มเดียวกับเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอที่พบได้มากในผักและผลไม้หลายชนิด เช่น ผักปวยเล้ง บร็อคโคลี่ คะน้า ข้าวโพด กีวี่ องุ่น ส้ม เป็นต้น เชื่อกันว่าการกินผักผลไม้เหล่านี้จะช่วยให้ได้รับประโยชน์จากลูทีนนานาประการ นอกจากนี้ หลายคนยังนิยมกินอาหารเสริมหรือวิตามินรวมที่มีลูทีนเป็นส่วนประกอบเพื่อสรรพคุณทางยา ซึ่งปรากฏผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ด้านสุขภาพของลูทีนในแง่มุมต่าง ๆ ดังนี้
บำรุงสายตา เนื่องจากลูทีนเป็นสารแคโรทีนอยด์ชนิดสำคัญที่มีอยู่ในจอประสาทตาของมนุษย์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเม็ดสีจอประสาทตา มีหน้าที่กรองแสงและป้องกันดวงตาจากแสงแดดหรือคลื่นแสงพลังงานสูงอย่างรังสีอัลตราไวโอเลต นักวิจัยหลายคนจึงเชื่อว่าเป็นสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างการมองเห็นและบำรุงสุขภาพดวงตา โดยเฉพาะแก้วตาและจอประสาทตา งานวิจัยชิ้นหนึ่งพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้โดยแบ่งผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมในระยะแรกออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มได้รับอาหารเสริมแตกต่างกันไปเป็นระยะเวลา 2 ปี ได้แก่ ลูทีน 10 มิลลิกรัม ลูทีน 20 มิลลิกรัม ลูทีนและซีแซนทีน หรือไม่ได้กินอาหารเสริมชนิดใดทั้งสิ้น ผลการตรวจสุขภาพดวงตาหลังจากนั้นพบว่าผู้ที่กินลูทีนทั้ง 2 กลุ่ม มีจำนวนเม็ดสีในจอประสาทตาเพิ่มขึ้น รวมทั้งจอตามีความไวต่อแสงมากขึ้นพอ ๆ กัน การบริโภคอาหารเสริมลูทีนวันละ 10 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลานานจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมในระยะแรก
การศึกษาทางวิทยาศาสตร์บางชิ้นยังชี้ให้เห็นว่าปริมาณลูทีนและซีแซนทีนในดวงตาส่งผลต่อประสิทธิภาพการมองเห็นของคนเรา การได้รับสารอาหารดังกล่าวในปริมาณมากจึงอาจช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในที่มืดสลัว ดังปรากฏในงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้คนขับรถที่มีสุขภาพดีกินอาหารเสริมลูทีนวันละ 20 มิลลิกรัมแล้ววัดปริมาณเม็ดสีในจอตาและประสิทธิภาพในการมองเห็น ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่ากลุ่มที่กินลูทีนมีระดับเม็ดสีในจอประสาทตามากขึ้นและมีคะแนนการประเมินความคมชัดและความสว่างในการมองเห็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้กินลูทีน จึงกล่าวได้ว่าลูทีนอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นในที่มืดและส่งผลให้ขับรถตอนกลางคืนได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การศึกษาในด้านนี้โดยเฉพาะเจาะจงกับลูทีนนั้นถือว่ายังมีจำนวนน้อย งานวิจัยหลายชิ้นทดลองโดยใช้อาหารเสริมลูทีนผสมกับอาหารเสริมชนิดอื่นที่อาจมีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาพดวงตาเช่นกัน เช่น วิตามินซี วิตามินอี เป็นต้น ปัจจุบันจึงไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าลูทีนมีสรรพคุณช่วยในการมองเห็นและบำรุงดวงตามากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ การบริโภคอาหารเสริมลูทีนร่วมกับโอเมก้า 3 อาจไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม ดังปรากฏในงานวิจัยชิ้นหนึ่งว่าการกินอาหารเสริมลูทีนและซีแซนทีนร่วมกับกรดไขมันโอเมก้า 3 ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการกำเริบของโรคจอประสาทตาเสื่อมแต่อย่างใด เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่าการกินอาหารเสริมลูทีนร่วมกับกรดโอเมก้า 3 ติดต่อกัน 6 เดือนไม่ช่วยให้ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมมาก่อนมีการมองเห็นที่ดีขึ้น โดยสันนิษฐานว่ากรดโอเมก้า 3 จะไปลดประสิทธิภาพของลูทีนในการเสริมสร้างการมองเห็นและการบรรเทาอาการของโรคดังกล่าว
ช่วยเรื่องความจำ นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นวิตามินบำรุงสายตาแล้ว ลูทีนยังขึ้นชื่อเรื่องการบำรุงสมองและเสริมสร้างความจำ โดยเชื่อกันว่าอาจช่วยให้ผู้สูงอายุเสี่ยงความจำเสื่อมน้อยลง งานวิจัยชิ้นหนึ่งแบ่งผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 60-80 ปี จำนวน 49 ราย ออกเป็น 4 กลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มกินอาหารเสริมต่างชนิดกัน ได้แก่ กรดไขมัน DHA 800 มิลลิกรัม/วัน ลูทีน 12 มิลลิกรัม/วัน กรดไขมัน DHA และลูทีน หรือไม่ได้กินอาหารเสริมใด ๆ เป็นเวลา 4 เดือน พร้อมเข้ารับการทดสอบความจำและการเรียนรู้ ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่ากลุ่มที่กินลูทีน กรดไขมัน DHA และกลุ่มที่กินทั้งกรดไขมัน DHA และลูทีน มีคะแนนความสามารถด้านการใช้ภาษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่กลุ่มที่กินทั้ง 2 อย่างมีคะแนนด้านความจำและการเรียนรู้มากขึ้นด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าการได้รับกรดไขมัน DHA ควบคู่อาหารเสริมลูทีนช่วยให้ผู้สูงอายุมีความจำดีขึ้นได้
