วิตามิน อี

วิตามิน อี

วิตามิน อี (Vitamin E) หรือแอลฟา โทโคฟีรอล (Tocopherol) เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายและเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายได้ดีในไขมัน ซึ่งร่างกายสามารถดึงมาใช้ได้เมื่อมีความจำเป็น โดยวิตามิน อี จะพบได้ในอาหารหลากหลายชนิด เช่น ถั่ว เมล็ดพันธุ์ ผักใบเขียว ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ จมูกข้าวสาลี ขนมปังโฮลวีต ซีเรียลชนิดโฮลเกรน ถั่วเหลือง น้ำมันพืช น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเมล็ดฝ้าย น้ำมันข้าวโพดถั่ว เมล็ดทานตะวัน เมล็ดมะม่วงหิมพานต์กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว ผักใบเขียว ผักขม อะโวคาโด (เฉพาะเนื้อ) และปวยเล้ง

นอกจากนั้น วิตามิน อี ยังมีในรูปของอาหารเสริม ซึ่งมักนำมาใช้กับผู้ที่มีปัญหาการขาดวิตามิน อี เช่น เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย กล้ามเนื้อฝ่อ โรคโลหิตจาง และโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ หรือนำมาใช้ป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคเลือดไร้บีตาลิโพโปรตีน (Abetalipoproteinaemia) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารและไขมันได้ และโรคซีสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)

Vitamin E

ดยมีโรคที่พิสูจน์แล้วว่า วิตามิน อี ช่วยรักษาและเห็นผลชัดเจน คือ

  • อาการเซ (Ataxia) ที่เกี่ยวข้องกับการขาดวิตามิน อี ซึ่งการบริโภควิตามิน อี เสริม เป็นส่วนประกอบหนึ่งของการรักษา
  • การขาดวิตามิน อี โดยการบริโภควิตามิน อี จะช่วยป้องกันและรักษาการขาดวิตามิน อี ได้

รวมไปถึงอาจให้ประโยชน์อื่น ๆ  เช่น

  • ชะลอการสูญเสียความทรงจำในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่มีความรุนแรงปานกลาง
  • รับประทานวิตามิน อี ขนาด 200 IU ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี ขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตที่เกิดจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้
  • จากการวิจัยพบว่าผู้ชายที่บริโภควิตามิน อี และวิตามิน ซี มีโอกาสน้อยลงในการเกิดโรคสมองเสื่อมหลายชนิด แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าวิตามินดังกล่าวไม่มีผลในการช่วยลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมที่มาจากโรคอัลไซเมอร์ได้
  • พบว่าการบริโภควิตามิน อี เสริมในมื้ออาหาร มีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพร่างกายและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่บริโภควิตามิน อี เสริมไปกับการรักษาพื้นฐาน พบว่าได้ผลดีในการช่วยลดอาการเจ็บปวด ซึ่งได้ผลดีกว่าการรักษาปกติ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถช่วยลดอาการบวมได้
  • การรับประทานวิตามิน อี อาจมีส่วนช่วยลดความวิตกกังวล ความกระหาย และภาวะซึมเศร้าในผู้หญิงที่มีกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนหรือพีเอ็มเอส (Premenstrual Syndrome: PMS)

อย่างไรก็ตาม วิตามิน อี มีข้อห้ามใช้และอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้

เกี่ยวกับวิตามิน อี

กลุ่มยา วิตามิน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อใช้เอง
สรรพคุณ ป้องกันและรักษาการขาดวิตามิน อี
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยาแคปซูลชนิดนิ่ม

คำเตือนของการรับประทานวิตามิน อี

  • ควรหลีกเลี่ยงใช้วิตามินอี หรือควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ หากเคยมีประวัติแพ้วิตามิน อี หรือมีประวัติแพ้ยาอื่น ๆ
  • ก่อนใช้วิตามิน อี ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากกำลังใช้ยาอื่น ๆ ได้แก่ ยาที่สั่งจายโดยแพทย์ ยาที่ซื้อใช้เอง วิตามินและสมุนไพร เพราะตัวยาอาจมีปฏิกิริยาต่อกันและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้
  • วิตามิน อี มีแนวโน้มที่จะไม่ปลอดภัยหากบริโภคในปริมาณมากเกินไป หากมีภาวะ เช่น โรคหัวใจหรือเบาหวาน ห้ามบริโภคเกินวันละ 400 IU เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
  • มีการวิจัยระบุว่าการบริโภควิตามิน อี วันละ 300-800 IU อาจเพิ่มความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 22 เปอร์เซนต์ในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) แต่อย่างไรก็ตาม วิตามิน อี ก็มีส่วนช่วยลดโอกาสเกิดโรคสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) ได้
  • มีข้อมูลที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับผลจากการใช้วิตามิน อี เกี่ยวกับการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งมีบางการวิจัยระบุว่า การบริโภควิตามินรวมเสริมด้วยวิตามิน อี อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในบางราย
  • การบริโภควิตามิน อี ในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดบีบท้อง อ่อนเพลีย อ่อนแรง ปวดศีรษะ มองเห็นไม่ชัด ผื่นคันและเกิดรอยช้ำหรือเลือดออกง่าย
  • ผู้ที่มีภาวะหรือโรคประจำตัวใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เช่น ภาวะโลหิตจาง มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด มีระดับวิตามินเคต่ำ โรคตับ โรคไต โรคภูมิแพ้ใด ๆ โรคตาบอดในตอนกลางคืนหรือสูญเสียการมองเห็นชนิดอาร์พี (Retinitis Pigmentosa) มีคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือเกิดลิ่มเลือด หรือมีประวัติเคยเป็นมะเร็ง
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หรือดื่มเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และสูบบุหรี่เป็นประจำ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้
  • ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัดหรือเพิ่งได้รับการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้วิตามิน อี อยู่
  • ยาอื่น ๆ ที่อาจทำปฏิกิริยาต่อวิตามิน อี เช่น ยาคอเลสไทรามีน (Cholestyramine) น้ำมันมิเนรัล ออย ยารักษาโรคอ้วน (Orlistat) ยาวาร์ฟาริน (Warfarin)

