วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Flu Vaccine)
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Flu Vaccine) เป็นวัคซีนที่ผลิตจากไวรัสที่ตายแล้ว ใช้เพื่อป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยวัคซีนนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ (Antibody)
ในปัจจุบันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีด้วยกัน 3 ชนิด คือ ไวรัสชนิด A B และ C โดยสำหรับประเทศไทย โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย อีกทั้งยังเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลและไวรัสมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังสามารถเป็นไข้หวัดได้ แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
เกี่ยวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
กลุ่มยา | วัคซีนป้องกันโรค |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปและผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป |
การใช้ยาในผู้ให้นมบุตร | Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป |
รูปแบบของยา | วัคซีนใช้ฉีดเข้าที่ชั้นกล้ามเนื้อ |
คำเตือนในการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่
ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนเพื่อเป็นการเพิ่มความระมัดระวังในการใช้หรือไม่ควรใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
- ผู้ที่แพ้ไข่หรือโปรตีนจากไข่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ส่วนมากมีส่วนประกอบของโปรตีนจากไข่อยู่ในปริมาณหนึ่ง เมื่อฉีดเข้าไปจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ในปัจจุบันมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดที่ไม่มีส่วนประกอบของโปรตีนจากไข่ โดยทางองค์การอาหารและยา (FDA) อนุมัติให้ใช้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในครั้งที่ผ่านมา ควรแจ้งเงื่อนไขทางการแพทย์หรืออาการแพ้ต่าง ๆ ให้แพทย์ทราบก่อนการเข้ารับการฉีดวัคซีน
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น ติดเชื้อเอชไอวี ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ รวมถึงผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ผู้ที่มีประวัติของกลุ่มอาการกิลแลง–บาร์เร หรือกลุ่มอาการจีบีเอส (Guillain–Barré syndrome หรือ GBS) หรือโรคเกี่ยวกับระบบประสาท
- ผู้ที่ใช้ยาต้านไวรัส เช่น อะแมนตาดีน (Amantadine) โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) รีแมนตาดีน (Rimantadine) ควรแจ้งแพทย์ก่อนรับวัคซีน
- ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
ปริมาณการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่
ปริมาณการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือในผู้ใหญ่และเด็ก โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับปริมาณการใช้วัคซีนดังต่อไปนี้
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป ฉีดเพียง 1 ครั้ง ขนาด 0.5 มิลลิกรัม
- เด็กที่มีอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี ฉีด 1–2 ครั้ง ขนาด 0.25 มิลลิลิตร เว้นระยะ 1 เดือนสำหรับเข็มที่ 2
- เด็กที่มีอายุ 3–8 ปี ฉีด 1–2 ครั้ง ขนาด 0.5 มิลลิลิตร เว้นระยะ 1 เดือนสำหรับเข็มที่ 2
การใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะฉีดเข้าที่ชั้นกล้ามเนื้อ โดยสำหรับผู้ใหญ่ แพทย์จะฉีดเข้าที่ต้นแขน ส่วนเด็กแพทย์จะฉีดที่ต้นขา
ในกรณีผู้หญิงตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์จะส่งผลระบบภูมิคุ้มกันของมารดา ทำให้ป่วย ติดเชื้อ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย และใช้เวลาในการพักฟื้นนานกว่าปกติ
การฉีดวัคซีนในระหว่างตั้งครรภ์ค่อนข้างมีความปลอดภัย โดยภูมิคุ้มกันจากแม่สามารถถ่ายทอดไปยังทารก ทำให้ทารกหลังคลอดที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือนมีภูมิคุ้มกันและมีโอกาสป่วยน้อยลง
นอกจากนี้ สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ วัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ร้อยละ 70–90 ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการติดเชื้อและการเสียชีวิตซึ่งสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า รวมถึงป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น
- การคลอดก่อนกำหนด
- ภาวะทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- โรคไข้สมองอักเสบ
- การติดเชื้อที่หูชั้นกลาง
- หลอดลมอักเสบ
- การติดเชื้อที่หน้าอกที่สามารถพัฒนาไปสู่โรคปอดบวม
- การติดเชื้อในกระแสเลือด
ปฏิกิริยาระหว่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับยาอื่น
โดยปกติแล้ว วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะค่อนข้างปลอดภัยต่อผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนสามารถรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หากต้องการรับการฉีดวัคซีนควรปรึกษาแพทย์ก่อน
ผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่
ภายหลังจากฉีดวัคซีน ผู้รับการฉีดวัคซีนควรนั่งพักประมาณ 30 นาทีเพื่อสังเกตอาการหรือความผิดปกติ โดยผลข้างเคียงที่ผู้ที่รับการฉีดอาจพบได้ เช่น
ผลข้างเคียงทั่วไป
ในกรณีนี้ ผู้ที่มีอาการมักพบว่าอาการจะดีขึ้นภายใน 1–2 วัน
- อาการแดง ปวด หรือบวมที่บริเวณกล้ามเนื้อต้นแขนหรือต้นขาซึ่งเป็นจุดที่ทำการฉีดวัคซีน รวมถึงอาการปวดศีรษะหรือปวดตามกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ก่อนการฉีดวัคซีนเพื่อลดอาการปวด
- วิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการก่อนการฉีดวัคซีน สามารถแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนได้ สามารถป้องกันได้ด้วยการนั่งพักสักครู่ หรือรับประทานของหวานก่อนหรือหลังการฉีดวัคซีน
- มีไข้อ่อน ๆ ประมาณ 38 องศาเซลเซียส เป็นอาการปกติที่สามารถพบได้ทั่วไปหลังการฉีดวัคซีน สามารถรับประทานยาไอบูโพรเฟน ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) หรือยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการได้
ผลข้างเคียงที่มีอาการรุนแรง
กรณีนี้เป็นกรณีที่ได้น้อย แต่หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- อาการแพ้อย่างรุนแรง จะเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนประมาณ 2–3 ชั่วโมง โดยจะมีอาการได้ดังต่อไปนี้ เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง
- กลุ่มอาการกิลแลง–บาร์เร หรือกลุ่มอาการจีบีเอส (Guillain–Barré Syndrome หรือ GBS) เป็นอาการที่พบได้น้อย โดยจะมีอาการทางระบบประสาททำให้ร่างกายอ่อนแอหรือเป็นอัมพาตทั่วร่างกาย ส่วนมากจะเกิดขึ้นกับคนที่เคยพบประวัติเกี่ยวกับกลุ่มอาการกิลแลง–บาร์เร มาก่อน