นอกจากนี้ ลูทีนอาจช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุได้ โดยมีการทบทวนงานวิจัยที่ผ่านมาแล้วพบว่าผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าปริมาณลูทีนในสมองนั้นส่งผลต่อความจำของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่มีปริมาณลูทีนในสมองน้อยลงมีแนวโน้มที่จะมีภาวะความจำเสื่อมไปตามวัยมากขึ้น อีกทั้งการลดลงของสารชนิดนี้อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีสารลูทีนในสมองลดลงอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาบางชิ้นโต้แย้งว่าการกินอาหารเสริมลูทีนนั้นอาจไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพความจำ ดังปรากฏในงานวิจัยที่ทดสอบประสิทธิภาพด้านการส่งเสริมความทรงจำของลูทีนในผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม ผลลัพธ์เผยให้เห็นว่าผู้ป่วยที่กินอาหารเสริมลูทีนวันละ 10 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 ปี ไม่ได้มีความสามารถในการจำเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้กินอาหารเสริมลูทีน
เสริมสร้างสุขภาพหัวใจ หนึ่งในคุณประโยชน์ของลูทีนที่ได้รับการกล่าวอ้างคือป้องกันปัญหาสุขภาพหัวใจ โดยหลายคนเชื่อว่าอาหารเสริมลูทีนอาจช่วยบรรเทาอาการป่วยของโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้ งานวิจัยหนึ่งจึงทดลองให้ผู้ป่วยโรคนี้กินอาหารเสริมลูทีนวันละ 20 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 3 เดือน ผลปรากฏว่าลูทีนช่วยลดอาการอักเสบในร่างกายและช่วยควบคุมระดับไขมันในเลือด ซึ่งเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมอาการของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏข้อสรุปเกี่ยวกับสรรพคุณของอาหารเสริมลูทีนในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่ออาการของโรค อีกทั้งมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่าอาหารเสริมชนิดอื่นอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคนี้มากกว่า หลังจากที่พบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็งที่ได้กินอาหารเสริมลูทีนวันละ 20 มิลลิกรัม ร่วมกับไลโคปีนปริมาณ 20 มิลลิกรัมนั้น มีอาการป่วยดีขึ้นกว่าผู้ที่รับประทานอาหารเสริมลูทีนเพียงอย่างเดียว
บำรุงผิวพรรณ ลูทีนเป็นสารแคโรทีนอยด์ชนิดหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติช่วยกรองแสงสีฟ้าและปกป้องผิวจากคลื่นแสงพลังงานสูง จึงมีความเชื่อว่าหากรับประทานอาหารเสริมหรือผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยลูทีนจะช่วยบำรุงผิวให้กระจ่างใสและมีสุขภาพดียิ่งขึ้น ประเด็นนี้มีการศึกษากับผู้ที่มีผิวแห้งจำนวน 50 ราย โดยแบ่งให้ผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งกินอาหารเสริมลูทีน 10 กรัม ร่วมกับซีแซนทีน 2 กรัม เป็นเวลาติดต่อกัน 12 สัปดาห์ ส่วนอีกกลุ่มไม่ได้กินอาหารเสริมดังกล่าว ซึ่งผลพบว่าผู้ที่กินอาหารเสริมลูทีนร่วมกับซีแซนทีน มีผิวเรียบเนียนและกระจ่างใสมากขึ้นเมื่อเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่ง
แม้ลูทีนอาจมีส่วนช่วยบำรุงผิวพรรณได้ แต่การได้รับสารอาหารดังกล่าวมากเกินไปอาจทำให้ผิวมีสีออกเหลือง จึงควรจำกัดปริมาณการรับประทานผักและผลไม้ที่มีลูทีนสูงให้เหมาะสม โดยรวมกับอาหารเสริมลูทีนแล้วไม่เกินวันละ 20 มิลลิกรัม เพื่อให้ได้ทั้งประโยชน์ปลอดภัยในคราวเดียวกัน
กินลูทีนอย่างไรให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์
- ควรรับประทานอาหารเสริมลูทีนไม่เกินวันละประมาณ 7-15 มิลลิกรัม
- สตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตรควรเลี่ยงการบริโภคอาหารเสริมลูทีน แต่รับประทานผักหรือผลไม้ที่อุดมไปด้วยลูทีนแทน
- ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเซลล์เยื่อเมือกที่สร้างสารคัดหลั่งหรือโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้อาหารเสริมลูทีน เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยอาจดูดซึมสารแคโรทีนอยด์ได้น้อยและส่งผลให้มีระดับลูทีนในเลือดต่ำได้