ปริมาณการใช้วิตามิน อี

ปริมาณที่แนะนำโดยทั่วไปทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ คือ

  • อายุ 1-6 เดือน รับประทาน 4 IU ต่อวัน
  • อายุ 6-12 เดือน รับประทาน 5 IU ต่อวัน
  • อายุ 1-3 ปี รับประทาน 6 IU ต่อวัน
  • อายุ 4-8 ปี รับประทาน 7 IU ต่อวัน
  • อายุ 9-13 ปี รับประทาน 11 IU ต่อวัน
  • อาย 13 ปี ขึ้นไป รับประทาน 15 IU ต่อวัน

การขาดวิตามิน อี (Vitamin E Deficiency)

ผู้ใหญ่ รับประทาน 40-50 มิลลิกรัมต่อวัน
เด็ก ทารกแรกเกิด รับประทาน 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) วันละครั้ง และเด็กอายุ 1 เดือน - 18 ปี รับประทาน 2-10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ต่อวัน สูงสุด 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม)

โรคเลือดไร้บีตาลิโพโปรตีน (Abetalipoproteinaemia)

ผู้ใหญ่ วิตามินอีอะซิเตท (DL-Alpha Tocopheryl Acetate) รับประทาน 50-100 IU ต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ต่อวัน หรือวิตามินอี (D-Alpha-Tocopherol) รับประทาน 33-67 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม)ต่อวัน
เด็ก ทารกแรกเกิด รับประทาน 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) วันละครั้ง และเด็กอายุ 1 เดือน - 18 ปี รับประทาน 50-100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) วันละครั้ง

โรคซีสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis)

ผู้ใหญ่ วิตามินอีอะซิเตท (DL-Alpha Tocopheryl Acetate) รับประทาน 100-200 IU  ต่อวัน หรือวิตามินอี (D-Alpha-Tocopherol) รับประทาน 67-135 มิลลิกรัมต่อวัน
เด็ก วิตามินอีอะซิเตท (DL-Alpha Tocopheryl Acetate) เด็กอายุ 1 เดือน-1 ปี รับประทาน 50 IU  วันละครั้ง เด็กอายุ 1-12 ปี รับประทาน 100 IU วันละครั้ง เด็กอายุ 12-18 ปี  รับประทาน 200 IU  วันละครั้ง ขนาดการใช้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหากมีความจำเป็น

*ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

การใช้วิตามิน อี

ควรใช้วิตามิน อี ตามฉลากหรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากกว่าหรือน้อยกว่า และติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสชักร

  • ควรรับประทานพร้อมอาหาร โดยกลืนทั้งเม็ด ห้ามบด หัก หรือเคี้ยว
  • หากเป็นวิตามินชนิดน้ำ ควรวัดปริมาณด้วยไซริงค์ที่เตรียมไว้โดยเฉพาะ หรือสามารถวัดปริมาณด้วยช้อนตวงยาหรือถ้วยยา หากไม่มีอุปกรณ์สำหรับวัดตวงยา สอบถามกับแพทย์และเภสัชกรได้
  • สารให้ความหวานในวิตามินชนิดน้ำอาจมีฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคฟินิลคีโทนูเรีย (Phenylketonuria) ควรหลีกเลี่ยงและอ่านฉลากยาอย่างละเอียดก่อนใช้
  • ในกรณีที่ลืมรับประทานตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ หรือหากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานครั้งต่อไปก็ข้ามไปรับประทานได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า และหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสงแดดและความชื้น หากยาหมดอายุให้ทิ้งทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้วิตามิน อี

ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหรือขอความช่วยเหลือโดยเร็ว หากพบว่ามีอาการแพ้วิตามิน อี ได้แก่ ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวมและคอบวม

หากมีอาการไม่พึงประสงค์อาการใดอาการหนึ่งต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือมีการมองเห็นที่เปลี่ยนแปลงไป
  • มีอาการอ่อนเพลียผิดปกติ หรือรู้สึกเหนื่อย
  • รู้สึกหวิว คล้ายจะเป็นลม
  • ท้องเสีย หรือปวดบีบท้อง
  • เกิดรอยช้ำหรือมีเลือดไหลได้ง่าย เช่น เลือดกำเดาไหล หรือเหงือกเลือดออก

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ รู้สึกเหนื่อย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ผื่นคัน นอกจากนั้น อาจมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ นอกเหนือจากอาการข้างต้นที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที