คนในครอบครัวเป็นวัณโรค ควรดูแลตนเองและครอบครัวอย่างไร

วัณโรค (Tuberculosis: TB) เป็นโรคร้ายแรงที่สามารถติดต่อไปสู่คนอื่นได้ผ่านการหายใจร่วมกัน หรือการสัมผัสกับละอองฝอยของเสมหะและน้ำมูกที่ฟุ้งกระจายขณะไอ จาม และพูดคุย ผู้ป่วยวัณโรคมักมีอาการเป็นไข้ ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด น้ำหนักลงโดยไม่ทราบสาเหตุ และอีกหลายอาการ หากผู้ป่วยวัณโรคไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

ผู้ป่วยวัณโรคจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างถูกต้องและดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาอาการ ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เพิ่มโอกาสในการรักษาและคุณภาพชีวิต ลดการแพร่กระจายเชื้อสู่คนอื่น โดยเฉพาะคนที่อาศัยในบ้านเดียวกับผู้ป่วย บทความนี้ได้รวบรวมวิธีในการดูแลผู้ป่วยวัณโรคและวิธีสังเกตสัญญาณอันตรายมาให้ได้อ่านกัน

วัณโรค: ควรดูแลตนเองและครอบครัวอย่างไรเมื่อป่วย

สมาชิกครอบครัวป่วยเป็นวัณโรค ควรดูแลอย่างไร

แม้จะเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรง แต่วัณโรคสามารถควบคุมอาการและลดการส่งต่อเชื้อได้ โดยวิธีที่สมาชิกในบ้านและตัวผู้ป่วยสามารถทำได้มีดังนี้

1. ใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ

หากตรวจพบวัณโรคระยะแสดงอาการ (Active TB) ผู้ป่วยต้องเข้ารับรักษาทันที โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะให้ผู้ป่วยใช้ติดต่อกันราว 6–9 เดือน บางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะนานถึง 12 เดือน เพื่อกดการทำงานของเชื้อโรคและควบคุมอาการไม่ให้รุนแรง ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดเสมอ 

ภายหลังจากใช้ยาไปสักระยะ ผู้ป่วยบางคนอาจรู้สึกดีขึ้นหรือไม่พบอาการผิดปกติ แต่ยังจำเป็นต้องใช้ยาต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนด เพราะเชื้อโรคเพียงแค่อ่อนแอลงและไม่แสดงอาการเท่านั้น

หากหยุดใช้ยาก่อนกำหนดโดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาการของโรคจะกลับมาและอาจรุนแรงกว่าครั้งแรก บางคนอาจเกิดอาการดื้อยาทำให้ต้องเปลี่ยนชนิดของยาปฏิชีวนะ โดยอาจเป็นยาที่ออกฤทธิ์แรงขึ้น ผลข้างเคียงมากขึ้น และราคาที่สูงขึ้นด้วย จึงควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเสมอ

ผู้ป่วยควรตั้งนาฬิกาปลุกหรือจดข้อความเพื่อช่วยเตือนเวลากินยาสามารถช่วยให้กินยาได้ตรงเวลาและสม่ำเสมอมากขึ้น หากผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ ลูกหลานหรือผู้ดูแลควรใส่ใจในรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาเพื่อเตือนให้ผู้ป่วยกินยาให้ตรงเวลา เพื่อให้ได้ผลดี ควรกินยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน

ผู้ป่วยบางรายอาจมีเชื้อวัณโรคอยู่ในร่างกายแต่ไม่แสดงอาการ ทางการแพทย์เรียกว่า วัณโรคระยะแฝง (Latent TB) ผู้ป่วยวัณโรคระยะแฝงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีอาการเจ็บป่วยให้เห็น และไม่สามารถส่งต่อเชื้อได้

สาเหตุอาจมาจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองได้เชื้อได้ดี แต่แพทย์ยังแนะนำให้ผู้ป่วยวัณโรคระยะแฝงใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อกดเชื้อไว้เช่นเดียวกัน เพราะระบบภูมิคุ้มกันอาจอ่อนแอลงด้วยสาเหตุบางอย่างจนอาจกลายเป็นวัณโรคระยะแสดงอาการได้

2. อยู่บ้าน

หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นวัณโรค โดยเฉพาะวัณโรคระยะแสดงอาการในช่วงแรก ผู้ป่วยควรอยู่ภายในที่พักอาศัย เนื่องจากละอองฝอยจากการไอจามอาจกระจายและเกาะตามพื้นผิวสิ่งของ เมื่อคนอื่นมาจับแล้วนำไปสัมผัสบริเวณใบหน้า ดวงตา หรือหยิบอาหารเข้าปากก็อาจได้รับเชื้อได้

ขณะอยู่ภายในที่พักอาศัย ควรเพิ่มการไหลเวียนของอากาศภายในที่พักเพื่อป้องกันไม่ให้ละอองสารคัดหลั่งฟุ้งในอากาศ โดยอาจใช้วิธีเปิดประตู หน้าต่าง เครื่องดูดอากาศ และเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อของคนที่พักอาศัยอยู่ร่วมกันด้วย นอกจากนี้ ควรแยกห้องสำหรับผู้ป่วยหรือหาพื้นที่เฉพาะให้ผู้ป่วยพักอาศัย เพราะการหายใจในพื้นที่เดียวกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยอาจทำให้ติดเชื้อได้

3. หมั่นทำความสะอาดบ้าน

เนื่องจากอาการหลักของวัณโรคคืออาการไอ หากไม่ได้ปิดปากด้วยกระดาษทิชชู ผ้าปิดปาก หรือหน้ากากอนามัยก็อาจทำให้ละอองของสารคัดหลั่งไปติดอยู่บนเฟอร์นิเจอร์หรือข้าวของเครื่องใช้ หากคนอื่นหยิบจับสิ่งของก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ดังนั้น การทำความสะอาดบ้าน ห้องนอน ห้องน้ำ และข้าวของเครื่องใช้เป็นประจำทุกวันจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อ

การทำความสะอาดควรเลือกใช้สารทำความสะอาดที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเพื่อกำจัดเชื้อบนพื้นผิวสิ่งของ คนที่รับหน้าที่ทำความสะอาดควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ และสวมถุงมือขณะทำความสะอาดเพราะน้ำยาที่มีสารฆ่าเชื้ออาจระคายเคืองผิว

ผู้ป่วยและผู้ที่พักอาศัยในที่เดียวกันควรหมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อย ๆ ฟอกสบู่อย่างน้อย 20 วินาทีต่อครั้ง หรืออาจใช้เจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นเหมาะสมเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนบนมือ โดยควรล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสของใช้ของผู้ป่วย หลังเข้าห้องน้ำ หลังไอจาม และก่อนกินอาหาร

อาการไอเป็นอาการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ดูแลและตัวผู้ป่วยเอง ควรเตรียมผ้าสำหรับปิดปากปิดจมูกสำหรับใช้ขณะไอ และนำผ้าปิดปากทำความสะอาดด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ หรือซักด้วยน้ำยาทำความสะอาดและนำไปผ่านความร้อน

4. เตรียมอุปกรณ์ป้องกัน

ผู้ป่วยวัณโรคและสมาชิกในบ้านที่อาศัยอยู่ร่วมกันควรดูแลตนเองเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากพบว่าสมาชิกภายในบ้านติดเชื้อ ควรเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัยที่ใช้ในทางการแพทย์ ถุงมือยางสำหรับใช้แล้วทิ้ง น้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับทำความสะอาด และแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ เป็นต้น

5. ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวัคซีน

แม้ว่าวัณโรคจะเป็นการเจ็บป่วยที่รุนแรง แต่ปัจจุบันทุกโรงพยาบาลจะฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG: Bacillus Calmette-Guérin) หรือวัคซีนวัณโรคให้กับเด็กเกิดใหม่ทุกคนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคได้ 

หากไม่แน่ใจว่าเคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือต้องเข้าไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อเชื้อวัณโรคสูง หรือคนในบ้านเป็นผู้ป่วยวัณโรคชนิดดื้อยา ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับวัคซีนเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม แม้จะฉีดวัคซีนก็ยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออยู่ คนในครอบครัวจึงยังจำเป็นต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเหมาะสม

6. ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี

นอกจากการรักษาด้วยยาและการติดตามอาการจากแพทย์แล้ว ผู้ป่วยวัณโรคควรปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เพราะโรคนี้สามารถถูกกระตุ้นได้จากหลายปัจจัย การดูแลสุขภาพจึงไม่เพียงช่วยให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรงขึ้น แต่ยังอาจลดความรุนแรงของโรคได้ด้วย ซึ่งมีหลายวิธีที่ผู้ป่วยวัณโรคทำได้ เช่น

  • กินอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลายและครบ 5 หมู่
  • ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน
  • ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสม
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่และมลพิษทางอากาศ
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับการดูแลตนเองที่ถูกต้อง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ซึ่งจะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น

ผลข้างเคียงจากยาวัณโรคที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ป่วยวัณโรค ทั้งในระยะแสดงอาการและระยะแฝงที่อยู่ระหว่างการใช้ยา อาจพบกับผลข้างเคียงร้ายแรงจากการใช้ยาหรืออาจเกิดจากเชื้อดื้อยาจนอาจเป็นอันตรายได้ จึงควรไปพบแพทย์ทันทีหากพบอาการต่อไปนี้

  • มีไข้สูง หรือมีไข้ติดต่อกันเกิน 3 วัน
  • ปวดท้องน้อย
  • นอนไม่หลับ นอนน้อย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • ปัสสาวะสีเข้มคล้ายโคล่า
  • เป็นเหน็บ ชา หรือรู้สึกยิบ ๆ ตามร่างกาย โดยเฉพาะมือ เท้า และรอบปาก
  • ตาพร่า ตามัว หรือการมองเห็นเปลี่ยนไป
  • ได้ยินเสียงในหู ได้ยินเสียงเบาลง หรือไม่ได้ยินเสียง

อาการเหล่านี้อาจเป็นผลข้างเคียงอันตรายจากยาที่พบได้น้อยและอาจพบในบางราย หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอื่น ๆ ก็ควรไปพบแพทย์ด้วยเช่นกัน แม้วัณโรคจะเป็นโรคร้ายแรง แต่สามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ยาจากแพทย์ ร่วมกับการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม หากสมาชิกในบ้านเป็นวัณโรค หรืออาศัยในพื้นที่ที่วัณโรคระบาด ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ

สำหรับผู้ป่วยวัณโรคที่กำลังรักษาตัวอาจรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับอาการของตนเอง อีกทั้งคนในบ้านอาจจำเป็นต้องเตรียมตัวและปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ ควรทำความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งช่วยให้ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวได้อยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย